CSD สัมพันธ์ ครั้งที่ 22 การประชุมวิชาการเครือข่ายพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นและสังคม ระดับชาติ งานประชุมที่รวบรวมกลุ่มนักพัฒนา ทั้งนักวิชาการ ครู อาจารย์ และนักศึกษา มาแลกเปลี่ยน เรียนรู้กันและกัน โดยในปีนี้จัดขึ้นภายในหัวข้อ : การยกระดับนวัตกรรมเชิงพื้นที่สู่ความยั่งยืน
จบไปแล้วกับการประชุมวิชาการเครือข่ายพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และสังคม ระดับชาติ (CSD) ครั้งที่ 22 โดยในปีนี้ได้จัดขึ้นที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (ศูนย์แม่ริม) ระหว่างวันที่ 31 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2567
ภายในงานมีกิจกรรมการสร้างเครือข่ายของคณาจารย์ นิสิตนักศึกษา พัฒนาชุมชน พัฒนาสังคม ทั่วประเทศ ที่ได้มีการจัดการเรียน การสอนด้านการพัฒนาชุมชน พัฒนาสังคม สังคมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี มณีโกศล รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เป็นประธาน และศาสตราจารย์ ดร.สัญญา ละลอง คณบดีคณะสังคมศาสตร์ เป็นผู้กล่าวรายงาน ว่าการประชุมครั้งนี้มีมหาวิทยาลัยที่สอนด้านการพัฒนาชุมชน พัฒนาสังคม จำนวน 39 แห่งจากทั่วทุกภูมิภาค และมีผู้เข้าร่วมกว่า1,000 คน ซึ่งได้ดำเนินการจัดโดยสมาคมพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและสังคม ร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชฎเชียงใหม่ และสถาบันการศึกษาเครือข่ายที่มีการจัดการเรียนการสอนต้านการพัฒนา ชุมชน พัฒนาสังคมทั่วประเทศ และหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพในการจัด ซึ่งการประชุมสัมมนาดังกล่าวนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีทางวิชาการของนักศึกษา คณาจารย์
กิจกรรมในงาน ประกอบด้วย
- การปาฐกถาพิเศษ รองศาสตาจารย์ อาวรณ์ โอภาสพัฒนกิจ อุปนายกสมาคมพันกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม
- การมอบประกาศนียบัตรผู้เข้าร่วมหลักสูตรยกระดับทักษะในการทำงานพัฒนา
- การเสวนากลุ่มย่อยในประเด็นต่างๆ เช่น
กลุ่มที่ 1 เรื่อง Start Up : นวัตกรรมในการจัดการวิสาหกิจเกษตรและอาหาร
กลุ่มที่ 2 เรื่อง ตันน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ : นวัตกรรมเพื่อการรับมือกับสถานการณ์ปัญหาด้านคุณภาพอากาศ กลุ่มที่ 3 เรื่อง Healthy Aging Innovation : นวัดกรรมการส่งเสริมการมีสุขภาพดีของผู้สูงวัย
กลุ่มที่ 4 เรื่อง Social Impact Startups นวัตกรรมทางธุรกิจสร้างสรรค์สังคม
และกิจกรรมการแข่งขันการประกวด ทักษะทางวิชาการของนักศึกษา ประกอบด้วย การเขียนแผนที่ความคิด
การประกวดคลิบหนังสั้น การแข่งขันตอบคำถาม การประกวดนิทรรศการมีชีวิต และการนำเสนอบทความวิจัย บทความวิชาการ และการนำเสนอ Poster Presentation ระดับบัณฑิตศึกษา อาจารย์ นักวิชาการ และ
นักศึกษาระดับปริญญาตรี ในหัวข้อ “การยกระดับนวัดกรรมเชิงพื้นที่สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” และการศึกษาดูงานในพื้นที่การพัฒนาในจังหวัดเชียงใหม่
โดยในครั้งนี้ โครงการพลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (CEIS) ได้นำเสนอ Best Practice ในการทำงานขับเคลื่อนงานพัฒนาร่วมกับชุมชน ได้แก่
