เรื่องเล่าจากจานอาหาร ตอน “ยำปืนนกไส้” กลไกสร้างอาหารยั่งยืนของชุมชน

เรื่องเล่าจากจานอาหาร ตอน “ยำปืนนกไส้” กลไกสร้างอาหารยั่งยืนของชุมชน

เมื่อนึกถึงเชียงใหม่ นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวและธรรมชาติที่งดงาม แทบทุกคนย่อมคิดถึงเมนูเมืองแสนอร่อยอย่าง ข้าวซอย ไส้อั่ว น้ำพริกหนุ่ม แกงฮังเล ไส้อั่ว ลาบดิบ หรือน้ำพริกหนุ่ม และอีกมากมายหลายเมนู ที่ล้วน “ลำขนาด” ใครได้ลองชิมแล้วก็อยากจะได้กินอีกกันแทบทั้งสิ้น ผู้เขียนเองก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ตกหลุมรักเมนูพื้นเมืองของคนเหนือ ถ้าได้ไปเที่ยวก็ไม่พลาดที่จะสั่งกินแทบทุกเมนู

เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนได้มีโอกาสไปจังหวัดเชียงใหม่ แต่ครั้งนี้พิเศษกว่าครั้งก่อนๆ คือ ได้แวะไปเยี่ยมบ้าน “พี่วัล” ลาวัล เบี้ยไธสง ที่ชุมชนสันป่าเปา อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก พี่วัลเป็นประธานศูนย์การเรียนรู้ทางเกษตรอินทรีย์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพืชและเห็ด นอกจากนี้ยังเป็นผู้บุกเบิกและผลักดัน “ตลาดชุมชนสันป่าเปา” ส่งเสริมให้ชาวบ้านในชุมชนที่ปลูกและทำเกษตรอินทรีย์ได้มีสถานที่จำหน่ายผลผลิตในราคาเป็นธรรมกับผู้บริโภค

สันป่าเปา เป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ทำนา ปลูกลำไย มะม่วง และหัตกรรมพื้นบ้าน แต่ในช่วง 4 – 5 ปีมานี้ ชุมชนสันป่าเปาถูกกล่าวถึงในฐานะชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวิถีชุมชนสุขภาพ โดยการถ่ายทอดจิตวิญญาณ วิถีการทำนาแบบดั้งเดิม การปลูกผักอินทรีย์ การปลูกข้าวอินทรีย์ และการทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยได้ออกแบบกิจกรรม การท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้วัฒนธรรม และกระจายรายได้สู่ชุมชนไปด้วยในตัว ทั้งการนั่งรถเที่ยวชมสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน แวะเยี่ยมชมแปลงเกษตรอินทรีย์ และเก็บผักสมุนไพรมาปรุงเป็นอาหารสุขภาพ

เมื่อไปถึงที่บ้านพี่วัล เราได้เห็นว่า รอบๆ บ้านพี่วัลเต็มไปด้วยแปลงผักนานาชนิด ปลูกแบบยกแคร่เพื่อสะดวกในการจัดการแปลงผัก ผักที่เราเห็นมีทั้งผักที่ได้รับความนิยมในตลาด อย่าง ผักเคล (Kale) ผักสลัด (Lettuce) คะน้า กวางตุ้ง ไปจนถึงพริกขี้หนู มะเขือ ถั่วพู ต้นหอม ผักชี และผักพื้นบ้านอย่าง ผักชีลาว ผักกระสัง ที่ปลูกไว้ใกล้กัน หรือบางส่วนปลูกไว้ในแคร่เดียวกัน เพื่อให้กลิ่นของผักที่มีกลิ่นฉุนช่วยไล่แมลงไม่ให้รบกวนผักที่แมลงชอบกินใบ

หากเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว หรือผู้มาศึกษาดูงาน นอกจากจะได้เยี่ยมชมแปลงผักของพี่วัลที่ได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว จะได้มีโอกาสทดลองการปรุงดิน เพาะกล้าผัก ปลูกผักจริงๆ บนแคร่ผัก และเก็บผักเพื่อปรุงอาหารกินบริเวณอาคารศูนย์การเรียนรู้ที่อยู่ข้าง ๆ กัน ตามโปรแกรม “ปลูก – เก็บ – กิน” ชื่อแสนเก๋ ในการยกระดับผลผลิตเกษตรอินทรีย์สู่การทำท่องเที่ยวชุมชน

ในวันที่ผู้เขียนได้ไปเยี่ยมบ้านพี่วัลนั้น มีโอกาสได้เห็นการต้อนรับกลุ่มผู้ศึกษาดูงานจากโครงการ CEIS จากจังหวัดขอนแก่น ที่เป็นกลุ่มผู้ปลูกผัก ที่อยากหาความรู้ และแรงบันดาลใจในการยกระดับการทำเกษตรปลอดภัย สู่เกษตรอินทรีย์ เพื่อผลิตผักไว้ กินเอง จำหน่ายในชุมชน และนำไปจำหน่ายที่ “ตลาดสุขใจ” ภายในโรงพยาบาลเขาสวนกวาง ให้กับผู้สนใจอาหารปลอดภัยอีกด้วย

