ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในป่ามีสมุนไพร

ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในป่ามีสมุนไพร

มาตามปราญช์ชุมชนสำรวจสมุนไพรพื้นบ้านในป่าชุมชน ที่ป่าภูมิรักษ์ บ้านห้วยยาง อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น เพื่อสำรวจความมั่นคงอาหารทางอาหารที่ยั่งยืน เพราะชุมชนในหมู่บ้านสามารถเข้าถึงอาหารได้โดยไม่ขาดแคลน ปลอดภัย คุณค่าทางโภชนาการ และเหมะสมกับท้องถิ่นตอบสนองต่อความต้องการ เพียงพอต่อการบริโภคเพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงและมีจิตใจที่สดใสเบิกบาน

“สมุนไพรในป่า ถ้าเรารู้วิธีใช้ มันก็ดีทั้งนั้นแหละ”

“สมุนไพรในป่า ถ้าเรารู้วิธีใช้ มันก็ดีทั้งนั้นแหละ” พ่อดม ปราชญ์สมุนไพรพื้นบ้านวัย 70 แห่ง ได้ถูกเชิญมาออกทริป “เดินป่าตามล่า หาสมุนไพร” กับทีม CEIS โครงการพลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ในป่าภูมิรักษ์ ป่าชุมชนที่ทุกคนในหมู่บ้านสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นหาพืชสมุนไพรไปต้ม ไปดื่ม ไปรักษาโรค หรือจะเข้ามาหาพันธุ์กล้าไม้เพื่อไปเพาะขายสร้างรายได้ ก็ไม่ว่ากัน

หลังจากเดินเข้าป่ามาสักพัก พ่อดมก็ก้ม ๆ เงย ๆ แล้วหยิบใบไม้ ต้นไม้ ขึ้นมาสอง สาม ชนิด และถามเราว่า อันนี้คือ “หญ้ารีแพร์” นะ รู้จักไหม? ไม่ต้องไปซื้อแบบแพง ๆ มาหาในป่าเอาไปตากแห้ง ต้มอาบ หรือเอาไปอบผิวก็ได้ พวกผู้หญิงเขาชอบใช้กัน

อันนี้ก็กินได้นะ “ต้นมันปู” พอมันมีหมาก หรือ ผล จะมีสีเหลือง เก็บกินได้เลย รสชาติมันจะหวาน ๆ

พวกเราตื่นตาตื่นใจ และสนุกสนานมาก ๆ จากการถามพ่อดมแบบเจ้าหนูจำไม และชี้ถามชื่อสมุนไพรไปเรื่อยเปื่อย แต่พ่อดมไม่มีทีท่าว่าจะรำคาญแต่อย่างใด พ่อดมยังคงให้คำตอบที่ฉะฉาน และบอกสรรพคุณ รวมถึงวิธีการใช้เสร็จสรรพ

“พ่อดม” ปราชญ์ที่ใช้ชีวิตอยู่กับสมุนไพรตั้งแต่ ป.3 ตอนนั้นอายุคงจะประมาณ 10 ขวบ พอเวลาคุณครูจะขึ้นเขาไปเก็บสมุนไพรก็อาสาตามไปด้วย พ่อบอกว่าตอนนั้นใช้วิธีการครูพักลักจำ และถามเอา เก็บสะสมความรู้มาเรื่อยๆ

วันนี้เราเดินป่าตั้งแต่เช้า ถึงเย็น ป่าชุมชนแห่งนี้พื้นที่ไม่กว้างมาก ทำให้พวกเราสามารถเดินสำรวจวันเดียวก็เสร็จ แต่สิ่งที่ได้เห็นคือความอุดมสมบูรณ์ และพันธุ์ไม้ที่หลากหลาย เห็นถึงการดูแลป่าที่ชุมชนได้สร้างเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ป่าที่สามารถสร้างประโยชน์ได้ ทั้งในด้านมูลค่าจนเกิดเป็นป่าสมุนไพร หรือเป็นพื้นที่เรียนรู้สมุนไพรของชุมชน ส่งต่อความรู้ไปสู่รุ่นลูกรุ่น หลานได้

Share this post