รำลึก 28 ก.ค. วันถึงแก่กรรม อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์
“เราเป็นทาสของแผ่นดิน ความทุกข์ของชาวบ้านเป็นความทุกข์ของแผ่นดิน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องแก้ไข การทำงานแม้จะมีความยากลำบากสักป่านใดก็ตาม หากเรามีความตั้งใจทำจริงทำต่อเนื่อง และทำด้วยความเสียสละกำลังกายกำลังใจ และสติปัญญาแล้ว สักวันหนึ่งจะต้องพบความสำเร็จแน่นอน”
อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์
“บอ. ถึง U2T” – รำลึก 28 ก.ค. วันถึงแก่กรรม อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์
ในช่วงปีสองปีมานี้ หลายๆ คน โดยเฉพาะผู้คนในแวดวงการพัฒนาชุมชน คงได้ยินชื่อและคุ้นเคยกับโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล หรือที่เรียกกันติดปากว่า U2T ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มุ่งให้มหาวิทยาลัยต่างๆ นำองค์ความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม ตลอดจนทรัพยากรของมหาวิทยาลัย ไปใช้พัฒนาพื้นที่ พัฒนาศักยภาพของชุมชน/ตำบลต่างๆ โดยมีเป้าหมายใหญ่ หรือ Big Picture ในการขับเคลื่อนประเทศ
ผู้เขียนเองมีโอกาสได้รู้จักกับน้อง ๆ โครงการ U2T รวมถึงมีโอกาสได้พูดคุยอยู่บ้าง ก็พอให้ทราบว่า โครงการดังกล่าวอยากเห็นการสร้างรายได้สร้างอาชีพให้กับชุมชน ผลสัมฤทธิ์ของโครงการ U2T ต้องการให้เกิดผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น วิสาหกิจชุมชน รวมถึงเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน ที่มีทั้งใหม่และต่อยอดจากเดิม รวมถึงช่วยให้น้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการได้ฝึกฝนฝีมือการทำงานชุมชน และช่วยให้น้องๆ หลายคนมีอาชีพ และหลายคนที่ต่อยอดเกิดรายได้ทั้งกับชุมชนและตนเอง
ในยุคก่อนหน้านี้ เมื่อนึกถึงนิสิตหรือนักศึกษาที่ลงชุมชน เรามักนึกถึงโครงการค่ายอาสาพัฒนาต่างๆ สมัยหนุ่มๆ ผู้เขียนเองก็มีโอกาสได้ติดตามชมรมของมหาวิทยาลัยไปทำค่ายอาสา ปรับปรุงอาคารห้องน้ำของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดชัยภูมิที่จนป่านนี้ก็ยังนึกชื่อโรงเรียนไม่ออก ด้วยเพราะเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว แต่ก็ยังจำได้ว่าสนุกสนาน และได้รับการดูแลต้อนรับจากชาวบ้านในชุมชนเหมือนลูกเหมือนหลาน
แต่หากจะพูดถึงบัณฑิตจบใหม่ที่อยากรับใช้ชุมชน ผู้เขียนก็ยังคงนึกถึง บอ. หรือ สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร ม.ธรรมศาสตร์ ที่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เปิดสอนมากว่า 53 ปี จากแนวคิดของอาจารย์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่มุ่งให้บัณฑิตจบใหม่ได้นำความรู้ ทักษะ อุดมการณ์ และความเสียสละ ลงไปทำงานร่วมกับชาวบ้านในชุมชน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างเคารพในศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน โดยให้น้ำหนักในการอยู่ร่วมกับชุมชนมากกว่าการเรียนวิชาการ