ภาคตะวันออก นำเสนอโดย ดร.ชลกานดาร์ นาคทิม และพิมพ์ชนก พิชัยกาล และ ผศ.ดร. จิตติ มงคลชัยอรัญญา ภายใต้นำเสนอผ่านบทความ ; ส่องกล้องมองผลการพัฒนาเชิงพื้นที่ : กรณีศึกษาการจัดการขยะ โดยชุมชน ในหมู่ที่ 2 ตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยสรุปองค์ความรู้ที่เกิดจากการทำงานด้านการพัฒนาคน การสร้างนวัตกรรมและการขยายผลการเรียนรู้ในชุมขน ผ่านกระบวนการสำรวจ จัดเวทีระดมความ คิดเห็นทั้งตำบล ลงสำรวจร่วมกับชุมชน ข้อมูลจากเอกสาร จัดเวทีประชุม กลุ่มย่อย จัดเวทีประชุมไม่เป็นทางการกับผู้นำ ลงพูดคุยกับสมาชิกในชุมชนนำไปสู่การจัดการบัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมขน ขยะในชุมชน โดยเจ้าหน้าที่ CEIS ศึกษาข้อมูล และประชุมนำเสนอการจัดการขยะแบบใช้กล่อง ถุงหมัก และกระบวนการให้แกนนำครัวเรือนทดลองทำ และกระบวนการติดตามเป็นระยะ และแกนนำจัดเวทีนำเสนอการจัดการขยะในชุมชน สรุปผลและถอดบทเรียนร่วมกัน และมีผลสำเร็จที่เห็นเป็นรูปธรรม เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการขยะระดับตำบล และทางจังหวัดได้ส่งโครงการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเข้าประกวด “จังหวัดสะอาด” ระดับประเทศประจำปี พ.ศ.2566 เป็นต้น
ภาคใต้ นำเสนอโดย ผศ.ดร.กิติศักดิ์ ชุมทอง , สมศักดิ์ เส็นดาโอะ, ขัตติยา สาและ และ สุไลดา เกปัน
ผ่านบทความ; กระบวนการเสริมสร้างพลังผู้สูงอายุเพื่อขับเคลื่อนชีวิตที่ดี กรณีศึกษา ชุมชนบ้านเขาน้อย ตำบลย่านซื่อ อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล โดยสรุปองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการทำงานได้ดังนี้ การรับมือกับภาวะสังคมสูงวัย เป็นประเด็นท้าทายของทุกสังคมในโลก แม้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) จะกำหนดมาตรการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย แต่ก็ยังไม่เกิดรูปธรรมเท่าใดนัก ผู้สูงวัยยังคง ถูกลดคุณค่า มองว่า เป็นภาระของสังคม บทเรียนจากการทำโครงการพัฒนาผู้สูงอายุในชุมชนบ้านเขาน้อย ตำบลย่านซื่อ อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล ระหว่าง พ.ศ. 2563-2565 ซึ่งประกอบด้วยการอบรมหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุแบบองค์รวม ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุ ทำกิจกรรมที่ตนเองสนใจโดยรวมตัวเป็นกลุ่มเล็กเพื่อผลิตผักปลอดภัยและการปลูกขมิ้นชันเพื่อทำยาสมุนไพร ก่อให้ลดรายจ่าย สร้างรายได้เสริม และสร้าง “ศักดิ์ศรี” ของผู้สูงอายุในฐานะที่เปลี่ยนสภาพจาก “ภาระ” สู่ “พลัง” ของกลุ่มผู้สูงวัย นับเป็นการสร้างเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative learning) เพราะผู้เรียนได้สร้างจิตสำนึก ปรับเปลี่ยนแนวคิดไปสู่แนวปฏิบัติที่ใช้ความรู้จากการอบรมและการแลกเปลี่ยนประสบการณ.ทำงานในกลุ่ม จนสามารถป้องกัน ดูแลรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังโดยใช้สมุนไพร รวมทั้งยกระดับเป็นอาสาสมัครดูแลสุขภาพผู้สูงวัยด้วยกัน ข้อค้นพบสำคัญจากกิจกรรมการเรียนรู้ คือ การสร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านความรู้ ด้านดูแลสุขภาพอนามัย การเปลี่ยนมุมมองต่อตนเอง ให้มีจิตสาธารณะเพื่อส่วนรวม ทั้งในกลุ่มผู้สูงวัยและในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การสร้างสำนึกให้สนใจดูแลสังคม การทำงานเป็นกลุ่มเสริมพลัง และการพัฒนาระบบการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เอื้อต่อการจัดการปัญหา สุขภาพของคนในชุมชนแบบพึ่งตนเองและยั่งยืน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำเสนอโดย นิธิวรรณ ฤทธิรงค์ สมประสงค์ ยิ่งเจริญ และ ผศ.