เรื่องเล่าจากจานอาหาร ตอน “ซีฟู้ด ประมงพื้นบ้าน” กินตามความเหมาะสม ไม่ผลาญธรรมชาติ

เรื่องเล่าจากจานอาหาร ตอน “ซีฟู้ด ประมงพื้นบ้าน” กินตามความเหมาะสม ไม่ผลาญธรรมชาติ

หากนึกถึงแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงของไทย หลายคนคงนึกถึง ภูเก็ต สมุย หรือกระบี่ แต่หากพูดถึงเมือง “หาดทรายสวยสี่ร้อยลี้” หลายคนอาจคิ้วขมวดสงสัยว่ามันคือที่ไหน ผู้เขียนหมายถึง จังหวัดชุมพร เมืองที่เป็นประตูสู่ภาคใต้ของไทย ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ อากาศบริสุทธิ์ปราศจากโรงงานอุตสาหกรรม มีเกาะแก่งและโลกใต้ท้องทะเลที่สวยงาม และหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่หากใครได้แวะเวียนมาสักครั้งก็ย่อมประทับใจ นั่นคือ หาดทุ่งวัวแล่น ชายหาดขาวสะอาด หากเราเปลือยเท้าเปล่าเดินย่างบนหาดทรายขาวที่ทอดตัวยาวนี้ จะสัมผัสได้ถึงความบริสุทธิ์ของเม็ดทราย และเสียงเท้าที่เสียดสีกับทรายขาวละเอียดในทุกครั้งที่ก้าวไปบนผืนทรายแห่งนี้

แม่อนงค์ หรือนามปากกาของบรมครูทางงานเขียน มาลัย ชูพินิจ เคยบรรยายถึงความงดงามของหาดทุ่งวัวแล่นไว้ในนวนิยายสุดคลาสสิคอย่าง “แผ่นดินของเรา” ที่จนถึงทุกวันนี้ แม้หาดทุ่งวัวแล่นจะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยที่พักและร้านอาหารมากมาย ต่างยุคสมัยของ คุณอาธำรง และภัคคินี จากเรื่องแผ่นดินของเราแต่ความงามก็ชายดาหแห่งนี้ก็แทบไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด

ผู้เขียนได้มีโอกาสกลับไปชมความงามของหาดทุ่งวัวแล่นอีกครั้ง และได้แวะไปยัง ชุมพร คาบาน่า รีสอร์ท ภายในพื้นที่รีสอร์ทเป็นที่ตั้งของ ร้านอาหารยักษ์กะโจน ร้านอาหารของ “ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม” ที่ก่อตั้งโดย โจน จันได และได้ลิ้มลองอาหารทะเลสดใหม่ รสชาติถูกปาก ที่ใช้วัตถุดิบอินทรีย์จากเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติและไม่ใช้ผงชูรสในการปรุง

หากพูดถึงเกษตรอินทรีย์ เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงการปลูกพืชผัก ผลไม้ หรือการทำปศุสัตว์ เลี้ยงไก่ เลี่ยงหมู ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเกื้อกูลกันกับธรรมชาติ แต่เมื่อพูดถึงการทำประมงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะมีรูปแบบอย่างไร ผู้เขียนก็ได้รับคำตอบผ่านหลากหลายเมนูซีฟู้ด แสนอร่อยของร้านยักษ์กะโจน

วัตถุดิบอาหารทะเลที่ร้านยักกะโจนนำมาใช้ทำอาหารในร้านนั้น ได้มาจากกลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็กหมู่บ้านสามเสียม ชุมชนประมงพื้นบ้านที่อาศัยจับสัตว์น้ำในบริเวณอ่าวยอและอ่าวพนังตัก จ.ชุมพร มาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย โดยใช้เรือประมงขนาดเล็ก ใช้อวนในการจับปลาไม่เกิน 3 ห่ออวนต่อลำ ออกทำการประมงในระยะไม่เกิน 3 ไมล์ทะเลจากฝั่ง ใช้ระยะเวลาในการวางอวนไม่เกิน 2 – 3 ชม. โดยปกติชาวประมงจะออกวางอวนในช่วงเช้า ตี 5 และกลับเข้าฝั่งเวลา 7 โมงครึ่ง ของทุกวัน ยกเว้นวันที่มีมรสุม หรือคลื่นลมไม่สงบ ซึ่งแตกต่างจากเรืออวนลากขนาดใหญ่ ที่เมื่อออกจากฝั่งแล้วจะกวาดเอาทรัพยากรทางทะเลจำนวนมหาศาล และจะต้องทำปริมาณให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้คุ้มค่ากับค่าน้ำมันและค่าจ้างลูกเรือที่เสียไป โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของทรัพยากรทางทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้อวนตาถี่ที่กวาดเอาลูกปลาขนาดเล็กไปแทบทั้งหมด จนปลาบางชนิดมีความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์

