บทสรุปผู้บริหาร
ผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาชุมชนและเครือข่ายชุมชนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
โครงการพัฒนาชุมชนและเครือข่ายชุมชนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ “โครงการภูมิชุมชน” เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี ตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2561 จนถึงเดือนมีนาคม 2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและเครือข่ายชุมชน สร้างต้นแบบ กระบวนการทำงานพัฒนาที่เน้นชุมชนเป็นศูนย์กลาง น้อมนำศาสตร์พระราชา หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเอง จัดการตนเองได้ พร้อมยกระดับชุมชนที่มีความพร้อมสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีจุดเด่นตามประเด็นงานพัฒนาของแต่ละพื้นที่ โดยมุ่งหวังว่าในอนาคตจะตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนา ที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals 2030 – SDGs) นอกจากนี้ยังมุ่งพัฒนาบุคลกรของ กฟผ. ให้มีขีดความสามารถในการทำงานพัฒนาชุมชนแบบมืออาชีพ และสามารถต่อยอดงาน CSR ของ กฟผ. ให้เกิด ผลกระทบเชิงบวกต่อการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติ
โครงการฯ มีพื้นที่นำร่องใน 4 ภูมิภาค ซึ่งเป็นชุมชนใกล้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า และชุมชนที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน แต่ละพื้นที่จะมีเป้าหมายและวิธีการขับเคลื่อนงานพัฒนาที่แตกต่างกันไป ขึ้นกับบริบทของแต่ละชุมชน โดยมีเครือข่ายชุมชนในบริเวณใกล้เคียง หน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาร่วมเป็นเครือข่ายการทำงานพัฒนาด้วย สรุปผลงาน 3 ปี ได้ดังนี้
ภาคเหนือ
เน้นการผลิตพืชอาหารอินทรีย์ สนับสนุนให้เกษตรกรมีกลุ่มที่เข้มแข็ง มีข้าวและผักที่ปลอดภัยเพื่อบริโภคและจำหน่าย ฝึกฝนให้เป็นผู้ประกอบการที่ดี กลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านนาขุม ตำบลท่าช้าง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก มีสมาชิก 14 ราย มีข้าวอินทรีย์ไว้บริโภคเพียงพอและเหลือจำหน่ายได้บ้าง สมาชิกมีรายได้เพิ่มจากการขายผักอินทรีย์ในตลาดชุมชน มีผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์และพริกแกง/น้ำพริกขายภายใต้แบรนด์ “คิดเช่นอินทรีย์ – organic kitchen” มีคนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกหลานของสมาชิกมาช่วยทำตลาดออนไลน์ และทดลองทำตลาดสมาชิกกินข้าวแบบรายเดือน (ตลาดแบ่งปัน Community supported agriculture -CSA) ส่งข้าวให้ผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีการสร้างมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วมเป็นของกลุ่มเอง และเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายระบบรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) ในจังหวัดพิษณุโลก นอกจากนี้ สมาชิกกลุ่มยังรื้อฟื้นวัฒนธรรมลงแขกทำนาที่หายไปนานเกือบ 40 ปีในชุมชน และสร้างวัฒนธรรมการแบ่งปันให้คนทุกข์ยาก ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ได้มอบข้าว/ผักอินทรีย์ให้กับคนที่เดือดร้อนในชุมชน เกิดเป็นแนวทางการทำกิจกรรมในรูปแบบใหม่ๆ ที่สร้างความเกื้อกูลแก่ชุมชน และสังคม ให้ฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ (อปน.)
ผลการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เป็นเรื่องของการทำเกษตรอินทรีย์ โดยใช้แปลงเกษตรของสมาชิกกลุ่มเป็นฐานการเรียนรู้ มีการสร้างความร่วมมือกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านนาขุม จัดอบรมให้ความรู้เรื่องปลูกผักอินทรีย์กับการดูแลสุขภาพให้แก่ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในพื้นที่ และยังได้ภาคีสนับสนุนเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ เกิดการทำงานวิจัยพัฒนาดินร่วมกับเครือข่ายสองแควออร์แกนิค จังหวัดพิษณุโลก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เน้นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ (น้ำและป่าชุมชน) โดยใช้พลังชุมชนและเครือข่ายเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก สร้างแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยระดับท้องถิ่น มีรูปธรรมการจัดการน้ำที่เหมาะสมกับภูมิประเทศ ภูมิสังคม 4 รูปแบบ ได้แก่ ระบบผันน้ำจากลำน้ำบ้านดงบัง ตำบลดงเมืองแอม อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น ระบบกระจายน้ำเพื่อดูแลป่าชุมชนและแปลงผักปลอดภัยบ้านทุ่งบ่อ ตำบลดงเมืองแอม อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น ระบบกระจายน้ำให้แปลงผักอินทรีย์ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บ้านห้วยยาง ตำบลดงเมืองแอม อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น และระบบน้ำผิวดิน (ฝายเก็บน้ำ) เพื่อการดูแลป่าชุมชนบ้านโคกศรี ตำบลนาดี อำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี ทั้ง 4 ชุมชนได้รวมกันเป็นเครือข่ายการจัดการน้ำ และมีอำเภอเขาสวนกวางร่วมสนับสนุน เพื่อสร้างต้นแบบการจัดการน้ำแล้งของอำเภอ
โครงการฯ ส่งเสริมให้เกิดป่าชุมชน 4 แห่ง ที่เกิดจากการฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมถูกบุกรุกจากนายทุน 23 ไร่ (ณ บ้านห้วยยาง) การสร้างป่าใหม่ในพื้นที่สาธารณะบนดินไม่เหมาะสม 10 ไร่ (บ้านทุ่งบ่อ) การปรับปรุงป่าชุมชนบ้านโคกศรี จนเกิดวันสิ่งแวดล้อมของชุมชนเอง (ไม่ตรงกับวันสิ่งแวดล้อมโลก เพราะไม่เหมาะกับเงื่อนไขในท้องถิ่น) จัดกิจกรรมปลูกป่าทุกปี เพื่อสร้างสำนึกในการฟื้นฟูดูแลป่า 309 ไร่ และการสร้างป่าเดิมและป่าปลูกใหม่ รวม 1,013 ไร่ ที่บ้านนางิ้วนาโพธิ์ เพื่อให้มีความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้เกิดผลิตผลจากป่าเป็นจำนวนมาก (เห็ด) เป็นแหล่งอาหารให้คนในท้องถิ่น มีคณะศึกษาดูงานจากในประเทศและต่างประเทศเข้ามาเรียนรู้ ผลงานเชิงประจักษ์ทำให้ทางอำเภอเขาสวนกวาง พร้อมให้การหนุนเสริมกับชุมชนเครือข่ายผ่านชุมชน ผลักดันนโยบายในการจัดการไฟป่า
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย 3 แห่ง ได้แก่ บ้านห้วยยาง บ้านโคกศรี บ้านทุ่งบ่อ และมีแปลงนาปลอดสารพิษ 1 แห่ง ณ บ้านหนองแวงเรือ ตำบลดงเมืองแอม อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น สมาชิกชุมชนที่เข้าร่วมมีข้าวและผักบริโภคอย่างเพียงพอ รายจ่ายลดลง รายได้เพิ่มมากขึ้น เกิดต้นแบบ Food bank ระดับอำเภอที่บ้านห้วยยาง และได้รับการสนับสนุนโยบายท้องถิ่นด้านอาหารปลอดภัยจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่
ผลการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เกิดการพัฒนาพื้นที่ 2 แห่ง คือ เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนชุมชนบ้านห้วยยาง มีฐานการเรียนรู้ (การจัดการน้ำ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร การจัดการป่า/สมุนไพร เศรษฐกิจพอเพียง และการทำผลิตภัณฑ์ชุมชน) มีวิทยากรชาวบ้าน มีหลักสูตรอบรม มีคนมาดูงานแล้วไม่ต่ำกว่า 500 คน และเรื่องการจัดการป่าชุมชนอย่างยั่งยืนบ้านนางิ้วนาโพธิ์ มีคนมาดูงานแล้วไม่ต่ำกว่า 300 คน ทำให้เกิดความร่วมมือกับส่วนงานราชการระดับอำเภอ เข้ามาเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาหรือจัดกิจกรรมในแหล่งเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
ภาคใต้
เน้นการสร้างสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีด้วยสมุนไพร อาหารปลอดภัย และภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน โดยเน้นทำงานกับผู้สูงอายุ เปลี่ยนจาก “ภาระ” ให้เป็น “พลัง” ของชุมชน ในพื้นที่ตำบลย่านซื่อและตำบลควนโดน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล เกิดครัวเรือนผู้สูงอายุปลูกผักยกแคร่ไว้บริโภคและจำหน่าย มีระบบการปลูกขมิ้นชันที่ได้มาตรฐานไว้ใช้ทำยาสมุนไพรที่มีคุณภาพเพื่อผู้ป่วย เกิดวิสาหกิจชุมชนรวมใจผู้ปลูกสมุนไพรและแปรรูปสมุนไพรควนโดน มีสมาชิก 43 ราย และมีแปลงต้นแบบที่ได้มาตรฐานทางยาหรือค่าเคอร์คิวมินอยด์ (curcuminoid) สูงถึง 10.3 สูงที่สุดในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชน สร้างกองทุนแคร่ปลูกผักเพื่อจัดสวัสดิการให้ครัวเรือนกลุ่มคนเปราะบางในชุมชน และพัฒนา “ถนนสายสุขภาพ” ให้คนทุกกลุ่มวัยมีพื้นที่ออกกำลังกาย ได้เรียนรู้เรื่องการปลูกผักยกแคร่ และการปลูกสมุนไพร ผลสำเร็จดังกล่าวยังได้ขยายไปสู่พื้นที่ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ให้เข้าเป็นเครือข่ายในการพัฒนางานร่วมกัน
ผลงานในพื้นที่ตำบลสะพานไม้แก่น อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เกิดโครงการพัฒนาระบบแพทย์ ทางร่วมเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานด้วยตำรับยาสมุนไพร ร่วมกับหมอพื้นบ้าน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสะพานไม้แก่น โรงพยาบาลอำเภอจะนะ และสาธารณสุขอำเภอจะนะ ผลการทดลองยา 2 รอบ ทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานในพื้นที่ไม่เพิ่มขึ้น 21 คน และผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน 10 คน ไม่ต้องกินยาแผนปัจจุบัน ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและยอมรับองค์ความรู้ของหมอพื้นบ้านมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเกิดกลุ่มผู้สูงอายุภูมิชุมชน มีสมาชิก 17 ราย ขับเคลื่อนงานดูแลสุขภาพโดยใช้สมุนไพรทำผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน ไว้ใช้เองและจำหน่ายสร้างรายได้
โครงการฯ ได้สร้างแหล่งเรียนรู้บ้านเขาน้อย ตำบลย่านซื่อ อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล ที่สามารถถ่ายทอดเรื่องเกษตรระบบครอบครัวบนถนนสายสุขภาพ มีวิทยากรชาวบ้าน มีฐานการเรียนรู้ และมีหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการผักยกแคร่ 5 หลักสูตร (ปรุงดิน ดูแลรักษา แก้ปัญหาโรคผัก ระบบน้ำ และเมล็ดพันธุ์) มีคนมาดูงาน อบรมรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 500 คน ในส่วนของ รพ.สต. สะพานไม้แก่น กลายเป็นแหล่งดูงานให้หน่วยงานสาธารณสุขที่สนใจเรื่องระบบแพทย์ทางร่วม เพื่อขยายงานไปสู่ระดับอำเภอ รวมทั้งทุกพื้นที่ยังมีหน่วยงานตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับจังหวัด เข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายสนับสนุนงานพัฒนา และบางแห่งได้บรรจุงานของชุมชนในแผนพัฒนาท้องถิ่นด้วย
