เปิดตัว “ถนนสายสุขภาพบ้านเขาน้อย” ถนนรอบหมู่บ้านเส้นน้อยที่รวมความเป็นหนึ่งเดียวของคนในชุมชน
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ชุมชนบ้านเขาน้อย อ.ควนโดน จ.สตูล เปิดตัว “ถนนสายสุขภาพบ้านเขาน้อย” ถนนที่อยากจะชวนคนในชุมชนมาออกกำลังกายกัน ไม่ว่าจะเป็นวัยไหนก็สุขภาพดีไปด้วยกัน
บนถนนเส้นนี้นอกจากทุกคนจะได้สุขภาพดีด้วยการออกกำลังกายยังมี “จุดเรียนรู้เกษตรครอบครัวบ้านเหลาะลุง” จากจุดเริ่มต้น เอาไว้ทำกิน ไว้ใช้ในครอบครัว ปัจจุบันลุงเหลาะได้รับการหนุนเสริมจากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ อย่างบูรณาการ ตอนนี้สมาชิกในครอบครัวทั้งภรรยา และลูกๆ ได้เริ่มทดลองผลิต ไม่ว่าจะเป็นการปลูกผัก ปรับปรุงดิน เลี้ยงเป็ด หอย ปลา หรือแม้กระทั่งเพาะเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่รอบ ๆ บ้าน จนทำให้เกิดเป็นหน่วยธุรกิจขนาดย่อมในครอบครัว ที่ใคร ๆ ก็เอาไปเป็นแบบอย่าง
และปิดท้ายถนนสายนี้ที่ “ครัวชุมชนบ้านเขาน้อย” ครัวชุมชนที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมท้องถิ่น ผ่านเมนูอาหารสุขภาพ ที่ใช้วัตถุดิบไร้สารเคมีในชุมชน มารังสรรค์เป็นเมนูใหม่ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ลิ้มรสอาหารอร่อย สะอาด ปลอดภัย และยังได้สุขภาพ โดยมีเชฟใหญ่ทั้งก๊ะและม๊ะ แห่งชุมชนบ้านเขาน้อย มาช่วยกันเปิดครัว ตั้งเตา โชว์ฝีมือทำอาหารรสเด็ด ให้กับผู้คนที่มาเยือนได้สัมผัสเสน่ห์บ้านเขาน้อย
จากการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ชาวชุมชนบ้านเขาน้อยได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะในการจัดกิจกรรมและ การวางแผนเตรียมการในการรองรับคณะศึกษาดูงานรวมถึงรายละเอียดในการจัดการต่าง ๆ ตลอดจนการรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในการจัดกิจกรรม รวมถึงการสร้าง Story Telling เพื่อสื่อสารและความเข้าใจกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมผ่านการบอกเล่าเรื่องราวของชุมชน รวมถึงการนำไฮไลท์ หรือจุดเด่นของชุมชนมาสร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยี่ยมเยือน
กิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้โครงการ พลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน – CEIS ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สถาบันพัฒนา วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) สมาคมพัฒนาศักยภาพและอัจฉริยภาพมนุษย์ (สพศอ.) และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้ส่งเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ 3 ภูมิภาคได้แก่ ภาคอีสาน ภาคใต้ และภาคตะวันออก โดยใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อสร้างต้นแบบชุมชนที่เข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ มีวิถีชีวิตใหม่ สังคมใหม่ที่เกื้อกูลกัน ลดความยากจน ความเหลื่อมล้ำ เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม ตอบโจทย์เป้าหมายการ พัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal – SDGs 2030)
การขับเคลื่อนงานใน 3 ภูมิภาค ครอบคลุมประเด็นการสร้างแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย, การพัฒนาอาชีพ และผู้ประกอบการชุมชน การเสริมสร้างพลังของผู้สูงอายุ การพัฒนาระบบสุขภาพเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ เรื้อรังและคนในชุมชนด้วยสมุนไพร ภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน การแพทย์แผนไทย และการแพทย์แผนปัจจุบัน การพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนเปราะบางในชุมชน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชน (น้ำ ดิน ป่าชุมชน/ป่าชายเลน) การจัดการสิ่งแวดล้อมในเขตชุมชนเมืองอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวชุมชน การพัฒนายกระดับแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ในทุกภูมิภาค และการสร้างภาคีความร่วมมือแบบหุ้นส่วน เพื่อส่งเสริมกระบวนการ ทางานพัฒนาที่ยั่งยืนให้แก่ชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย และหน่วยงานตามภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง