เก็บซั้งกอ
วันที่ 27-28 มีนาคม พ.ศ.2566 โครงการพลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ร่วมกับชุมชนหมู่ที่ 1 และ หมู่ที่ 2 ตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้เก็บผลการทดสอบประสิทธิภาพซั้งกอจากเปลือกหอย ที่ได้ทำกิจกรรมวางซั้งกอ เพื่อเป็นพื้นที่อนุบาลสัตว์สัตว์น้ำ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ณ หลังดอนเกาะธรรมชาติท่าข้าม (เกาะนก) แม่น้ำบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา
ทั้งนี้ทีมงานโครงการพลังชุมชนฯ นำโดย ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา ได้ร่วมลงพื้นที่กับชุมชนในการลงมือเก็บซั้งกอในพื้นที่แม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีการวางจุดทดลองบริเวณเกาะนก ตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยชุมชนออกแบบซั้งกอ 3 รูปแบบ ได้แก่ บ้านปลาซั้งกอจากกิ่งแสม บ้านปลาซั้งกอคิวบิกปูน บ้านปลาซั้งกอคิวบิกเปลือกหอย ในการเก็บผลทดลองโครงการฯ ได้เชิญทีมผู้เชี่ยวชาญสาขาชีววิทยาทางทะเล ผศ.ดร.เมธิณี อยู่เจริญ อาจารย์ประจำสาขาการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำกับชุมชนในการดำเนินงาน
ในการเก็บผลการทดสอบซั้งกอครั้งนี้ ชุมชนตื่นเต้นในการพบสัตว์น้ำในซั้งกอที่ทดสอบไว้และถือได้ว่ามีความหลากหลายของสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ เช่น ปลาตะกรับ ปลาสลิดหิน ปลาย่าดุก ปลากะพงแดง หอยแมลงภู่ หอยนางรม หอยตะพัง ปูใบ้ กั้ง แมงดาทะเล กุ้งหลายประเภท เป็นต้น
โครงการวิจัยอย่างมีส่วนร่วมนี้ ถือได้ว่าสมาชิกกลุ่มชุมชน ได้เรียนรู้วิธีการทำซั้งกอและร่วมออกแบบซั้งกอให้เหมาะสมกับพื้นที่และภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่จะเป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่อนุบาลสัตว์น้ำในแม่น้ำบางปะกง หลังจากเก็บตัวอย่างครั้งนี้ทางโครงการพลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนจะนำสิ่งที่ได้ส่งห้องทดลอง เพื่อวิเคราะห์ผลต่อไป