ภาคตะวันออก
เน้นงานจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแม่น้ำ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน เกิดกลุ่มวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นกล้าป่ายเลนชุนชนคลองหัวจาก ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงทรา มีสมาชิก 20 ราย ทำหน้าที่เป็นแกนนำขับเคลื่อนงานพัฒนาในชุมชน มีการพัฒนาอาชีพ ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (กล้าไม้ป่าชายเลน ตะกร้าใบจาก ชาสามสหาย และปูแสมเค็ม) ช่วยสร้างรายได้เสริม คนในชุมชนมีอาชีพใหม่ที่มั่นคงมากขึ้น และยังได้แบ่งปันเงินรายได้เข้ากองทุนเพื่อส่วนรวม สร้างสวัสดิการให้คนในกลุ่มและเป็นกองทุนอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียนโรงเรียนพระพิมลเสนี (พร้อม หงสกุล) รวมทั้งได้ภาคีในการพัฒนาปลูกป่าชายเลนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งในพื้นที่ป่าชายเลนของโรงเรียน และป่าชายเลนของศูนย์ฝึกอบรมบางปะกง
ผลการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนรอบโรงไฟฟ้า 3 กลุ่ม ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนบ้านปลาธนาคารปู ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงทรา มีโปรแกรมการท่องเที่ยวในรูปแบบ CSR Tourism ที่สร้างมูลค่า-คุณค่าเหมาะสมกับทรัพยากรท้องถิ่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนภูมิปัญญาพื้นบ้านธารสายชล ตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนภูมิปัญญาพื้นบ้านคลองตำหรุ ตำบลคลองตำหรุ อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี มีหน่วยงานภาคีเข้ามาพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น อาหาร และสมุนไพร
แหล่งเรียนรู้พื้นป่าชายเลนในโรงเรียนพระพิมลเสนีฯ เพิ่งเริ่มก่อโครงร่าง เพราะภาคนี้เริ่มงานช้ากว่าภาคอื่นๆ ถึง 3 ปี ขณะนี้อยู่ในระหว่างการออกแบบการใช้พื้นที่ การสร้างหลักสูตรอบรมเชิงสร้างสรรค์ที่เน้นสร้างการเรียนรู้ให้แก่เด็กนักเรียนทั้งจากภายในและภายนอกชุมชน ถึงแม้ยังไม่สบรูณ์แต่มีผู้มาศึกษาดูงาน รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 200 คน อีกทั้งยังกลายเป็นพื้นที่ทำกิจกรรม CSR ของโรงงาน เพื่อร่วมกันพัฒนาแหล่งเรียนรู้กับโรงเรียนอีกด้วย
นอกจากการพัฒนาพื้นที่ใน 4 ภูมิภาคแล้ว โครงการฯ ได้มีการดำเนินงานอีก 3 ด้าน ที่ช่วยหนุนเสริมการทำงานในพื้นที่ และงานของ กฟผ. สรุปผลได้ดังนี้
การพัฒนาบุคลากร กฟผ.
โครงการฯ ได้ส่งเสริมทักษะการทำงานกับชุมชนให้แก่คณะทำงานของ กฟผ. จากส่วนกลางและภูมิภาคผ่านกิจกรรมหลายรูปแบบ ทั้งการอบรม สัมมนา เยี่ยมพื้นที่ การประชุมเชิงปฏิบัติการประจำปีเพื่อถอดบทเรียนการทำงานร่วมกันและวางแผนงานในปีถัดไป รวมทั้งพาไปศึกษาดูงานชุมชนต้นแบบที่มีผลงานพัฒนาชุมชนที่โดดเด่น นอกจากนี้ ยังได้จัดอบรมเรื่องการประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (Social Return on Investment: SROI) ให้แก่บุคลากร กฟผ. 155 คน
การจัดการความรู้
และเผยแพร่ความรู้
