จากฟาร์มสเตย์ สู่ “Farm stay for Health” การท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงชุมชน

เป็นเวลากว่า 10 ปี แล้วที่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro Tourism) ในไทยได้รับความสนใจ เกษตรกรหลายรายผันตัวเองจากการเป็นเพียงผู้ผลิตสู่ผู้ประกอบการทางการท่องเที่ยว เปิดนา ไร่ สวน ของตนเองให้นักท่องเที่ยวเยี่ยมชม จัดกิจกรรมทางการเกษตร รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้ผลผลิตภายในฟาร์มให้นักท่องเที่ยวได้
ช้อปปิ้ง บางรายก็ขยับขยายสร้างห้องพักให้นักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสบรรยากาศ หรือพักผ่อนหลีกหนีจากสภาพแวดล้อมเดิม ๆ เปิดเป็น ฟาร์มสเตย์ (Farm stay) ในหลายภูมิภาคของประเทศ

การท่องเที่ยวแบบ Farm stay ที่ทำให้ผู้มาเยือนได้รับประสบการณ์ สัมผัสสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน หรือเพิ่มพูนประสบการณ์ ได้มีส่วนร่วม เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิตเชิงเกษตรกรรมและวัฒนธรรมชุมชน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ตลอดจนเรียนรู้ธรรมชาติและการดูแลสิ่งแวดล้อม Farm stay ในประเทศญี่ปุ่นได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ด้วยรูปแบบที่คนในชุมชนร่วมไม้ร่วมมือกันเปิดชุมชนตัวเองเป็นฟาร์มสเตย์ ใช้จุดแข็งของชุมชนเช่น ธรรมชาติที่สมบูรณ์ วิถีชีวิตดั้งเดิม สร้างสรรค์กิจกรรมเหมือนที่เราได้เห็นในการ์ตูนหรือหนังญี่ปุ่น ให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองใช้ชีวิตแบบคนญี่ปุ่นในชนบท นำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาทำอาหารให้กิน เดินสำรวจป่า ปิกนิกในป่าหรือข้างนาข้าว ขี่จักรยานวนรอบภูเขา ทำกิจกรรมในหมู่บ้านอย่าง เกี่ยวข้าวร่วมกับชาวบ้าน หรือเก็บผลผลิตในชุมชน สำรวจพูดคุยกับคนในชุมชน ชมธรรมชาติริมแม่น้ำลำคลองที่ไหลผ่านชุมชน แช่ตัวในบ่อน้ำร้อน หรือแม้แต่นอนดูดาว กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพ ทั้งทางกายและทางจิตใจ ฟาร์มสเตย์ในประเทศญี่ปุ่นจึงได้รับความสนใจทั้งจากคนญี่ปุ่นเองและนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลก ที่อยากจะได้สัมผัสวิถีชีวิตสไลว์ไลฟ์แบบชาวอาทิตย์อุทัย

จากแผนการพัฒนาและส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนานาชาติ 10 ปี (พ.ศ.2559-2568) การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical & Wellness), โปรแกรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health Promotion Tourism), การท่องเที่ยวเชิงเกษตรสุขภาพ (Tourism Agriculture Health) และ Farm stay for Health จึงได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ โดยชูจุดเด่นให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้วิถีเกษตรกรรมควบคู่กับการดูแลสุขภาพ มีส่วนร่วมในกิจกรรม เยี่ยมชมแหล่งการทำเกษตรกรรมธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ฯ การปลูกผักพื้นบ้านปลอดสารพิษ เรียนรู้ภูมิปัญญาไทยในการทำเกษตรยั่งยืน ได้พบปะพูดคุยกับ

ปราชญ์ชาวบ้าน การอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นและหมอพื้นบ้าน อาหารสมุนไพรไร้พิษและแคลอรี่ต่ำ เครื่องดื่มสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ การนวดแผนไทย การอบสมุนไพรเพื่อบำบัดรักษาโรคและบำรุงรักษาสุขภาพ การสำรวจชุมชน พื้นที่สีเขียวภายในชุมชน การปั่นจักรยานชื่นชมธรรมชาติในชุมชน เพื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดการเรียนรู้ด้านเกษตรเชิงสุขภาพ วิถีการดำรงชีวิตของชุมชน วัฒนธรรม ประเพณี และส่งเสริมสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจของนักท่องเที่ยว

เห็นได้ว่า ชุมชนท้องถิ่นในประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาสู่การจัดการท่องเที่ยวแบบ Farm stay for Health ด้วยทุนทางภูมินิเวศ ทุนทางสังคม ทุนทางภูมิปัญญา ชุมชนได้มีการเชื่อมโยงทุกภาคส่วนร่วมกัน

