Water Footprint ร่วมกันตระหนัก “รักษ์น้ำ”

Water Footprint ร่วมกันตระหนัก “รักษ์น้ำ”

แม้ว่าบนโลกสีฟ้าของเรานี้จะมีน้ำเป็นส่วนประกอบมากถึง 80% แต่เป็นน้ำจืดเพียงแค่ 3% และน้ำจืดส่วนใหญ่ก็อยู่ในรูปของน้ำแข็งมากถึง 70% นั่นหมายความว่า เรามีน้ำจืดที่ใช้ได้ไม่ถึง 1% ของน้ำบนโลก เพียงเท่านั้น และถึงแม้ว่าน้ำจะเป็นทรัพยากรที่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่น้ำที่ถูกใช้ไปแล้วก็ไม่สามารถกลับมาใสสะอาดดังเดิมได้ หรือหากจะให้กลับมาใสสะอาดก็ต้องเปลือกทรัพยากรในการทำให้มันกลับมาเป็นเหมือนก่อนหน้า

ในแทบทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นบนโลก มักหลีกเลี่ยงการใช้ทรัพยากรน้ำแทบไม่ได้ ในระหว่างวันที่เราดื่มน้ำเข้าไป แล้วร่างกายขับน้ำออกมาเป็นเหงื่อหรือปัสสาวะ น้ำเหล่านั้นก็กลายเป็นของเสียที่ไม่สามารถนำกลับมาดื่มได้อีก เหมือนการใช้น้ำในโรงงานอุตสาหกรรม หรือการทำเกษตรกรรม เมื่อใช้น้ำเสร็จแล้วก็ต้องบำบัดก่อนที่จะปล่อยกลับสู่แหล่งน้ำ หรือนำกลับไปใช้ใหม่

ในทุกๆ วัน กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ล้วนสร้างให้เกิด “รอยเท้าการใช้น้ำ” หรือ “Water Footprint” ทั้งที่เป็น Direct Water Use คือ น้ำที่เรานำไปใช้โดยตรง เช่น น้ำดื่ม การอาบน้ำ ซักผ้า และ Indirect Water Use (หรือ Virtual Water Use หรือ Hidden Water Use) คือ น้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตสิ่งของอุปโภคบริโภค เช่น ในการผลิตน้ำดื่มขนาด 1 ลิตร 1 ขวด นอกจากน้ำ 1 ลิตร ที่ใส่ในขวด (Direct Water Use) แล้ว ยังต้องใช้น้ำในกระบวนการผลิตขวดสำหรับบรรจุน้ำอีกจำนวน 3 ลิตร อีกด้วย ทั้งหมดนี้ล้วนสร้าง Water Footprint ทั้งสิ้น

Water Footprint แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. Blue Water Footprint คือ ปริมาณน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติทั้งน้ำผิวดิน และใต้ผิวดิน เช่น น้ำจากบึง, แม่น้ำ, บ่อบาดาล ซึ่งDirect Water Use มักเป็นน้ำส่วนนี้
  2. Green Water Footprint คือ ปริมาณน้ำจากน้ำฝนที่สะสมเป็นความชื้นในดิน ส่วนมากใช้ไปกับการเกษตร เช่น การปลุกพืช เลี้ยงสัตว์ การทำไม้
  3. Gray Water Footprint คือ ปริมาณน้ำที่ต้องใช้บำบัดน้ำเสียให้อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถปล่อยทิ้งให้อยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติได้ หากต้องใช้น้ำจำนวนนี้มาก หมายความว่าในกระบวนการผลิตมีการเกิดน้ำเสียมากนั่นเอง

หากเราอยากรู้ว่าในผลิตภัณฑ์ที่เราใช้นั้นก่อให้เกิด Water Footprint มากแค่ไหนก็ให้ลองสังเกตจากฉลาก Water Footprint ยิ่งค่า Water Footprint น้อย ยิ่งแสดงถึงกระบวนการผลิตสินค้าที่ใช้น้ำน้อย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่าง Water Footprint ของสินค้าที่คำนวนการใช้น้ำตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงมือผู้บริโภค

  • ข้าวสาร 1 กิโลกรัม ใช้น้ำ 2,497 ลิตร
  • น้ำตาล 1 กิโลกรัม ใช้น้ำ 1,782 ลิตร
  • เนื้อหมู 1 กิโลกรัม ใช้น้ำ 5,988 ลิตร
  • กาแฟ 1 แก้ว ใช้น้ำ 132 ลิตร
  • พิซซ่า 1 ถาด ใช้น้ำ 1,259 ลิตร

จากข้อมูลการจัดการทรัพยากรน้ำโดยองค์กรอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ใช้น้ำมากที่สุดในโลก รองจาก อินเดีย จีน สหรัฐอเมริกา ปากีสถาน และญี่ปุ่น โดย 75% ใช้ในภาคการเกษตร และจากรายงานประจำปีด้านการพัฒนาน้ำระดับโลกของสหประชาชาติมีการคาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2573 ปริมาณความต้องการใช้น้ำของโลกจะเพิ่มขึ้น ทำให้ประชากรโลกมากว่า 40% อาจต้องเผชิญวิกฤติการณ์ขาดแคลนน้ำ

ประเทศไทยเองก็ตระหนักถึงวิกฤติการขาดแคลนน้ำที่จะเกิดขึ้น การส่งเสริม BCG Model หรือ Bio Economy, Circular Economy, Green Economy ให้ผู้ผลิตตระหนักถึงคุณค่า ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และร่วมกันติดฉลาก Water Footprint ก็เป็นอีกหนึ่งหนทางในการลดหรือชะลอวิกฤติการขาดแคลนน้ำที่จะเกิดขึ้น เราเองในฐานะผู้บริโภคและประชากรของโลกก็ต้องร่วมใจช่วยกันช่วยกัน “รักษ์น้ำ” ตามเป้าหมาย SDG Goals ข้อ 6 : Clean Water and Sanitation

Share this post