ผลการทดสอบประสิทธิภาพซั้งกอ

โครงการพลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน นำเสนอผลงานวิจัยชุมชนในการทดสอบประสิทธิภาพซั้งกอจากปูนผสมเปลือกหอยแมลงภู่ พร้อมกับแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคีเครือข่าย อย่างมีส่วนร่วม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา หัวหน้าโครงการพลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน เป็นผู้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยอย่างมีส่วนร่วมเพื่อทดสอบประสิทธิภาพซั้งกอจากปูนผสมเปลือกหอยแมลงภู่ โดยมีนายณัฐพงษ์ สงวนจิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นประธานในพิธีเปิด การนำเสนอผลการศึกษาวิจัย ซึ่งครั้งนี้ได้มีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคีเครือข่าย และภาคประชาชนเข้าร่วมรับฟัง และเสนอความคิดเห็น เพื่อจะนำนวัตกรรมนี้ไปขยายผลต่อไปในอนาคต

สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคีเครือข่าย ที่ไม่ขัดต่อหลักการ และระเบียบของหน่วยงานต่าง ๆ และเพื่อความปลอดภัยต่อการสัญจรทางน้ำ ดังนั้นทางโครงการฯ และชุมชนจะขอความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่อแนวทางการนำซั้งกอจากปูนผสมเปลือกหอยแมลงภู่ เพื่อเป็นแหล่งอนุบาล สัตว์น้ำ ในพื้นที่แม่น้ำบางปะกง

ทั้งนี้พื้นที่ภาคตะวันออก หนึ่งใน 3 พื้นที่ปฏิบัติการ ภายใต้โครงการพลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (CEIS) ได้นำเสนอผลการวิจัยโครงการวิจัยอย่างมีส่วนร่วมเพื่อทดสอบประสิทธิภาพซั้งกอจากปูนผสมเปลือกหอยแมลงภู่ ในการเป็นพื้นที่อนุบาลสัตว์น้ำ บริเวณพื้นที่ปากแม่น้ำ ตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่สำเร็จไปแล้วนั้น โดยมีเป้าหมายในการพัฒนานวัตกรรมนี้ว่า “ซั้งกอจะทำให้สิ่งมีชีวิตในแม่น้ำมารวมตัวกันมากขึ้น และนำไปสู่การสร้างความสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งผลต่อการสร้างอาชีพ รายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชน”

ผลการศึกษาวิจัย พบว่า ซั้งกอจากปูนผสมเปลือกหอยแมลงภู่มีประสิทธิภาพในการดึงดูดสิ่งมีชีวิตในน้ำให้เข้ามาอาศัยอยู่มากที่สุด ทางชุมชนมีความสนใจโดยจะนำไปปรับใช้ให้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของชุมชนต่อไป เพราะซั้งกอนี้ชุมชนได้พัฒนาจากงานวิจัยจนได้รูปแบบของวัสดุที่เหมาะสมและหาได้ง่ายในท้องถิ่น เข้ากันได้กับสภาพแวดล้อม ไม่เป็นพิษหรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อายุการใช้งานนาน มีความคงทน ไม่ลอยน้ำและมีน้ำหนักมากพอที่ไม่ถูกกระแสน้ำพัดพาจากจุดที่วาง สะดวกต่อการเคลื่อนย้าย และมีประสิทธิภาพในการเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำที่ดีจากผลการศึกษาวิจัย ก่อให้เกิดเป็นระบบนิเวศใหม่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นตามห่วงโซ่อาหารได้อย่างมั่งคง

พื้นที่ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่ปากแม่น้ำ มีลักษณะเป็นน้ำกร่อย ประชาชนประกอบอาชีพทำประมงชายฝั่ง และมีการทำซั้งกอแบบดั้งเดิม (หรือที่ชุมชนเรียกว่า “กล่ำ” เพื่อสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยให้สัตว์น้ำใช้เป็นแหล่งหลบภัย แหล่งวางไข่และเลี้ยงตัวอ่อน) อยู่แล้ว นอกจากนี้ยังพบว่าชุมชนส่วนหนึ่ง
มีอาชีพแกะเนื้อหอยแมลงภู่เพื่อจำหน่าย จึงทำให้มีเปลือกหอยเป็นขยะเน่าเสียในพื้นที่ โครงการฯ จึงได้ร่วมกับชุมชนนำซั้งกอเปลือกหอยเปลือกปู ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ผ่านการพัฒนาให้มีความแข็งแรง เพิ่มโครงสร้างให้มีความซับซ้อน เพื่อดึงดูดสัตว์ทะเลชนิดต่าง ๆ ให้เข้ามาอาศัย ซึ่งผลงานดังกล่าวเป็นผลงานนวัตกรรมของเยาวชน โรงเรียนปะเหลียนผดุงศิษย์ จ.ตรัง ภายใต้การสนับสนุนจาก โครงการ Move World together เพื่อพลังงานและสิ่งแวดล้อม

RECENT POSTS

Share this post