เรียนรู้ “หัวใจสำคัญ” คนทำงานพัฒนา ที่พาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าบางปะกง สู่พื้นที่ต้นแบบด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม

เรียนรู้ "หัวใจสำคัญ" คนทำงานพัฒนา ที่พาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าบางปะกง
สู่พื้นที่ต้นแบบด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม

จุดเริ่มต้นโครงการ

เราเริ่มต้นโครงการจากการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นคีย์เวิร์ดหลักเลยที่โรงไฟฟ้าบางปะกงให้ความสำคัญ
บ้านคลองหัวจาก ต.บางปะกง เป็นพื้นที่ที่เกี่ยวข้องด้านสิ่งแวดล้อม และทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน
ซึ่งเป็นคำตอบที่ตอบโจทย์เรื่องของแผนงานเป็นอย่างมาก ส่วนที่ที่ 2 ที่เราทำ คือ หมู่ 2 ตำบลท่าข้าม ก็สืบเนื่องเรื่องของสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ไหนก็ตามที เราจะเริ่มต้นจุดแรกคือเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลักใหญ่

เราในฐานะคน กฟผ. รวมทั้งพี่น้องที่มาจากธรรมศาสตร์ เรามองเห็นตรงกันว่า ชุมชนมีองค์ความรู้ดั้งเดิม อย่างกรณีบ้านคลองหัวจาก เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เรามองว่า จริง ๆ แล้ว เขามีทรัพยากรที่มีค่ามากอยู่ในพื้นที่เขา อย่างบ้านคลองหัวจากชัดเจนมากเลยนะครับมีแผนพัฒนาฟื้นฟูป่าชายเลนในโรงเรียน ทีนี้การฟื้นฟูจะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบได้อย่างไร ก็ต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือของชาวบ้าน และที่สำคัญถ้าเราดึงองค์ความรู้เขาเข้ามาทำโครงการร่วมกับเราได้ ก็จะทำให้ความยั่งยืนของโครงการเกิดขึ้นแน่ ๆ

ดังนั้นการที่เราสามารถดึงเขามาทำ การที่เราดึงองค์ความรู้ดั้งเดิมเรามาใช้ ทำให้เราเรียนรู้ไปกับเขา ขณะเดียวกันเขาก็มีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเขาเอง ก็จะดีกว่าการที่เราเป็นคนต่างถิ่น วันดีคืนดีเราไปสั่งเขาให้ทำนู้นทำนี่ แต่วันนี้เราไปฟังเขาว่าเขาอยากทำอะไร เขาเห็นว่าเขาควรทำอะไร เรามีองค์ความรู้ไปเพิ่มเติมจากเดิมที่เขาไม่รู้ไปให้เขา มันเกิดงาน งานที่ผมพูดถึงคือเรื่องของ ธนาคารต้นกล้าป่าชายเลน ที่โรงเรียนพระพิมลเสนี ที่ชุมชนบ้านคลองหัวจากทำอยู่ กลุ่มอาชีพกลุ่มนั้นเกิดจากสิ่งเล็ก ๆ ในพื้นที่ ที่ชุมชนเองมองว่าเขามีศักยภาพ ที่ชุมชนมองว่าเขาสามารถทำได้ และเราก็ทำให้เขาเชื่อว่าเขาทำได้จริง กฟผ. ก็มีส่วนสนับสนุนในการใช้ผลิตภัณฑ์มาใช้ในโครงการต่าง ๆ
ของกฟผ. พวกนี้คือการผสมผสาน การบูรณาการ ทำให้เกิดความกลมกล่อมในการทำงานในพื้นที่ นี่คือจุดเริ่มต้นความสำเร็จของเรา

กระบวนการทำงานร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายอย่างบูรณาการ

ถ้าพูดถึงการทำงานร่วมกัน ก็ต้องเริ่มมาจากการคุยกัน จากนั้นก็มาดูแผนงานร่วมกันว่าแผนงานของโครงการ ว่าเป้าประสงค์เป็นอย่างไร และ กฟผ.มีอะไร และก็มองวิธีการทำงานร่วมกันว่า เราจะไปในทิศทางยังไง สุดท้ายเป้าประสงค์ของทั้งสองหน่วย คือการทำให้ชาวบ้านเขามีความสุข ชาวบ้านมีความยั่งยืน ชาวบ้านมีรายได้ที่มั่นคง เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เขาไม่จำเป็นต้องออกไปทำงานนอกถิ่นฐานของเขา ชาวบ้านไม่ต้องการอะไรมากมายครับ มีข้าวทาน มีความสุขอยู่ที่บ้าน อยู่กับครอบครัว ไม่ต้องออกไปทำงานต่างถิ่น ไม่ต้องมานั่งคิดถึงลูกคิดถึงหลาน แค่นี้ก็คือความสุขของชาวบ้าน เขาไม่ได้คิดอะไรมากมายครับ