อ.ป๋วย แม้จะเป็นนักศึกษาดีเด่นและทำคะแนนสูงสุดในบรรดาเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ของมหาวิทยาลัย London School of Economic & Political Science และได้ทุนศึกษาต่อระดับ ป.เอก จนจบ ดร. จากประเทศอังกฤษ แต่ลูกคนจีนจากตรอกโรงสูบน้ำ ตลาดน้อยอย่าง อ.ป๋วย ก็ไม่เคยลืมว่า ตนเองเกิดเมืองไทย กินข้าวไทยจนเติบใหญ่ ทุนเล่าเรียนที่ได้ก็เป็นภาษีของประเทศ คือเงินของชาวนาไทย ต้องรับใช้ประเทศไทย เมื่อมีโอกาสได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนและสั่งสมมาเมื่อครั้งรับตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ อ.ป๋วย ได้ร่วมกับเพื่อนนักธุรกิจ นักการเงิน นักการเมือง และเชื้อพระวงศ์ร่วมก่อตั้ง มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ซึ่งถือเป็นโครงการพัฒนาชนบทแห่งแรกขององค์กรพัฒนาเอกชน โดยได้แนวคิดจาก ดร.วาย เยน เมื่อปี พ.ศ.2510 และในปี พ.ศ.2512 ก็ได้ก่อตั้งสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร ม.ธรรมศาสตร์ขึ้น
ด้วยความมุ่งหวังตอบแทนประเทศชาติ ไม่เพียงแต่ก่อตั้งหลักสูตรให้บัณฑิตได้เรียนรู้จากคนในชนบท อ.ป๋วย ได้ส่งมอบจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์ ด้วยวิชาสุดท้ายที่ธรรมศาสตร์จะสอนให้บัณฑิตได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิตหลังเรียนจบปริญญาตรี สอนให้ได้รักประชาชน อย่างคำที่ อ.ป๋วย ได้เคยกล่าวแก่ บอ.ว่า
“เราเป็นทาสของแผ่นดิน ความทุกข์ของชาวบ้านเป็นความทุกข์ของแผ่นดิน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องแก้ไข การทำงานแม้จะมีความยากลำบากสักป่านใดก็ตาม หากเรามีความตั้งใจทำจริงทำต่อเนื่อง และทำด้วยความเสียสละกำลังกายกำลังใจ และสติปัญญาแล้ว สักวันหนึ่งจะต้องพบความสำเร็จแน่นอน”
บอ.ในอดีต ถึงจะเป็นเพียงคณะที่มีนักศึกษาจำนวนไม่มากนัก แต่ในแวดวงการพัฒนากลับรู้จัก และยอมรับทักษะการทำงานกับชาวบ้าน รวมถึงการสร้างการเปลี่ยนแปลง เคลื่อนไหว หรือเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านเมื่อเห็นการเอารัดเอาเปรียบจากหน่วยงานรัฐ หรือการคอรัปชั่นของผู้นำหมู่บ้าน แม้ในปัจจุบันบทบาทดังกล่าวไม่ได้มีให้เห็นเหมือนในอดีต แต่บัณฑิตอาสาสมัครแทบทุกคนได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้าน นักพัฒนา กลุ่มคนทำงานเพื่อสังคม NGO และ CSR เนื่องจากการลงชุมชนที่ไม่ใช้แค่หลักสูตรฝึกงาน หรืออาสาสมัครแบบฉาบฉวยที่มีอยู่กลาดเกลื่อนในสังคม
อ.ป๋วย จากพวกเราไปเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2542 หรือกว่า 23 ปีแล้ว แต่จิตวิญญาณของสถาบันการศึกษาที่ว่า “มหาวิทยาลัยจะทำหน้าที่ให้การศึกษาอุปมาประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา” จะยังคงอยู่ เพื่อหล่อหลอมให้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งสร้างคนให้รักและรับใช้ประชาชน เห็นประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก แม้จนถึงวันสุดท้ายของลมหายใจ เหมือนข้อเขียนของ อ.ป๋วย “คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ที่ว่า “ตายแล้ว เผาผมเถิด อย่าฝัง คนอื่นจะได้มีที่ดินอาศัยและทำกิน และอย่าทำพิธีรีตองในงานศพให้วุ่นวายไป นี่แหละคือความหมายแห่งชีวิต นี่แหละคือการพัฒนาที่จะควรให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของทุกคน”