22 พฤษภาคม “วันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ”

22 พฤษภาคม “วันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ” (International Day for Biological Diversity)

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก แม้วิทยาการและเทคโนโยลีของมนุษย์จะก้าวไกลอย่างรวดเร็ว ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะเข้ามามีบทบาทกับชีวิตมนุษย์ในทุกกิจกรรมประจำวัน แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า มนุษย์ยังต้องพึ่งพาระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งน้ำ อาหาร ยา เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย และความหลากหลายทางชีวภาพ

องค์การสหประชาติกำหนดให้ วันที่ 22 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น “วันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ” (International Day for Biological Diversity) ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) เพื่อระลึกถึงวันที่อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CDB) เริ่มมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) โดยมีวัตถุประสงค์หลักของอนุสัญญา เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ใช้ประโยชน์องค์ประกอบของความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม และเพื่อรณรงค์ให้ประชาคมโลกเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ

ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) หมายถึง การมีสิ่งมีชีวิตนานาชนิด นานาพันธุ์ในระบบนิเวศอันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ซึ่งมีมากมายและแตกต่างกันทั่วโลก หรือ การที่มีชนิดพันธุ์ สายพันธุ์ และระบบนิเวศ ที่แตกต่างหลากหลายบนโลก กล่าวคือ ความหลากหลายทางชีวภาพ คือ ความหลากหลายของชนิดพันธุ์ สายพันธุ์ และระบบนิเวศ ทำให้มนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นสามารถเลือกการบริโภคได้ เช่น ข้าว หากมีความหลากหลายของสายพันธุ์ เราสามารถเลือกบริโภคข้าวจ้าว ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวญี่ปุ่นได้ แต่หากความหลากหลายของสายพันธุ์ลดลง เราอาจเลือกบริโภคได้เพียงข้าวเหนียวและข้าวจ้าวได้เท่านั้น เป็นต้น

ความหลากหลายระหว่างระบบนิเวศเป็นความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งซับซ้อน สามารถเห็นได้จากความแตกต่างระหว่างระบบนิเวศประเภทต่าง ๆ เช่น ป่าดงดิบ ทุ่งหญ้า ป่าชายเลน ทะเลสาบ บึง หนอง ชายหาด แนวปะการัง ตลอดจนระบบนิเวศที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ทุ่งนา อ่างเก็บน้ำ หรือแม้กระทั่งชุมชนเมืองของเราเอง ในระบบนิเวศเหล่านี้ สิ่งมีชีวิตก็ต่างชนิดกัน และมีสภาพการอยู่อาศัยแตกต่างกัน

ความแตกต่างหลากหลายระหว่างระบบนิเวศ ทำให้โลกมีถิ่นที่อยู่อาศัยเหมาะสมสำหรับสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ระบบนิเวศแต่ละประเภทให้ประโยชน์แก่การดำรงชีวิตของมนุษย์แตกต่างกัน หรืออีกนัยหนึ่งให้ “บริการทางสิ่งแวดล้อม” (Environmental Service) ต่างกันด้วย อาทิ ป่าไม้ทำหน้าที่ดูดซับน้ำ ไม่ให้เกิดน้ำท่วมและการพังทลายของดิน ส่วนป่าชายเลนทำหน้าที่เก็บตะกอนไม่ให้ไปทบถมจนบริเวณปากอ่าวตื้นเขิน ตลอดจนป้องกันการกัดเซาะบริเวณชายฝั่งจากกระแสลมและคลื่นด้วย

ความหลากหลายทางชีวภาพอาจสามารถมองเป็นภาพรวมของการมีทรัพยากร หากทรัพยากรลดลง ราคาของทรัพยากรนั้นก็จะมีราคาที่สูงขึ้น อาจกระทบต่อเศรษฐกิจ และผลกระทบเชิงลบในด้านสังคมคือ การแก่งแย่งทรัพยากรที่เหลืออยู่ การกักตุนอาหาร ความไม่เท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำรวมถึงปัญหาอาชญากรรมอาจเพิ่มสูงขึ้น ดังประโยคที่เราเคยได้ยินบ่อยครั้งว่า “ไม่มีมนุษย์ ธรรมชาติอยู่ได้ แต่ถ้ามนุษย์ไม่มีธรรมชาติ มนุษย์อยู่ไม่ได้”

ความหลากหลายทางชีวภาพส่งผลกระทบต่อทุกสรรพสิ่ง มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของทุกสรรพชีวิต แค่เพียงเราทุกคนหันมาตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ ให้ความสำคัญต่อการใส่ใจดูแลทุกสรรพสิ่งรอบตัวเรา ไม่เพียงแต่ในพื้นที่ป่าไม้ หรือพื้นที่อนุรักษ์ แต่รวมถึงสรรพชีวิตรอบตัวเรา ทั้งต้นไม้ใบหญ้า สัตว์เล็กสัตว์น้อยอย่าง กระรอก สุนัข แมว นก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ แมลงต่างๆ ที่ต่างพึ่งพิงกันให้ชีวิตดำรงอยู่ ย่อมส่งผลให้เกิดทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และอาจกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ในอนาคต

ข้อมูลอ้างอิง

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

UN Environment Programme

สํานักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏกําแพงเพชร

Share this post