“CEIS โมเดล” โมเดลออกแบบโครงการพัฒนาชุมชน ให้เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ
หากเราจะสังเคราะห์ความรู้ใด ๆ ก็ตามที่เกิดจากการทำงาน ขอให้นึกภาพกระบวนการ ขั้นตอนเหล่านี้ให้ออก มององค์ประกอบ และเชื่อมโยงกัน ก็จะช่วยให้เราสามารถสังเคราะห์องค์ความรู้ออกมาเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์การพัฒนาได้ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม
โมเดลเหล่านี้เกิดจากการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ซึ่ง Action Research คือการสร้างความรู้ใหม่ให้เกิดประโยชน์ต่อการทำงาน และความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่เป็นความรู้ที่เกิดจากการกระทำ ทำแล้วเกิดเป็นบทเรียน แต่การจะลงมือทำนั้น จะไปทำเลยก็คงไม่ได้ คนที่ทำอะไรโดยที่ไม่คิด ไม่วางแผน ก็จะมีโอกาสใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง รวมถึงใช้เวลาสิ้นเปลืองมาก ดังนั้นการออกแบบโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงาน เจ้าหน้าที่โครงการ จะเป็นสเกลเล็ก หรือใหญ่ ก็สามารถนำโมเดลนี้ไปใช้ได้ ซึ่งในแต่ละสเกลก็จะให้ผลที่แตกต่างกัน ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มทำโครงการใด ๆ ก็ตาม ควรมีขั้นตอนดังนี้
“ออกแบบ” หมายถึง เราต้องจินตนาการเป้าหมายก่อน เป้าหมายตรงนี้อาจจะเรียกว่า ผลลัพธ์ หรือ ทฤษฎีใหม่ ความรู้ใหม่ก็ได้ ซึ่งในการออกแบบนี้ ก็ต้องวางแผน วิเคราะห์ ให้รอบด้าน ดังนี้
- พัฒนารูปแบบ และกระบวนการทำงาน + พัฒนากิจกรรม / โครงการ ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้งการออกแบบกิจกรรม (Activity) และกระบวนการทำงาน (Process) จะผสมกันอยู่ และจะเนินการไปด้วยกัน หลังจากที่ออกแบบกิจกรรมแล้ว จึงเข้าสู่ การออกแบบกระบวนการทำงาน กระบวนการนี้คือ การทำอย่างไรให้กิจกรรมที่ออกแบบนั้นสามารถดำเนินไปได้ และมี ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมที่ได้ออกแบบไว้ ดังนั้น เราจึงจะต้องมองเห็นเป้าหมาย และออกแบบมาได้ดี ละเอียด ครอบคลุม ทุกด้าน ก็จะทำให้งานนั้นออกมาสำเร็จ
- การสนับสนุนจากภายใน
- การสนับสนุนจากภายในคือ พลังของคนในชุมชน การ Empower คนในชุมชน และทุนต่าง ๆ ที่มีในชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชน หรือแม้ระทั่งแรงงาน ความรู้ ความสามารถ เงินทุน หรือภูมิปัญญาที่มีในชุมชน เป็นต้น
- การสนับสนุนจากภายนอก
- การออกแบบที่ดีจะต้องนึกถึงการได้รับการสนับสนุนจากภายนอกด้วย เช่น หน่วยในพื้นที่ ที่เขาจะสามารถสนับสนุนเรื่องวิชาการ ทุน หรือแม้กระทั่งนโยบายทางกฎหมาย อบต. อบจ. มหาวิทยาลัย กระทรวงเกษตร เป็นต้น
ถ้าคิดได้อย่างละเอียด ทั้งการพัฒนารูปแบบ และกระบวนการทำงาน และพัฒนากิจกรรม / โครงการ ซึ่งคนที่มีประสบการณ์มาก ได้อ่านเยอะ ทำเยอะ เห็นเยอะ ก็จะสามารถคิดกิจกรรมที่มีความหลากหลายได้ เพราะฉะนั้น “ขั้นตอนการออกแบบ” เราต้องศึกษางานให้ท่องแท้อยู่ตลอดเวลา เหมือนกับการทำวิจัย ที่เราต้องทำ Literature review ศึกษาทั้งเรื่องทฤษฎี ปฏิบัติการ หรือเคสตัวอย่างทั้งที่ประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลว แล้วผลที่สำเร็จ หรือล้มเหลวนั้น ก็ต้องดูว่ามีเงื่อนไข หรือปัจจัยอะไร เราถึงจะสามารถนำมาออกแบบกิจกรรม และกระบวนการในพื้นที่ได้