จุดแข็งของแต่ละที่เนี่ย ผสมผสานกันทำให้ชาวบ้านเกิดความเชื่อถือ แต่ที่สำคัญสุดก่อนจะไปเชื่อมั่นและเชื่อถือไม่ใช่ไปแค่แนะนำตัวนะ ตั้งแต่การเริ่มเข้าไปคุย การไปซ้ำ ๆ ทำให้เขาเกิดความคุ้นเคย และกระทั่งว่าการทำให้เขาเกิดความเชื่อมั่นว่า เขาเองเขาก็สามารถทำสิ่งที่เขาคิดว่าทำไม่ได้ แต่จริง ๆ แล้วเขาทำได้ การทำให้ชุมชนเกิดความเชื่อใจและการยอมรับเนี่ยมันเป็นเรื่องของเวลาครับ เป็นเรื่องของความตั้งใจของคนทำงานในพื้นที่

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากงานพัฒนาชุมชน

สิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้เลย โดยเฉพาะตัวผมเลย ที่ได้เรียนรู้จากทางโครงการ ก็คือการยอมรับองค์ความรู้ของชุมชน จริง ๆ แล้วเนี่ย ชาวบ้านเขาก็มีองค์ความรู้ของเขา และก็มีความเชี่ยวชาญ ความชำนาญของเขาในสิ่งที่เขาทำ ดังนั้นทาง กฟผ. และตัวผมเองที่ได้เรียนรู้จากทางโครงการ คือการเปิดใจ การรับองค์ความรู้ เปิดใจในการรับฟัง รวมทั้งกระบวนการสร้างเครือข่ายเป็นเรื่องสำคัญ หลักคิดสำคัญอย่างหนึ่งที่ทางโครงการได้ให้ชาว กฟผ. ได้เรียนรู้ คือเรื่องเครือข่ายเป็นอะไรที่มีความสำคัญมาก ไม่มีใครที่มีความรู้ที่สามารถอยู่ได้หน่วยงานเดียว ต้องอาศัยองค์ความรู้จากหลายภาคส่วน

หัวใจสำคัญของงานพัฒนาชุมชน

การได้ทำงานกับทางธรรมศาสตร์นอกเหนือจากการที่ได้ทำงานตามแผน ตามเป้าหมายที่วางไว้แล้ว
คนของ กฟผ.เอง โรงไฟฟ้าบางปะกง ได้รู้การทำงานร่วมกับเครือข่าย ได้เรียนรู้การสร้างเครือข่าย เราได้เรียนรู้แม้กระทั่งการสื่อสาร และสำคัญสุดคือ เราต้องหยุดคิดนะครับว่าเราคือ ศูนย์กลางจักวาล อันนี้สำคัญมาก ดังนั้นหัวใจสำคัญของงานของเราคือชุมชน เราต้องทำให้ชุมชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีครับ

“หยุดคิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางจักวาลเปิดใจ
การรับองค์ความรู้ เปิดใจในการรับฟัง”

คุณพลากร บุญห่อ หัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์และชุมชนสัมพันธ์ โรงไฟฟ้าบางปะกง

อุปสรรคต้องระวังในงานพัฒนาชุมชน

ส่วนใหญ่แล้วเนี่ยเวลาพูดถึงโครงการของรัฐ หรือแม้กระทั่งเอกชนก็ตามที ชาวบ้านก็คิดว่าทำแบบไม่จริงจัง ดังนั้นสิ่งแรกเลยเนี่ยคือการทำให้เขาเชื่อว่าเราเข้ามาจริง แล้วอีกตัวนึงที่เราเจอนอกจากเรื่องความเชื่อของชุมชนที่มีต่อโครงการของรัฐแล้ว ชีวิตของเขาครับ การที่ชุมชนเข้ามาทำกับเราแล้วเนี่ย เขาจะสามารถอยู่ได้ ทุก ๆ ครั้งที่เขาเข้ามาร่วมกิจกรรมกับเรา เขายังมีข้าวกิน เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อได้ ครอบครัวเขาไม่เดือดร้อน ซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้นโครงการที่เราทำในพื้นที่ ส่วนใหญ่แล้วเป็นโครงการที่ทำให้ชาวบ้านเห็น และรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน และก็อุปสรรคหนึ่งที่ได้เห็นอย่างชัดเจน งานที่เกี่ยวข้องกับชุมชนบางครั้งก็เข้าไปเกี่ยวข้อง เข้าไปแตะกับเรื่องของกฎหมายท้องถิ่น กฎหมายระดับประเทศ รวมทั้งเกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจรัฐ ดังนั้นพวกนี้คือสิ่งที่เราต้องบริหารจัดการ และต้องทำให้พอเหมาะพอเจาะในแต่ละส่วน เพื่อที่จะทำให้โครงการสามารถเดินต่อไปได้ และก็ต้องแก้ไขปัญหาไปทีละเรื่อง ทีละเรื่อง จนกว่าที่สุดท้ายของมันคือ คำคอบก็คือชาวบ้านมีชีวิตที่ดีขึ้น

