เรื่องเล่าจากจานอาหาร ตอน : “แกงมะยุมะยะ” ภูมิปัญญาเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน
หากใครเป็นเด็กยุค 90 หรือชอบฟังเพลงย้อนยุค อาจจะเคยฟังเพลงชองวงดนตรีเพื่อชีวิตในตำนานของไทย วงคาราบาว เนื้อหาสะท้อนนโยบายรัฐในช่วงปี 2530 ที่จะเปลี่ยนแปลงภาคอีสานผ่านวาทะกรรมจาก “บักเสี่ยว” เป็น “บิ๊กเสี่ยว” ที่เนื้อเพลงเปิดตัวด้วยประโยคอมตะจนถึงทุกวันนี้
“อีสานแห้งแล้งมานานนับหลาย ๆ ปี นะพี่นะน้องนี่ไม่ใช่เรื่องโกหก” สร้างภาพจำให้คนภาคอื่นอย่างผู้เขียน นึกถึงภาคอีสานว่าเป็นภาคที่แห้งแล้งกันดาร “ผืนดินแตกระแหงทุกหย่อมหญ้า” ชาวบ้านต่างขนถังขนปี๊บ “รอรถขนน้ำของกองทัพบก” ที่เข้าไปแจกจ่ายตามหมู่บ้าน ตามภาพข่าวในทีวีที่ได้เห็นทุกข่าวภาคค่ำ
แม้ไม่ใช่คนอีกสาน แต่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปภาคอีสานอยู่เป็นประจำ และเห็นว่าภาคอีสานในยุค 30 กว่าปีหลังโครงการ “อีสานเขียว” ระบบโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) มีความเจริญเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับตอนเดินทางไปในแถบภาคตะวันตก หรือภาคใต้ เมื่อได้คุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนทำให้ได้รู้ว่า ในอดีตป่าไม้ในพื้นที่ภาคอีสานมีสองประเภทใหญ่ ๆ คือ “ป่าหลวง” เป็นป่าไม้ขนาดใหญ่ สภาพรกทึบ มักอยู่ไกลจากชุมชน มีความอุดมสมบูรณ์และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และ “ป่าวัฒนธรรม” เป็นผืนป่าส่วนรวมของชุมชน ที่ได้ร่วมกันกำหนดขอบเขตของป่าเพื่อการดำรงชีพและกรอบประเพณีวัฒนธรรมชาวอีสาน มักเป็นป่าที่อยู่บริเวณรอบชุมชน แม้ขนาดพื้นที่จะไม่ใหญ่มากนัก แต่เป็นป่าที่ชาวชุมชนใช้ประโยชน์ได้เต็มรูปแบบ เช่น ป่าดอนปู่ตา ป่าช้า ป่าทำเลเลี้ยงสัตว์ ป่าวัดป่า เป็นต้น ซึ่งป่าเหล่านี้มักมีความเชื่อผูกโยงกับเรื่อง “ผี” ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึกในพื้นที่ภาคอีสาน
ภาคอีสานเป็นภาคที่มีเสน่ห์ด้วยวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ยังคงอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนที่นี่ หนึ่งในวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์และผู้เขียนชื่นชอบมาก นั่นคือ วัฒนธรรมการกินของคนอีสาน นอกจากเมนูติดระดับโลกอย่าง ส้มตำ ลาบ ก้อย จิ้มจุ่ม ไปจนถึงเมนูสารพัดของปิ้งย่างแล้ว ยังมีเมนูพื้นบ้านอีกมากมายที่ทั้งแปลกทั้งอร่อย ตัวอย่างเช่น แกงไข่ผำ หรือแกงสาหร่ายน้ำจืด, แกงบวน ที่แกงกับน้ำคั้นใบมะตูม ใช้สำหรับบูชาเทพเจ้าในศาสนาพรามณ์, แกงบอน ที่ใช้เลี้ยงในงานบวชนาค เป็นต้น เห็นได้ว่า นอกจากอาหารพื้นบ้านที่ทำกินกันโดยทั่วไปแล้ว ชาวอีสานยังมีเมนูอาหารที่ผูกโยงกับวัฒนธรรมเฉพาะประเพณีอีกด้วย
ผู้เขียนได้มีโอกาสชิมเมนูชื่อเรียกแสนแปลกที่ชื่อ “แกงมะยุมะยะ” หรืออันที่จริงมันก็คือแกงผักรวม (มะยุมะยะ หมายถึง มากมาย, เยอะแยะ, เต็มไปหมด) ที่นำเอาผักชนิดต่างๆ ที่หาได้รอบบ้าน รอบชุมชน ตามฤดูกาล เช่น ผักหวาน ผักบุ้ง ชะอม ผักเสี่ยว ผักเยื่อวัว ผักขม ผักไห่ ยอดมะรุม ผักกูด ผักหนาม ยอดฝักทอง บวบ ยอดพริก บวบหอม มะเขืออ่อน ใบชะอม ใบแมงลัก รวม ๆ กัน มาแกงกับเนื้อสัตว์ที่มีในฤดูกาล เช่น ปลาย่าง กบแห้ง เนื้อย่าง หอยขม หอยตาก ไข่มดแดง ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งฝอย ปูนา หรือจะเป็นเนื้อสัตว์ที่ทำการถนอมอาหารไว้ เช่น เนื้อเค็ม ปลาตากแห้ง ก็ได้ นำมาปรุงเป็นแกงกับ น้ำปลาร้า พริกแห้ง ตะไคร้ หอมแดง