“ทดสอบ” หลังจากที่เราออกแบบรูปแบบ กระบวนการทำงาน รวมถึงโครงการ และกิจกรรมต่าง ๆ แล้วก็ถึงเวลาที่จะนำสิ่งที่เราออกแบบนั้นมา Action หรือ “ปฏิบัติการในพื้นที่เป้าหมาย”
“ตรวจทาน / ถอดบทเรียน / สรุปผล”
- สังเคราะห์ผลที่เกิดขึ้นจากการทำงานเป็นระยะ ๆ ระหว่างที่ปฏิบัติการในพื้นที่เป้าหมาย ก็ต้องพยายามตรวจสอบ ถอดบทเรียน ทั้งในส่วนที่ดีอยู่แล้ว หรือในส่วนที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติมและสรุปผลระหว่างทำกิจกรรมตลอดเวลา เพื่อที่เราจะได้นำมาปรับปรุงงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
- เสนอผลลัพธ์แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผลที่เกิดขึ้นจะต้องมีการสรุป รายงาน และประชุมร่วมกันอยู่อย่างสม่ำเสมอไม่ว่าจะเป็น ทีมทำงาน ชุมชน หน่วยงาน ผู้ให้ทุน หรือ Stakeholder
ที่เกี่ยวข้องในกิจกรรม หรือโครงการก็ตาม
“เกิดทฤษฎีใหม่” (Grounded Theory)
การเกิดผล หรือเกิดทฤษฎีใหม่นี้ มาจากการที่เราได้มีการตรวจสอบ ตรวจทาน ถอดบทเรียนการทำงานกันเป็นระยะ ๆ ซึ่งจะทำให้เราได้ชุดองค์ความรู้ใหม่ ๆ จากการทำงานที่เกิดขึ้น หากทำออกมาได้ดีก็จะกลายเป็นชุดข้อมูลที่มีประโยชน์ บางข้อมูลอาจจะสามารถใช้เป็นข้อเสนอในเชิงนโยบาย บางอย่างก็สามารถเผยแพร่ความรู้ได้ในวงกว้าง
ตัวอย่างการใช้ “CEIS โมเดล” “ห้องเรียนสุขภาพผู้สูงอายุ” ในพื้นที่ปฏิบัติการภาคใต้ ชุมชนบ้านเขาน้อย อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล
ขั้น “ออกแบบ” : ทำอย่างไรที่จะให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดี? ปลายทางและผลที่ต้องได้รับคือ “ผู้สูงอายุต้องมีสุขภาพที่ดี” เวลาที่จะออกแบบ หรือจะปฏิบัติการในพื้นที่ จะต้องนึกถึงว่า ถ้าหากจะให้เกิดการปฏิบัติการที่ดี ส่งผลที่ดี จะต้องทำอะไรบ้างในรอบ 1 ปี
- พัฒนากิจกรรม / โครงการ + พัฒนารูปแบบ และกระบวนการทำงาน
- ออกแบบกิจกรรม / โครงการ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดี ทีมสนามภาคใต้จึงได้คิดกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในชุมชน เช่น กิจกรรมการสร้างความรู้ กิจกรรมปลูกผักกินเอง พัฒนาเส้นทางสายสุขภาพ (ถนนรอบหมู่บ้าน) สำหรับผู้สูงอายุ กิจกรรมเติมความรู้เรื่องอาหารท้องถิ่นเพื่อสุขภาพ การกินอาหารให้เป็นยา หรือการใช้สมุนไพรในชุมชน
- ออกแบบกระบวนการทำงาน เช่น “ห้องเรียนสุขภาพ” ทุกวันเสาร์ จะมีการอบรมเติมความรู้จากโรงพยาบาลควนโดน และ รพ.สต. ย่ายซื่อ ทั้งเรื่องการกิน การออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังมีการตรวจสุขภาพก่อน และ จบหลักสูตรห้องเรียน และตรวจทุกสัปดาห์ที่มีห้องเรียน ซึ่งจะตรวจความดัน รอบเอว และน้ำหนัก เรื่องอาหาร จัดให้มีการอบรมเติมความรู้โดย รพ.สต. ย่านซื่อ ในเรื่องอาหารการกินที่มีประโยชน์ เรื่องการออกกำลังกาย จัดกิจกรรมเดิน-วิ่งถนนสายสุขภาพเพื่อให้ผู้สูงอายุออกกำลังกาย และจัดอบรมเติมความรู้โดยให้คุณหมอผู้เชี่ยวชาญมาสอนท่าออกกำลังกายง่าย ๆ เรื่องการใช้สมุนไพร จัดอบรมการลูกประคบสมุนไพรที่สามารถใช้ได้ในครอบครัว เป็นต้น