สิ่งหนึ่งที่ได้จากการทำโครงการ และมันเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนคือ การรวมกันของคนในชุมชน เกิดเป็นเครือข่ายตั้งแต่ระดับเล็ก จนถึงขนาดใหญ่อย่างชัดเจน และที่มันเด่นที่สุดคือระหว่างชุมชน กับชุมชน คือชุมชน ก. กับชุมชน ข. อาจจะไม่เคยมีความร่วมมือกัน ปัจจุบันชุมชนเหล่านี้ ภายใต้การขับเคลื่อนโครงการ ทำให้ชุมชนมีการสื่อสารระหว่างกัน มีการทำงานร่วมกัน เราทำงานกับธรรมศาสตร์มันเป็นโครงการต่อเนื่องขั้นต่ำอย่างกรณีบ้านคลองหัวจาก ปีนี้เข้าปีที่ 4 แหละ พึ่งได้เห็นการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงตรงนี้แหละทำให้ชาวบ้านเขายอมรับเรา และทำให้หน่วยงานอื่น ๆ ยอมรับเรา

ผลที่เห็นในพื้นที่อันดับแรกก่อนเลย คือเรื่องของรายได้ แน่นอนสุดเลยคือ ชุมชนมีผลิตภัณฑ์ของชุมชน ภายใต้โครงการ ที่เกิดจากการพัฒนาโครงการ อย่างน้อยมันก็เป็นตัวที่บอกว่า เขาไม่จำเป็นต้องโยกย้ายถิ่นฐานนะ เขาไม่จำเป็นต้องไปหางานทำที่อื่น ทรัพยากรเดิมเขาอาจจะไม่เห็นคุณค่าเลย นำพัฒนาแล้วกลายเป็นอาชีพของเขาได้ อันนี้แหละมันเป็นหัวใจสำคัญของเรา นอกเหนือจากเรื่องของรายได้ เรื่องของการสร้างความภูมิใจให้เกิดขึ้นกับชาวบ้าน

ความภาคภูมิใจ และความสำเร็จในการทำงานพัฒนา

ปัจจุบันชาวบ้านเหล่านั้นที่มีองค์ความรู้ สามารถอัพเกรด หรือยกระดับตัวเองเป็นคนถ่ายทอดองค์ความรู้มันเป็นความภูมิใจที่ทำให้ชาวบ้านมีความมั่นใจ ว่าจริง ๆ แล้วไม่ต้องรอการนำจากของรัฐเลย เขาเองก็สามารถจะเป็นผู้นำได้ นี่เป็นการพัฒนาชาวบ้าน พัฒนาผู้นำท้องถิ่นในระดับรากหญ้า ซึ่งเรามีความรู้สึกว่าถ้าคนในท้องถิ่นเนี่ยลุกขึ้นมานำสังคมของเขาได้ ลุกขึ้นมานำชุมชนของเขาได้เนี่ย มันคือความยั่งยืนที่แท้จริง และที่สำคัญสุดคือเขาไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอะไรจากคนอื่นมาก เขาแค่ดึงสิ่งที่เขามีออกมาใช้ ดึงเอาที่เป็นจุดแข็งของเขาเนี่ย หรือคนที่ช่วยเขาจุดประกายไฟ ที่ทำให้เขาเกิดความคิด หรือวิธีการคิดที่ถูกต้องเอามาใช้เนี่ย ถือว่าเป็นทิศทางการเดินที่มันชัดเจน และมันถูกต้อง และก็สามารถทำให้คนสามารถเดินต่อไปได้โดยการลดการพึ่งพาหน่วยงานภายนอก