เมนูอาหารที่พี่วัล และกลุ่มเพียงดินสันป่าเปาเตรียมไว้ให้นั้น เริ่มต้นจากเวลคัมดริ้ง (Welcome drink) “ชากุหลาบ” ที่ใช้กุหลาบมอญแสนสวยปลูกแบบอินทรีย์ผ่านกรรมวิธีสกัดเย็น (Cold Brew) ให้รสชาติหอม สดชื่น สร้างความประทับใจตั้งแต่ได้ทดลองจิบครั้งแรก ต่อกันด้วยการชักชวนให้ผู้ศึกษาดูงานนำต้นหอมที่ได้จากฟาร์มไปปรุงเป็นเมนูพื้นเมืองอย่าง “ไข่ป่าม” ที่เหมือนออมเล็ตปิ้งบนเตาถ่าน เจือความหอมของใบตองไหม้ มีเมนู “ส้มตำ” ที่ใช้วัตถุดิบจากในฟาร์มอินทรีย์ให้ผู้ดูงานได้ปรุงเองตำเอง ปรุงรสตามความชอบ กินคู่กับ “ไก่นึ่งเมือง” หรือไก่นึ่งสมุนไพรสูตรเมืองเหนือ อีกหนึ่งเมนูพื้นบ้านที่หลากหลายด้วยสมุนไพร ทั้ง ขมิ้น ข่า ตะไคร้ กระเทียม รากผักชี หอมแดง ใบมะกรูด ลูกผักชี กะปิ น้ำปลาร้า โขลกเป็นพริกแกง แล้วนำไปทาทั่วตัวไก่ก่อนนำไปนึ่งในซึ้งที่รองด้วยตะไคร้ทุบและใบมะกรูด เป็นเมนูเมืองที่ได้ทั้งรสชาติความอร่อย และกลิ่นสมุนไพรหอมตลบอบอวลไปทั้งครัว

พี่วัลบอกว่า เราจะเลือกเก็บต้นปืนนกไส้ที่กำลังออกดอกตูมใกล้จะบาน โดยเด็ดตั้งแต่ยอดจนถึงใบช่วงบนสามารถนำมาใช้ทำเมนูได้หลากหลาย คนสมัยก่อนก็ใช้กินเป็นอาหาร แต่คนสมัยใหม่ที่เน้นปลูกพืชเศรษฐกิจเป็นหลัก ก็เลยมองว่า ปืนนกไส้ เป็นวัชพืช เป็นพืชที่ต้องทำลายหากขึ้นในไร่ สวน ถูกมองข้าม แต่พี่วัลเชื่อว่า “โลกนี้ไม่มีวัชพืช” และนำเอา ปืนนกไส้ มาประกอบเป็นอาหาร สร้างเอกลักษณ์ให้กับชุมชนสันป่าเปา เป็น “ชุมชนกินวัชพืช” ที่มีให้กินตลอดทั้งปี

เมนู “ยำปืนนกไส้” จะนำเอาใบ กิ่งก้าน และดอกของปืนนกไส้มาลวกน้ำให้สุก นำไปปรุงกับน้ำยาที่ประกอบไปด้วย มะเขือเทศ หัวหอม พริกขี้หนู กระเทียมเจียว ถั่วลิสงคั่ว ปรุงรสกับ เกลือ มะนาว ถั่วเน่าแผ่น พริกแห้งและข่าคั่ว เติมหมูสับต้มเพิ่มโปรตีน ก็ได้เมนู “ยำปืนนกไส้” รสกลมกล่อม กินคู่กับข้าวเหนียวนึ่งร้อนๆ อร่อยเลยทีเดียว แต่หากเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่ถนัดกินยำแบบโบราณ ก็สามารถเอาปืนนกไส้ไปใส่ในมาม่าต้ม เพิ่มคุณค่าทางสารอาหารและความอร่อยได้เหมือนกัน

“ยำปืนนกไส้” อาจไม่ใช่เมนูประเภท Fine dining ที่คนชิคๆ หรือคนติดแกรม จะถ่ายรูปเช็คอิน หรืออัพสตอรี่ แต่การที่ชุมชนให้ความสำคัญและหันกลับมากินวัชพืชอย่าง ปืนนกไส้ เป็นการสร้างกลไกสร้างความมั่นคงทางอาหาร เมื่อชุมชนมองว่าวัชพืชไม่ใช่พืชที่ต้องทำลาย แต่พวกมันมีประโยชน์ใช้เป็นอาหารได้ นอกจากจะเพิ่มปริมาณอาหารในชุมชน ก็ยังเป็นส่วนช่วยให้ชุมชนเลิกใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช เมื่อชุมชนปลอดสารเคมีกำจัดวัชพืช ก็ย่อมเป็นส่วนหนึ่งให้การทำเกษตรกรรมในชุมชนเกิดความปลอดภัยเพิ่มขึ้น อาหารที่ผลิตในชุมชนก็ปลอดภัยจากสารกำจัดวัชพืชไปด้วย

ความมั่นคงทางอาหารไม่ได้จำกัดแค่ปริมาณอาหาร ความสามารถในการเข้าถึงอาหาร แต่หมายรวมถึงคุณภาพ ความปลอดภัยของอาหาร และการปรับตัวหากเกิดความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภัยพิบัติ การปรับเปลี่ยนทัศนคติจากการมองพืชที่ขึ้นมารบกวนพืชเศรษฐกิจจาก “วัชพืช” เป็น “อาหาร” ไม่เพียงแต่เป็นกลไกช่วยให้เกษตรกรหยุดใช้สารเคมีในแปลงเกษตรของตนแล้วนั้น ยังเป็นอีกหนึ่งวิถีการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอานาคต สร้างความมั่นคงทางอาหารให้ชุมชน และสร้างเอกลักษณ์ให้ชุมชนสันป่าเปาเป็น “ชุมชนกินวัชพืช” แบบคูล ๆ น่ากลับไปเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ ๆ

Share this post