Trend ความมั่นคงทางอาหารของโลก กำลังเปลี่ยนไป จุดเปลี่ยนของสินค้าเกษตร แล้วไทยจะต้องปรับตัวอย่างไร

Trend ความมั่นคงทางอาหารของโลก กำลังเปลี่ยนไป จุดเปลี่ยนของสินค้าเกษตร แล้วไทยจะต้องปรับตัวอย่างไร

จากการสำรวจดัชนีชี้วัดความมั่นคงทางอาหารของโลกทั้งหมด 113 ประเทศ พบว่าในปี 2022 ประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหารอยู่อันดับที่ 64 อยู่ในระดับเดียวกับประเทศโคลัมเบีย ตกลงมาถึง 13 อันดับจากเดิมในปี 2021 อยู่อันดับที่ 51 ซึ่งจากการประเมินคะแนนความมั่นคงด้านอาหารทั้งหมด 4 ด้าน พบว่าด้านที่ประเทศไทยมีคะแนนที่ต่ำที่สุด คือ ด้านที่ 3 คุณภาพและความปลอดภัย ทั้งในด้านความหลากหลายทางอาหาร มาตรฐานโภชนาการ และความพร้อมของสารอาหารรอง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นว่าถึงแม้จะเป็นประเทศไทยที่เป็นผู้ส่งออกข้าว ผลไม้ หรือผลผลิตทางการเกษตรหลายชนิด แต่ก็ยังมีขาดคุณภาพ ในด้านความปลอดภัยและคุณค่าทางโภชนาการที่ดี

           ประเทศผู้นำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารรายสำคัญของไทยปรับตัว ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ต่างเริ่ม  ทะยอยกันปรับตัวเพื่อปกป้อง เพื่อปกป้องความเสถียรภาพความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศ

ประเทศจีน ออกกฎหมายความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมากำหนดให้กระบวนการและขั้นตอนการผลิตอาหารต้องดำเนินการและพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องอุปทานธัญพืชภายในประเทศ ปกป้องความมั่นคงทางอาหาร และปกป้องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง และได้กำหนดแนวทางนโยบายการเกษตรและการพัฒนาชนบทประจำปี (RuralRevitalization) ซึ่งให้ความสำคัญสูงสุดกับความมั่นคงทางอาหารเช่นกัน โดยมุ่งพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตธัญพืชในประเทศ และลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

ประเทศสหรัฐอเมริกา มีเป้าหมายสร้างความมั่นคงด้านอาหารที่ยั่งยืน เพื่ออนาคตที่ดีของประชาชน ลดความยากจน ลดความหิวโหย และภาวะขาดแคลนอาหารในทุกสถานการณ์ อาทิ การแพร่ระบาดของโรค การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งต่าง ๆ และความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้น โดยเร่งพัฒนาพื้นที่และลดความยากจน มุ่งเน้นสร้างความเท่าเทียมของประชากร สร้างงานโดยใช้ภาคเกษตรผลักดันเศรษฐกิจ และสร้างความมั่นคงทางอาหารสำหรับคนในชาติ ควบคู่กับเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น รวมทั้งใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต และสร้างภาคเกษตรที่ยั่งยืน

ประเทศญี่ปุ่น มีนโยบายเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารในประเทศ ลดพึ่งพาการนำเข้า และผลักดันให้มีการผลิตข้าวสาลี ถั่วเหลือง ธัญพืชอาหารสัตว์ หญ้าแห้ง และปุ๋ยภายในประเทศเพิ่มขึ้น มุ่งเน้นการพึ่งพาตนเอง มีเป้าหมายเพิ่มการเพาะปลูกสินค้าเกษตร พืชเลี้ยงสัตว์ ปรับฐานราคาสินค้าเกษตรให้เหมาะสม และส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศ นอกจากนี้ ให้ความสำคัญกับคุณค่าทางโภชนาการของเด็ก และการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม

ประเทศมาเลเซีย มีนโยบายด้านความมั่นคงทางอาหาร เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนและยืดหยุ่นในภาคเกษตรกรรมความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ให้ความสำคัญกับคุณค่าทางโภชนาการ เพิ่มกำลังการผลิตอาหาร และให้ประชาชนเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการในราคาจับต้องได้ ควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรเพื่อพัฒนาภาคเกษตรกรรมและปศุสัตว์ เพื่อเพิ่มผลผลิตและผลักดันการส่งออก ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีมาตรการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร

ความมั่นคงทางอาหารของไทย “ปริมาณการผลิตยังไม่น่าห่วง…แต่เสี่ยงราคาสูง”