คุณวริสร รักษ์พันธุ์ ผู้จัดการผู้จัดการทั่วไปฐานธรรมธุรกิจชุมพรคาบาน่า รับซื้ออาหารทะเลจากกลุ่มประมงพื้นบ้านด้วยราคาที่เป็นธรรม เปิดใจพูดคุยตกลงหาราคากลางที่คนทำธุรกิจสามารถดำเนินกิจการได้โดยไม่แพงเกินไปสำหรับคนกิน และเป็นธรรมต่อชาวประมงที่จะทำให้เศรษฐกิจในครอบครัวพวกเขาอยู่ได้ไม่ลำบาก โดยเป็นราคาที่สูงกว่าที่ชาวประมงนำไปขายให้แพปลา 10 – 20 บาท และเป็นราคาตกลงที่ตายตัวไม่ผันผวนตามกลไกตลาด แต่หากมีที่ใดให้ราคาสูงกว่าราคาที่ตกลงกันไว้ ชาวประมงก็สามารถนำไปขายได้โดยไม่มีพันธะผูกขาดทางธุรกิจ

แม้ไม่มีพันธะสัญญาทางธุรกิจ แต่กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านกับ ธรรมธุรกิจ มีพันธะสัญญาทางใจที่ตกลงกัน คือ ชาวประมงจะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล โดยการทำประมงที่ไม่ทำลายล้างทรัพยากรธรรมชาติ จับสัตว์น้ำในปริมาณและช่วงเวลาที่เหมาะสม รวมถึงใช้เครื่องมือประมงในการจับสัตว์น้ำที่เหมาะสมตามแต่ละชนิดด้วย นอกจากนี้ ต้องไม่ใช้สารเคมีใดๆ ในการรักษาอาหารทะเล เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับอาหารที่สะอาดปลอดภัย ซึ่งเรื่องพวกนี้ชาวประมงพื้นบ้านอย่าง พี่หนุ่ม ชัยรัตน์ สุตราม แกนนำประมงพื้นบ้านบอกว่า “เป็นสิ่งที่พวกเราทำอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว” จึงไม่ใช่ปัญหา และเป็นเรื่องดีอีกด้วยที่ผู่ประกอบการ ผู้บริโภค และชาวประมงจะได้ร่วมกันตระหนักถึงทรัพยากรทางทะเลให้มาก

นอกจากการทำประมงแบบไม่กระทบทรัพยากรธรรมชาติ การไม่ใช้สารเคมีในการรักษาอาหารทะเลแล้ว กลุ่มประมง พื้นบ้านบ้านสามเสียม ยังได้ร่วมกันฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล โดยการทำซั้งปลาจากทางมะพร้าว ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ช่วยดึงดูดสัตว์ทะเลให้เขามาอาศัย และช่วยอนุบาลลูกพันธุ์สัตว์ทะเล

ทุกวันนี้กลุ่มประมงพื้นบ้านบ้านสามเสียมยังคงส่งผลิตภัณฑ์อาหารทะเลให้กับ ธรรมธุรกิจ เพื่อจัดจำหน่ายทั้งในจังหวัดชุมพร กรุงเทพมหานคร ไปจนถึงเชียงใหม่ สร้างความภาคภูมิใจแก่พวกเขาในการเป็นผู้ผลิตอาหารที่ไม่ทำลาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้นธารในการสร้างระบบอาหารปลอดภัย ทั้งยังสร้างต้นแบบการกระจายอำนาจสู่ชาวประมงรายย่อย ให้มีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้าให้เหมาะสมกับการลงทุนลงแรงของพวกเขา ตัดตอนระบบการเพิ่มจำนวนการจับสัตว์น้ำเพียงเพื่อให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นโดยไม่สนผลกระทบต่อท้องทะเล

ทุกวันนี้กลุ่มประมงพื้นบ้านบ้านสามเสียมยังคงส่งผลิตภัณฑ์อาหารทะเลให้กับ ธรรมธุรกิจ เพื่อจัดจำหน่ายทั้งในจังหวัดชุมพร กรุงเทพมหานคร ไปจนถึงเชียงใหม่ สร้างความภาคภูมิใจแก่พวกเขาในการเป็นผู้ผลิตอาหารที่ไม่ทำลาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้นธารในการสร้างระบบอาหารปลอดภัย ทั้งยังสร้างต้นแบบการกระจายอำนาจสู่ชาวประมงรายย่อย ให้มีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้าให้เหมาะสมกับการลงทุนลงแรงของพวกเขา ตัดตอนระบบการเพิ่มจำนวนการจับสัตว์น้ำเพียงเพื่อให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นโดยไม่สนผลกระทบต่อท้องทะเล

หากวันนี้เมนูที่คุณกำลังกินมีส่วนประกอบเป็นผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ลองคิดทบทวนดูสักนิดว่าอาหารทะเลเหล่านั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร ถ้ามีโอกาสได้แวะมาเยือนจังหวัดชุมพร อย่าลืมแวะไปชมความสวยงามของหาดทุ่งวัวแล่น และแวะไปชิมอาหารทะเลจากกลุ่มประมงพื้นบ้านบ้านสามเสียม แล้วนึกถึงเรื่องราวของพวกเขา ผู้เขียนเชื่อว่า หากคุณได้ “กินอย่างรู้ที่มา” อาหารจานนั้นไม่เพียงแค่อร่อย แต่จะมีคุณค่าเพิ่มขึ้น และสร้างความภาคภูมิใจเล็กๆ ที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการสร้างความยั่งยืนทางอาหารให้เกิดขึ้น

ติดตาม “ธรรมธุรกิจ” ได้ที่ : https://www.facebook.com/Thamturakit

Share this post