Creative Tourism “การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์”

เที่ยวไป กินไปแบบ “Gastronomy Tourism” โอกาสของชุมชน

ถ้าพูดถึง Gastronomy Tourism หลายคนอาจจะงงกับชื่อนี้ แต่ถ้าเป็น “การท่องเที่ยวเชิงอาหาร”, “Food Tourism” หรือ “การท่องเที่ยวแบบเที่ยวไปชิมไป” ก็อาจจะร้องอ๋อ! ..ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไรก็ตาม แต่เราเชื่อว่า ในทุกๆ การเดินทางท่องเที่ยว นอกจากการได้ไปเห็นธรรมชาติที่สวยงาม บ้านเมืองที่มีวัฒนธรรมที่แตกต่าง การสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ อีกสิ่งที่เราต่างมองหานั่นคือ ของกินอร่อยๆ หรืออาหารพื้นเมืองที่ไม่เคยลิ้มลอง โดยเฉพาะประเทศไทยหนึ่งในเมืองที่มีชื่อเสียงด้านอาหารอันดับต้นๆ ของโลก ที่มีอาหารอร่อยๆ ในทุกภูมิภาค

.

การท่องเที่ยวเชิงอาหาร “Gastronomy Tourism” เป็นเทรนด์การท่องเที่ยวที่มาแรงในช่วง 5-10 ปีนี้ จากการเปิดเผยข้อมูลของศูนย์วิจัยบารามีซี่ แล็บ องค์กรช่วยเหลือภาคธุรกิจในการค้นหาไอเดียต่อยอดบอกว่า นักท่องเที่ยวมากถึงร้อยละ 53 เลือกที่เที่ยวจากอาหารและเครื่องดื่ม แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การท่องเที่ยวลักษณะนี้ก็ยังคงได้รับความนิยมเสมอมา ประกอบกับนักท่องเที่ยวยุคใหม่ให้ความสนใจกับการท่องเที่ยวในสถานที่เที่ยวใหม่ๆ ที่ยังไม่มีใครไปถึง (Off the Beaten Path) ในขณะเดียวกันก็เสาะแสวงหาอาหารท้องถิ่นที่มีความแปลกใหม่ รสชาติแตกต่างแต่ละพื้นที่ ทั้งยังชอบเสพเรื่องราว (Story) และค้นหาความสามารถของตัวเองผ่านการเรียนรู้ร่วมกับคนในท้องถิ่น รวมถึงร่วมสนับสนุนสินค้าชุมชนโดยตรง

Gastronomy Tourism ยังสอดรับการแนวคิด Creative Tourism (การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์) ที่ให้ภูมิชุมชน ภูมิปัญญา วัฒนธรรม วิถีชีวิตท้องถิ่น มาสร้างสรรค์คุณค่า ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาสร้างความผูกพันกับชุมชน เรียนรู้วัฒนธรรมอาหารอย่างลึกซึ้ง การได้กินอาหารตามวิถีถิ่นนับเป็นสเน่ห์ของนักท่องเที่ยวยุคใหม่ที่นิยมแชร์ประสบการณ์ผ่านโซเชียลมีเดีย “วิถีเข้าใจกิน เข้าใจถิ่น” จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

“การท่องเที่ยวเชิงอาหาร” มีคุณค่ามากกว่าแค่การดื่มกินอาหารเด็ดเมนูดังตามแหล่งท่องเที่ยว แต่ยังครอบคลุมไปถึงการผลิต เช่น การท่องเที่ยวเชิงเกษตร, เยี่ยมชมแหล่งผลิตแบบพื้นถิ่น ไปจนถึงขั้นหลังการบริโภค เช่น การผลิตสินค้าที่ระลึกเพิ่มมูลค่า หรือแม้แต่การจัดการเศษอาหารเหลือทิ้ง เสาหลักของการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ประกอบไปด้วย

  1. Farming System – เริ่มต้นจากแหล่งกำเนิดอาหาร แปลงผัก สวนผลไม้ ไร่ สวน หรือท้องนา ในแนวทางเกษตรปลอดภัย สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของอาหารต่อสุขภาพและการกินดีมีสุข
  2. Story of Food – คุณค่าของเรื่องราวเบื้องหลังที่ทำให้คุณค่าของอาหารแต่ละจานโดดเด่นและเป็นที่จดจำ อาหารหนึ่งจานรวบรวมเรื่องราวมรดกภูมิปัญญา ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมการกิน วิธีการนำเสนออาหาร ล้วนแต่เป็นการสร้างสรรค์ความดื่มด่ำให้เกิดการลิ้มรสอาหาร อาหารจึงเป็นมากกว่าอาหารเสมอ
  3. Creative Industries – อุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นทุนมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องกับอาหารได้ทั้งสิ้น เพราะการนำเสนออาหารเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่สะท้อนวิถีชีวิต รสนิยม และทิศทางของอาหารตามยุคสมัย นับตั้งแต่ภาชนะที่ใส่อาหาร ไปจนถึงนวัตกรรมด้านอาหาร รางวัลด้านอาหาร ดนตรี การแสดง วรรณกรรม ที่ล้วนสามารถทำให้อรรถรสของอาหารเป็นได้มากกว่าอิ่มท้อง แต่สร้างสรรค์ให้อิ่มสมอง อิ่มตา และอิ่มใจ
  4. Sustainable Tourism – ผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนฐานของการท่องเที่ยว อนุรักษ์ ส่งเสริมเรื่องราวท้องถิ่น ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบท้องถิ่น เพื่อสร้างโอกาสให้เกิดความคงอยู่ของความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดการเศษอาหารเหลือทิ้ง คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การปกป้องมรดกทางอาหารของท้องถิ่น ให้อาหารเป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่ เปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวอย่างลึกซึ้งและยั่งยืนแก่ผู้มาเยือน

วัฒนธรรมอาหารไม่มีวันหายไปจากโลกของเรา การกินอาหารเป็นเรื่องพื้นฐานของคนทั้งโลก การท่องเที่ยว
เทรนด์นี้จังไม่ใช่แค่การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนเท่านั้น หากแต่ทุกเมนูทุกคำที่กินเข้าไปจะช่วยพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) วงการอาหารให้ยั่งยืน การอนุรักษ์เมนูท้องถิ่น ส่วนประกอบดั้งเดิมที่หาได้ในชุมชน ก็เป็นการรักษาซัพพลายเชนของเมนูนั้นๆ ไม่ให้สูญหาย ยิ่งหากได้คนรุ่นใหม่ที่เข้าใจวัฒนธรรมการกินของชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น รู้จักการเล่าสตรอรี่ รู้จักการใช้แพลตฟอร์มต่างๆ มาช่วยสร้าง Movement ให้กับชุมชน สร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยว สนับสนุนให้ระบบนิเวศทางการท่องเที่ยวและการกินเติบโตไปพร้อมๆ กัน ความสุขเชิงสร้างสรรค์ในทุกมิติอาจเกิดขึ้น เมนูชุมชนที่สะท้อนเรื่องราว สะท้อนวิถีชีวิต สะท้อนสังคม อาจยกระดับจากเมนูพื้นบ้านสู่เมนูมีระดับ (Fine Dining) ในอนาคตก็ได้

ข้อมูลอ้างอิง

Ngthai.com, “Gastronomy : การท่องเที่ยวเชิงอาหาร”

onceinlife.co, “เที่ยวไป กินไป ทำไมไม่เคยเอาท์”

bangkokbanksme.com, “Food Tourism กินเพื่อเข้าใจวิถีพื้นเมือง”

Share this post