ดร. จิตติ มงคลชัยอรัญญา ผ่านบทความ; ส่องกล้องมองผลการพัฒนาเชิงพื้นที่ (2) : กรณีศึกษาการพลิกฟื้นผืนดินในชุมชนทุ่งบ่อ ตำบลดงเมืองแอม อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น โดยสรุปองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการทำงานได้ดังนี้ การแก้ไขปัญหาในชุมชนทุ่งบ่อที่ขาดความพร้อมเรื่องความสมบูรณ์ของทรัพยากรที่ดิน เป็นเรื่องใหญ่ที่ชุมชนไม่อาจจัดการได้ตามลำพัง อย่างไรก็ตามหากชุมชนได้รับการเสริมพลังความรู้และความสามารถในการจัดการตนเองจากการทดลองทำไปเป็นขั้นตอนอย่างเหมาะสม ก็สามารถบรรลุเป้าหมายได้ในระดับที่น่าพอใจ โครงการพลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (CEIS) ซึ่งทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับชุมชนนี้ได้นำแนวคิดการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติอย่างมีส่วนร่วม (Participatory Interactive Learning through Action – PILA) ควบคู่กับแนวคิดการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม (Participatory action research – PAR) ระหว่างปี 2561 – 2566 ทำให้ชุมชนมองเห็นภาพรวมของปัญหา สร้างวิสัยทัศน์และแผนปฏิบัติการเพื่อบรรลุเป้าหมาย รวมทั้งสร้างทีมทำงานขับเคลื่อนกิจกรรมการทดสอบการปลูกกล้าไม้พันธุ์ต่าง ๆ ด้วยวิธีการต่าง ๆ ผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีสมัยใหม่กับภูมิปัญญาท้องถิ่น ออกแบบระบบการทำงาน ติดตาม บันทึก และประเมินผล
ทำให้ได้ชุดความรู้ในการปลูกป่าในพื้นที่เฉพาะได้ เกิดป่าชุมชนและแปลงปลูกผักอินทรีย์บนพื้นดินที่เสื่อมโทรม นำไปสู่การฟื้นฟูระบบนิเวศของพื้นที่ สร้างแหล่งอาหาร ตลอดจนสร้างพลังจัดการตนเอง เพื่อสานงานพัฒนาให้เดินไปสู่ความยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ นักพัฒนาต้องปรับบทบาทให้ทันกับสถานการณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำงานแบบบูรณาการจึงจะทำให้เกิดสัมฤทธิ์ผลเต็มที่
นอกจากนี้โครงการพลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (CEIS) ยังได้จัดนิทรรศการเคลื่อนที่ แสดงผลงานภายใต้หัวข้อ นวัตกรรมเชิงพื้นที่ ในนิยามของ CEIS คือ
“นวัตกรรมเชิงพื้นที่ = นวัตกรรมที่เหมาะกับพื้นที่นั้น >> นวัตกรรมที่สร้างความสมดุล”
นวัตกรรม = แนวคิดใหม่, สิ่งประดิษฐ์ใหม่ หรือ กระบวนการทำงานใหม่ ที่สามารถสร้างคุณประโยชน์ มากกว่าเดิมทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้
นวัตกรรมเชิงพื้นที่ = ต้องเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และนำไปสู่ความสมดุลในมิติต่าง ๆ
ดังนั้น นวัตกรรมที่เหมาะกับพื้นที่นั้น จึงต้องเหมาะสมทั้งภูมิอากาศ ภูมิประเทศ สังคม ฐานความรู้ เศรษฐกิจความร่วมมือ นวัตกรรม
และนวัตกรรมจะต้องนำไปสู่ความสมดุล ไม่ขยายความเหลื่อมล้ำ สร้างความงอกงามทางความรู้ ความคิด เกิดผลกระทบเชิงลบน้อยที่สุด
การจัดแสดงนิทรรศการเคลื่อนที่นี้ไม่ใช่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ชุมชนเพียงเท่านั้น แต่นวัตกรรมที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการ ยังหมายถึงองค์ความรู้ที่เกิดการขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ความรู้ที่เกิดขึ้นภายในชุมชน ที่ชุมชนสามารถนำความรู้เหล่านั้นมาใช้ได้ในชีวิตประจำวัน