องค์ความรู้ที่ได้จากงานพัฒนาในชุมชนหลายชิ้น ได้ถูกแปลงเป็นเอกสารเผยแพร่ คู่มือ แนวทางการปฏิบัติไว้ใช้ในแหล่งเรียนรู้ของแต่ละภาค ไปนำเสนอในเวทีวิชาการภายในประเทศ รวมทั้งได้ส่งผู้นำชุมชนร่วมงานวิชาการที่ประเทศเนปาล เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการทำงานระดับสากล นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้สร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 เพื่อเป็นช่องทางในการนำเสนอผลงานหรือเผยแพร่บทเรียนที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
การพัฒนายุทธศาสตร์ CSR
มีการสร้างการเรียนรู้ให้บุคลากร กฟผ. เข้าใจเรื่องการประเมินผลโครงการด้วยเครื่องมือ SROI ผ่านการเรียนรู้ข้อมูลจริงและลงพื้นที่โครงการใน 4 ภูมิภาค และในปี 2564 กฟผ. ได้มีนโยบายประเมินค่า SROI กับหลายๆ โครงการด้วย
โครงการฯ ได้มอบหมายให้หน่วยงานภายนอกทำการประเมินผลตอบแทนทางสังคมในภาพรวม ทั้ง 4 พื้นที่ อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนที่เป็นค่าตัวเลขยังไม่สมบูรณ์นัก เนื่องจากใช้ผลจากการทำงาน 2 ปีกว่า และงานบางอย่างที่ทำไม่สามารถตีราคาได้ ได้แต่ประเมิน Social Impact Assessment (SIA) และทราบว่าผลลัพธ์ที่ได้มีคุณค่า และส่งผลกระทบต่อสังคม ในขณะที่ส่งรายงานฉบับนี้ ผู้ประเมินผลยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบความคุ้มค่าของการลงทุน โดยผลการวิเคราะห์ในขั้นต้นแบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลา ได้แก่ (1) ผลตอบแทนหลังเสร็จสิ้นโครงการ พบว่า มีมูลค่า 3,987,792.00 บาท ค่า SROI เท่ากับ 0.33 จากดัชนี ชี้วัดความคุ้มค่าของการลงทุนในระยะต้น (ประเมินผลระหว่างเมษายน 2561 ถึง ธันวาคม 2563) ถือได้ว่ามีแนวโน้มเกิดความคุ้มค่าในการลงทุนแล้ว (ค่าตัวเลขไม่ติดลบ) และ (2) ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ระหว่างปี 2561-2570 มีมูลค่ามากถึง 103,937,666.50 บาท ค่า SROI เท่ากับ 5.37 ซึ่งถือว่ามีมูลค่าสูงมาก (ทั้งนี้ชุมชนต้องดำเนินงานต่อเนื่องจากที่เคยทำในอดีต) ดังรายละเอียดปรากฎในรายงานผลการประเมิน SROI ฉบับสมบูรณ์
ตลอดระยะเวลาของการดำเนินโครงการภูมิชุมชน แม้จะไม่มีจุดมุ่งหมายในการส่งผลงานเข้าประกวด หากแต่ผลสำเร็จของโครงการฯ ทำให้หลายชุมชนรวมทั้งองค์กร กฟผ. เองได้รับรางวัลต่างๆ อาทิ (1) กฟผ. ได้รับรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น (SOE Award) ประจำปี 2561 ด้านการดำเนินงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จากโครงการจัดการน้ำชุมชนบ้านห้วยยาง หมู่ 5 และ หมู่ 15 ตำบลดงเมืองแอม อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น (2) ป่าชุมชนบ้านนางิ้วนาโพธิ์ ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 19 ปี 2562 ได้รางวัลป่าชุมชนระดับจังหวัดขอนแก่น และได้รับคัดเลือกเป็นหมู่บ้าน/ชุมชนอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ดีเด่น ตามโครงการ “ธงพิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต” ปี 2562 (3) ชุมชนห้วยยางศรีวิไล หมู่ 15 ตำบลดงเมืองแอม อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง โครงการหมู่บ้านเข้มแข็งตามแนวทางแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง ปี 2563 เป็นต้น
ผลงานช่วง 3 ปี ของโครงการภูมิชุมชน จึงเปรียบเสมือนการสร้างรากฐานที่มั่นคงให้ชุมชน สร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายงานพัฒนา พร้อมสำหรับการขับเคลื่อนต่อเพื่อโยงไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ แหล่งเรียนรู้ที่เกิดขึ้นสามารถเป็นพื้นที่เผยแพร่บทเรียน ขยายผลองค์ความรู้ ไปสู่ชุมชนอื่นๆ นักศึกษา นักพัฒนา และหน่วยงานภายนอกทั้งในและภายนอกประเทศได้