  1. อิงธรรมชาติที่มีอยู่เดิม – สำรวจชุมชนของตนเอง สวน ไร่ ท้องนา คอกสัตว์ บ่อเลี้ยงปลา ห้วย หนอง
    ภูเขา ป่าชุมชน อิงความเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องเสริมแต่ง แต่หาแนวทางปรับปรุงให้ดีขึ้น สะอาด สะดวก ปลอดภัย
  2. รู้จัก ลึกซึ้ง และเข้าใจชุมชนอย่างแท้จริง – ทุกคนในชุมชนสามารถบอกเล่าเรื่องราว (Story) ของชุมชนได้อย่างถูกต้องและน่าสนใจ
  3. ออกแบบกิจกรรมที่ดึงดูด และหลากหลาย – กิจกรรมต้องตอบสนองความต้องการ น่าสนใจ สามารถต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ทุกเพศทุกวัย ทุกช่วงฤดูกาล เช่น ปั่นจักรยานชมสวนผลไม้ ร่วมดำนา/ เกี่ยวข้าวกับชุมชน ร่วมปลูกต้นไม้ในป่าชุมชน อาบน้ำแร่ พอกโคลน กิจกรรมการแปรรูปผลผลิตต่างๆ ในชุมชน การทำอาหารพื้นบ้านจากผลผลิตในชุมชน การทำลูกประคบ การทำปุ๋ยหมัก เป็นต้น
  4. หาเอกลักษณ์ของตนเองให้เจอ – หาจุดเด่น, อัตลักษณ์ หรือแม้แต่นวัตกรรมของชุมชนให้เจอ เพื่อออกแบบการบริหารจัดการที่มีทิศทางชัดเจน และสร้างความประทับใจแก่ผู้เยี่ยมชม
  5. ถูกกฎ ได้คุณภาพ – ออกแบบจัดการการท่องเที่ยวให้ถูกต้องตามกฎหมาย และเกณฑ์คุณภาพที่พักแบบฟาร์มสเตย์เชิงสุขภาพ Farm stay for Health ของกรมการท่องเที่ยว (เปิดดูได้จาก https://anyflip.com/pflor/pnrq/basic)
  6. ร้อยเรื่องราวและชุมชนเป็นหนึ่งเดียว – ชุมชนต้องมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกัน พัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ถ่ายทอดวิถีชีวิตการทำเกษตรกรรมเพื่อสุขภาพ การจำหน่ายผลผลิตชุมชน ผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ ให้เกิดการกระจายรายได้ รวมถึงการดูแลจัดการของเสียที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวให้น้อยที่สุด เพื่อสร้างความยั่งยืนกับชุมชน
  7. ฟังเสียงธรรมชาติและคนรอบข้างเสมอ – รับฟังความคิดเห็นทั้งจากผู้มาท่องเที่ยวและคนในชุมชน เพื่อนำข้อมูลมาพัฒนา แต่ต้องไม่ลืมว่าการปรับและเปลี่ยน ต้องไม่ทิ้งความเป็นตัวเอง ไม่กระทบต่อสมดุลธรรมชาติ และคงเสน่ห์ของชุมชน

การจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรสุขภาพ Farm stay for Health สิ่งสำคัญคือชุมชนและนักท่องเที่ยวต้องมีส่วนร่วมในการจัดการ การสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อการส่งเสริมและรักษาสุขภาพ ทางกาย สุขภาพทางจิต เพิ่มพูนพละกำลัง ปรับสภาพจิตใจ หรือการบำบัด รักษาฟื้นฟูสุขภาพ เรียนรู้การใช้พลังธรรมชาติมาบำบัดสร้างสุขภาพให้แข็งแรง ภายใต้ความเคารพต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และภูมิปัญญาชุมชน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง

ข้อมูลอ้างอิง

  • สุรีย์ จันทรโมล, วิราสิริริ์ วสีวีรสิว, ทิพย์สุคนธ์ ศรีลาธรรม และศิริวรรณ วิเศษแก้ว, บทความเรื่อง “การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการทรัพยากรและสิ่ งแวดล้อมการท่องเที่ ยวเชิงเกษตร สุขภาพ อำาเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี”
  • dashmv.com, “Farm Stay ที่พักแบบเชิงสุขภาพ ธุรกิจใหม่สำหรับคนรักธรรมชาติ”
  • kasetgo.com, “เกษตรกรอยากเปิดสวนเปิดไร่ทำฟาร์มสเตย์ต้องเริ่มอย่างไร? อ่านเลยที่นี่
  • scb.co.th, “‘ฟาร์มสเตย์’ ฝันธุรกิจที่ท้าทายของผู้มีใจเสิร์ฟธรรมชาติ”
  • travel.marumura.com, “ฟาร์มสเตย์ลับที่เกียวโตกับโมเดลการรวมตัวกันของคนในหมู่บ้านเปิดฟาร์มสเตย์”

Share this post