ผูกเสี่ยวบ้านทุ่งบ่อ

ชุมชนบ้านทุ่งบ่อจัดกิจกรรม “ผูกเสี่ยวป่า” ประเพณีเก่าแก่ของชาวอีสาน เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างคนกับต้นไม้

โครงการพลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา หัวหน้าโครงการพลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน และ คุณนำพล โพธิวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ความยั่งยืน (อกย.) ร่วมกับผู้นำท้องถิ่น และประชาชนบ้านทุ่งบ่อ รวมถึงชุมชนใกล้เคียง นักเรียน ครูอาจารย์ ร่วมกิจกรรมผูกเสี่ยวป่า ตำบลดงเมืองแอม อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น เพื่อร่วมกันสร้าง ฟื้นฟู อนุรักษ์ป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียว บริเวณรอบหนองขุมดิน รวมทั้งยังได้นำเอาวัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาสร้างกิจกรรม “ผูกเสี่ยวป่า” ซึ่งมีความหมายว่า “เพื่อน” กันตลอดไป นำมาสู่การสร้างความสัมพันธ์ เพื่อยึดเหนี่ยวความเกื้อกูลกันระหว่างคนกับต้นไม้

ในอดีตบ้านทุ่งบ่อ พื้นดินเป็นดินขุดมาจากก้นบ่อ มีสภาพเป็นดินเค็มหรือดินดาน ระบายน้ำไม่ดี แห้งแล้ง
โครงการพลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) สมาคมพัฒนาศักยภาพและอัจฉริยภาพ (สพศอ.) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จึงได้พัฒนาขุดบ่อ สร้างถังเก็บน้ำ แก้ไขดินจนเป็นรูปธรรม ปลูกต้นไม้ที่ทนแล้ง พัฒนาจนเป็นป่าชุมชน เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
ซึ่งจากความประสงค์ของชุมชนที่ต้องการจะพัฒนาพื้นที่รอบหนองขุมดิน ที่เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 120 ไร่ ให้เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ พื้นที่สีเขียว สร้างแหล่งอาหาร และแหล่งนันทนาการ หรือเป็นลานวัฒนธรรม เพื่อให้คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์

ดังนั้นการ “ผูกเสี่ยวป่า” จึงเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างความรักความผูกพันของคนในชุมชนให้มีส่วนร่วมดูแลรักษาป่า ร่วมกันพัฒนาพื้นที่ป่าชุมชนให้สามารถใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย กลายเป็นพื้นที่สีเขียว เป็นแหล่งอาหาร และเป็นแหล่งนันทนาการของชุมชน ตามแนวทางการปลูก “ป่า 3 อย่าง เพื่อประโยชน์หลายอย่าง” ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของโครงการพลังชุมชนฯ ที่ส่งเสริมให้ชุมชนเป้าหมายที่ขับเคลื่อนงานป่าชุมชนทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ ป่าชุมชนบ้านโคกศรี จังหวัดอุดรธานี ป่าชุมชนบ้านนางิ้วนาโพธิ์ จังหวัดขอนแก่น และป่าชุมชนบ้านทุ่งบ่อ จังหวัดขอนแก่น ได้มองเห็นความสำคัญนอกเหนือจากการปลูกหรือสร้างป่า เพื่อฟื้นฟู อนุรักษ์ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวแล้ว หัวใจสำคัญ คือ การดูแลป่า ให้ยั่งยืน สามารถสร้างประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ส่งต่อไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน และเกิดประโยชน์แก่สังคมโลกได้ในระยะยาว

RECENT POSTS

Share this post