ในอดีต แกงมะยุมะยะ มักนิยมกินเมื่อไปไร่ไปนา ไปสวน มีผักอะไรก็เก็บเอามาแกง ทุบตะไคร้ หอมแดง น้ำปลาร้า ใส่ มีหอย มีปลา ตัวเล็กตัวใหญ่ หรือปลาแห้ง เนื้อแห้ง ก็ใส่ลงไป กินตอนร้อน ๆ ซดน้ำชื่นใจ มีแรงพร้อมทำไร่ทำนา ทำสวน ต่อ
เมนูแกงมะยุมะยะ จึงเป็นเหมือนกุสโลบายให้คนอีสานหาอยู่หากินให้ง่าย ไม่ว่าสภาพดินฟ้าอากาศจะเป็นอย่างไร จะหน้าฝนที่ฝนตกเยอะ ๆ หรือหน้าแล้งแผ่นดินแตกระแหง แต่คนอีสานก็สามารถฝ่าฟันผ่านไปได้ เพราะรู้จักผสมผสาน เรียนรู้ที่จะปรับตัวหากินจากริมรั้ว ริวไร่ริวสวน หรือตามป่าชุมชน นอกจากนี้ วัฒนธรรมการหาอยู่หากินจากริมรั่วริมสวน ริมหนองริมคลอง ยังช่วยให้ลดการใช้สารเคมีในการทำเกษตรอีกด้วย
หากผู้นำชุมชน ผู้บริหารชุมชน มีนโยบายที่สนับสนุนการบริโภคเมนูพื้นบ้านที่หลากหลาย ส่งเสริมให้คนในชุมชนบริโภคพืชพันธุกรรมท้องถิ่น สร้างความมั่นคงทางพันธุกรรมพืช ส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรแบบพึ่งตนเอง เน้นการผลิตเพื่อบริโภคภายในครอบครัวและชุมชนเป็นหลัก กำหนดพื้นที่การใช้ที่ดินทั้งที่ดินสาธารณะ รวมถึงป่าชุมชนอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมและพัฒนาให้คนรุ่นใหม่หันกลับมาทำการเกษตรในชุมชน ในรูปแบบที่สอดคล้องกับยุคสมัย ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ตามนิยามของความมั่นคงทางอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป ก็ย่อมเป็นอีกหนทางที่จะสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับชุมชนให้เกิดขึ้นได้จริง
อาจกล่าวได้ว่าการสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืนนั้น หากชุมชนร่วมกันอย่างเข้มแข็ง ดำรงวัฒนธรรมการสืบทอดและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อาศัยความสัมพันธ์ทางสังคมวัฒนธรรมของชุมชนในการดำรงชีพด้วยการช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้านอาหารและปัจจัยการผลิต ตลอดจนมีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปกปักรักษาดินน้ำป่า ฟื้นฟูรักษาป่าชุมชน ในการรักษาเสถียรภาพความมั่นคงทางอาหารของชุมชน รวมถึงนโยบายของภาครัฐ และท้องถิ่น ที่จะต้องสนับสนุนกิจกรรมทางสังคมในชุมชนให้ดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมดั้งเดิมของท้องถิ่น ส่งเสริมการเกษตรแบบพึ่งตนเองและเป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อม สร้างผู้สืบทอดโดยเฉพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ ร่วมถึงกระตุ้นจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เมนูอาหารการกินในแต่ละภาคแต่ละชุมชนมีความแตกต่างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติ พืชพันธุ์ในแปลงเกษตร ป่าชุมชน แหล่งน้ำ ห้วย หนอง คลอง พื้นที่สาธารณะที่แตกต่างกัน แต่ละชุมชนมีการจัดการ วิธีคิด การคัดเลือก คัดสรร รวมถึงการใช้ภูมิปัญญา ความรู้ในการปรุงหรือแปรรูปอาหาร การวงแผนจัดการทั้งในระดับครัวเรือนและระดับชุมชนจึงมีความสำคัญ เพื่อร่วมกันสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชนให้มีอาหารกินอย่างเพียงพอตลอดปี โดยให้ความสำคัญกับการพึ่งตนเองด้านอาหาร สิทธิในการเข้าถึงฐานทรัพยากรอาหารของชุมชน การเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต และระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน อาหารที่บริโภคที่ปลอดภัย มีโภชนาการ มีตลาดที่เป็นธรรม มีรายได้ที่เพียงพอ มั่นคง และมีส่วนร่วมในการควบคุม ดูแล รวมถึงการสร้างความเป็นธรรมและยั่งยืนในระบบอาหาร