ส่วนในประเทศไทยนั้นปัจจุบัน กำลังตื่นตัวและให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร โดยในการประชุมคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ เมื่อเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา ในที่ประชุมได้เห็นชอบให้ร่างแผนปฏิบัติการ ด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 – 2567) ซึ่งจะเป็นแผนปฏิบัติการ ระยะเวลา 5 ปี ที่อ้างอิงตามกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2561 – 2580) ระยะ 20 ปี โดยมีเป้าหมายสำคัญ
คือการสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศที่ยั่งยืน ประชาชนได้รับอาหารที่มีคุณภาพ และมีสุขภาวะที่ดีขึ้นจากการได้รับอาหารที่มีคุณภาพ

จากข้อมูลของ ttb analytics เปิดเผยว่า 5 อาหารหลักของไทย ได้แก่ หมู น้ำมันปาล์ม ไก่ ข้าว และน้ำตาล พบว่า ปริมาณการผลิตนั้นยังมีเพียงพอสำหรับการบริโภค โดยใช้เกณฑ์วัดจากเปอร์เซ็นต์สัดส่วนการบริโภคในประเทศต่อปริมาณการผลิตในประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนการบริโภคต่อปริมาณการผลิตของ หมู น้ำมันปาล์ม ไก่ ข้าว และน้ำตาล อยู่ที่ 92% 73% 68% 65% และ 24% ตามลำดับ” แต่ปัจจัยที่น่ากังวลคือ ราคาอาหารโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอ้างอิงจากข้อมูลดัชนีราคาอาหารของโลกจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่า ในช่วงระยะเวลา 22 ปีที่ผ่านมา (นับตั้งแต่ปี 2000-2022) ราคาอาหารของโลกปรับเพิ่มขึ้นสะสมกว่า 127% (เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.8% ต่อปี) โดยหมวดอาหารที่ราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 22 ปี คือ น้ำมันพืชปรับเพิ่มขึ้นสะสม 225% (เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10.2%ต่อปี) รองลงมา คือ ผลิตภัณฑ์นมปรับเพิ่มสะสม 151% (เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.9% ต่อปี) ธัญพืชปรับเพิ่มขึ้นสะสม 148% (เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.7% ต่อปี) น้ำตาลปรับเพิ่มขึ้นสะสม 141% (เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.4% ต่อปี) และเนื้อสัตว์ปรับเพิ่มขึ้นสะสม 77% (เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.5% ต่อปี)

แม้ว่าปริมาณการผลิตในประเทศใน 5 อาหารหลักของคนไทยจะมีเพียงพอ แต่การที่ราคาอาหารโลกปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องดังกล่าว ย่อมเป็นแรงกดดันทำให้ราคาอาหารในประเทศสูงขึ้น และทาง ttb analytics ได้ประเมินว่าปัจจุบันความตึงเครียดของสงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการปรับตัวของราคาวัตถุดิบการผลิตอาหารและค่าขนส่งสินค้าของโลกเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจะยังคงเป็นแรงกดดันในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า โดยจะทำให้ราคาอาหารของโลกปรับสูงขึ้นและจะส่งผ่านมายังราคาอาหารในประเทศให้ปรับสูงขึ้นตามด้วย ถึงแม้แรงกดดันด้านอุปทานอาหารขาดแคลนในประเทศจะมีไม่มากนัก เนื่องจากอาหารส่วนใหญ่ไทยจะผลิตเองได้ แต่แรงกดดันด้านราคาอาหารโลกที่ปรับสูงขึ้นจะก่อให้เกิดปัญหาความมั่นคงทางอาหารในไทยได้ เป็นความท้าทายที่ไทยต้องยก “ความมั่นคงทางอาหารให้เป็นหนึ่งในเป้าหมายการบริหารประเทศ” ดังนั้น ไทยจึงต้องบริหารอุปทานอาหารให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศด้วยราคาที่ประชาชนรับได้ โดยอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนในการกำหนดเป้าหมายปริมาณการผลิตที่เพียงพอ รวมถึงในภาคการเกษตร โดยร่วมวางแผนการผลิตล่วงหน้าเกษตรกร และหากมีการผลิตอาหารส่วนเกินก็ให้ส่งออกเพื่อนำรายได้เข้าประเทศได้

ดังนั้น “ความมั่นคงทางอาหาร” เป็นประเด็นที่ไทยต้องให้ความสำคัญ และจะเกิดขึ้นได้นั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐที่เป็นหน่วยสำคัญของประเทศในการสนับสนุน และส่งเสริมอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ รวมถึงเอกชนเป็นผู้นำในด้านการผลิต การนำเข้า ส่งออก และที่สำคัญภาคเกษตรกร ประชาชน ในการให้ความร่วมมือ ซึ่งหากเกิดจะการบูรณาการในทุกภาคส่วนเช่นนี้แล้วก็จะช่วยทำให้ไทยมีความมั่นคงทางอาหารได้อย่างยั่งยืน

ข้อมูลอ้างอิง

  • https://www.matichon.co.th/economy/news_4674810
  • https://www.ttbbank.com/th/newsroom/detail/food-security
  • https://www.thaihealthreport.com/th/articles_detail.php?id=142

Share this post