อย่างน้อยก็ได้ภาคภูมิใจว่าในช่วงชีวิตนึง ที่ได้ทำงานที่โรงไฟฟ้าบางปะกง เราสร้างสิ่งที่เป็นสิ่งที่ดีให้กับชุมชน ได้มีโอกาสเห็นรอยยิ้มของคนในชุมชน ซึ่งครั้งนึงมันอาจจะเคยแห้งผาดไปแล้วก็ได้ ครั้งหนึ่งผมเคยไปที่โรงเรียนพระพิมลเสนี ไปทำกิจกรรม กำลังจะกลับมาโรงไฟฟ้านี่แหละ ได้ยินเสียงชาวบ้านเขาเรียก คุณเอ๋ ๆ คุณป้าด้วยความห่วงว่าเราจะกลับบ้านแล้วยังไม่ได้ขนมทาน เอาขนมมาให้ ขนมไม่มีมูลค่าอะไร เป็นแค่ขนมจากธรรมดามีไม่ถึง 6 ชิ้นมั้ง รู้สึก แต่มันเป็นอะไรที่มีความรู้สึกภูมิใจ ภูมิใจที่ว่าเขารู้สึกเหมือนลูกเหมือนหลาน เขารู้สึกว่าเราคือเพื่อบ้านของเขา ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ อาจจะไม่ต้องมองเรื่องที่ทำให้เขามีรายได้ อาจจะไม่มองเรื่องที่ต้องทำให้เขามีบ้านหลังใหญ่ แต่จริง ๆ แล้วบ้านหลังใหญ่ของเราคือ ชุมชนครับ เขามีความสุข เรามีความสุข เขาเห็นเรา เขารู้สึกว่าเราเป็นลูกเป็นหลานเป็นเพื่อน นี่แหละคือหัวใจของมัน ของคนทำงานในด้านพัฒนาชุมชน ส่วนอื่นๆ เป็นผลพลอยได้ตามมามันก็ทำให้เราแอบยิ้มแหละ และผมเชื่อมั่นว่าทุกครั้งที่ผมผ่านไปในพื้นที่ที่เราทำงานร่วมกับโครงการ ผมว่าผมยิ้มทุกครั้ง เพราะมันเป็นความประทับใจที่เกิดขึ้นจากการได้ลงมือทำงานในพื้นที่

เปิดใจยอมรับองค์ความรู้ชุมชน เป็นบทเรียนแรกเลยที่ได้แล้วก็การดึงศักยภาพชุมชนมาใช้เนี่ย ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องให้ความสำคัญต่อความรู้ของชาวบ้าน เพราะชาวบ้านเขามีของดีเยอะ เพียงแต่เราหยิบมาใช้รึเปล่า จริงอยู่ความรู้ชาวบ้านเป็นความรู้ดั้งเดิม แต่ถ้าเราสามารถเอาความรู้ดั้งเดิมให้มาพัฒนา หรือว่าสอดรับด้วยองค์ความรู้สมัยใหม่มาใช้เนี่ย ถ้าสองตัวมาผสมกันเนี่ยมันทำให้การพัฒนามันไปได้อย่างรวดเร็ว แน่นอนสุดชาวบ้านมีของดีอยู่แล้ว แต่ของดีมันคืออะไรเราต้องค้นหา ทีนี้เราจะค้นหาเจอไม่เจอเนี่ยมันขึ้นอยู่กับเราเนี่ยทำให้ชาวบ้านไว้ใจเรารึเปล่า ถ้าเขาไว้ใจเราเนี่ย เขาพร้อมเปิดใจกับเราเนี่ย จึงจะสามารถพาเขาไปได้ มันก็ขึ้นอยู่กับการสร้างความเชื่อมั่นครับ ให้เขาเกิดความเชื่อมั่นว่าในเมื่อชุมชนอื่นเขาทำได้ คุณก็ทำได้ ขณะเดียวกันคุณมั่นใจว่าทำได้ คุณอยากทำสิ่งนั้นให้มันดีขึ้น เรามีองค์ความรู้ เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่เอามาช่วย ช่วยทำให้เขาสามารถที่จะเดินได้เร็วขึ้น ไปได้ไกลขึ้น และสิ่งที่เขาทำมันก็สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันโลกที่มันเปลี่ยนไป

รอบ ๆ พื้นที่บางปะกง ไม่ว่าจะเป็นบ้านคลองหัวจาก ไม่ว่าจะเป็น ต.ท่าข้าม เราจะเห็นชัดเจน และฝันของเราที่จะไปให้ถึงก็คือสร้างชุมชนต้นแบบที่มีการพึ่งพาตนเองทั้งด้านการสร้างอาชีพ การเป็นวิทยากรชุมชน การพัฒนาสิ่งแวดล้อม และก็ในอนาคตเราจะก้าวเข้าสู่ชุมชนที่ขยายองค์ความรู้ไปสู่ชุมชนอื่น ๆ นี่คือความตั้งใจของเราที่เราลงมือเข้าไปทำงานในพื้นที่ และก็เราได้เห็นผลคนที่ครั้งนึงที่เขาอาจจะไม่มีความหวังอะไรเลยในชีวิต เขาได้มีความหวัง หรือเขามีโอกาสในการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้น

Share this post