- การสนับสนุนจากภายใน
- คนในชุมชนบ้านเขาน้อย ที่มาทำกิจกรรมร่วมกันทั้ง 3 เดือน 36 ชั่วโมง
- คนในชุมชนที่ทำอาหารว่าง และเบรกเลี้ยงผู้เข้าร่วม
- คนในชุมชนที่เป็นอาสาช่วยตรวจสุขภาพ
- มัสยิดในชุมชน
- การสนับสนุนจากภายนอก
- โครงการพลังชุมชน และนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน
- องค์การบริหารส่วนตำบลย่านซื่อ
- โรงพยาบาลควนโดน
- รพ.สต. ย่ายซื่อ
- สมาคมวัฒนาพลเมือง
ขั้น “ทดสอบ”
ปฏิบัติการ “ห้องเรียนสุขภาพผู้สูงอายุ” ในพื้นที่เป้าหมาย
ขั้น “ตรวจทาน / ถอดบทเรียน / สรุปผล”
- ตรวจทาน
- ผู้เข้าร่วม ในช่วงแรกต้องมีการแจ้งเตือน และประชาสัมพันธ์ผ่านกลุ่ม หรือผ่านผู้นำชุมชน
หลังจากผ่านไป 1 เดือน มีสมาชิกเพิ่มขึ้น จากการบอกต่อ
- ตรวสอบความพึงพอใจ ในแต่ละสัปดาห์ที่เข้าร่วมกิจกรรม โดยการพูดคุย และติดสติ๊กเกอร์แทนความรู้สึก
- หลักสูตรในห้องเรียนสุขภาพ อยู่ในความสนใจ และผู้สูงอายุสามารถทำได้
- ถอดบทเรียน
- มีการนำความรู้ไปใช้จริงในครอบครัว
- ชอบการปฏิบัติ หยิบ จับ และชอบออกกำลังการมากกว่าการให้ความรู้เชิงวิชาการแต่เพียงอย่างเดียว
- การสรุปบทเรียนอย่างต่อเนื่องทั้งทีมงาน และหน่วยงาน จะช่วยพัฒนา และเห็นความต้องการของผู้สูงได้ถูกจุด
- กิจกรรมต้องไม่เหนื่อยมากเกินไป เพราะมีผู้สูงอายุมีข้อจำกัดในเรื่องของสุขภาพ ร่างกาย
- เวลาในการทำกิจกรรม ต้องอิงเวลาที่ชุมชนสะดวก
- สรุปผล
- ผลการตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ 74% มีสุขภาพดี ปลอดภัยจากโรค NCDS
- ผู้สูงอายุสามารถนำความรู้เอาไปใช้ได้จริงในครอบครัว และถ่ายทอดความรู้ให้กับเพื่อนบ้าน ตลอดจนช่วยดูแลเพื่อนบ้านได้
- เกิดชมรมผู้สูงอายุ และมีคณะทำงานที่ชัดเจนในชุมชน
- เกิดกองทุนผู้สูงอายุ “ฟีซาบีลินละห์” การบริจาคที่ไม่หวังผลตอบแทน ที่ช่วยเหลือเพื่อนในชุมชน
- เกิดสังคมผู้สูงอายุ ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สนุกสนาน ได้เจอเพื่อน ๆ ที่ไม่ได้เจอกันนาน
“เกิดทฤษฎีใหม่” (Grounded Theory)
- เกิดความร่วมมือจากหน่วยงานหลาย ๆ ในท้องถิ่น ที่ทำให้เห็นความร่วมมือของคน
ในชุมชน และเป็นเกิดเป็นห้องเรียนที่จัดต่อเนื่องถึงปัจจุบัน - เกิดทักษะใหม่ ๆ และแนวทางการทำอาชีพใหม่ ๆ ของคนในชุมชน เช่น ทำลูกประคบ
ยาดม - ผู้สูงอายุเกิดความภูมิใจในตัวเอง รู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง ผู้สูงอายุมีบทบาทในชุมชน และในสังคมมากขึ้น จากการได้เรียนรู้ จากการทำกิจกรรม และสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้
- เกิดความร่วมมือระหว่างหมู่ 12 ตำบลฉลุง กับ หมู่ 3 ตำบลย่านซื่อ และขยายองค์ความรู้เรื่องห้องเรียนสุขภาพ และชมรม ผู้สูงอายุในหมู่ 12 ตำบลฉลุง ด้วยเหมือนกัน
ออกแบบโมเดล และเขียนบทความโดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา
หัวหน้าโครงการพลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (CEIS)