เที่ยวอย่างรู้คุณค่าชุมชน Creative Tourism “การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์”

เที่ยวอย่างรู้คุณค่าชุมชน Creative Tourism “การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์”

ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวทางเลือกอย่าง การท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based-Tourism หรือ CBT) ในประเทศไทยได้รับความนิยมมาโดยตลอด ไม่เพียงสร้างรายได้กับชุมชน แต่ยังเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน บทพื้นฐานนิเวศวัฒนธรรมท้องถิ่น การจัดการชุมชนตามบริบทและสถานการณ์ การกระจายรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม การสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไปจนถึงการกำหนดทิศทาง และอนาคตของชุมชน

ถึงแม้ว่าการท่องเที่ยวโดยชุมชนในประเทศไทยจะได้รับความสนใจในวงกว้าง แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นการท่องเที่ยวในลักษณะ “ชม-ชิม-แชะ-ช้อป” ที่นักท่องเที่ยวมักนิยมเที่ยวเฉพาะในช่วงเทศกาล หรือบางชุมชนอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อตอบสนองความต้องการของท่องเที่ยว ไปจนถึงในบางชุมชนที่มีชื่อเสียงทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ต้องต้อนรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ก็ส่งผลเสียต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรมชุมชน ประกอบกับในปัจจุบันมีการพูดถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มของโลก สู่แนวคิด อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries), เมืองสร้างสรรค์ (Creative cities) และเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy) ในวงกว้างมากขึ้น ส่งผลให้ การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ใช้ศักยภาพของวัฒนธรรมชุมชน ทั้งรูปแบบของวัตถุและนามธรรมเข้ามามีบทบาทในการจัดการท่องเที่ยว สนับสนุนให้เกิดความผูกพันระหว่างผู้มาเยือนและนักท่องเที่ยว ผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง

จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวยุคใหม่ที่สนใจการท่องเที่ยวในความสนใจพิเศษ (Special Interest Tourism) การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) จึงเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับความสนใจของนักท่องเที่ยวของโลก โดยมีแนวคิดริเริ่มพัฒนาขึ้นจากประเทศนิวซีแลนด์ ก่อนขยายรูปแบบที่แตกต่างอย่างกว้างขว้างในเมืองและประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย ที่เดินร่องพัฒนาโดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.

การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) ในประเทศไทย เน้นความสัมพันธ์ของประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชุมชนและเอกลักษณ์ของสถานที่ โดยนักท่องเที่ยวได้เรียนรู้เพื่อสร้างประสบการณ์ตรงร่วมกับเจ้าของวัฒนธรรม ไม่ใช่กิจกรรมที่เน้นรายได้ของชุมชน แต่เป็นกิจกรรมที่เน้นคุณค่าของชุมชน นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมและลงมือทำกิจกรรมเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ร่วมกับชุมชน พัฒนาศักยภาพและสร้างสรรค์ผ่านการลงมือทำด้วยตัวเอง พูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องราวกับคนในชุมชน ให้เกิดความประทับใจ ความผูกพันที่ดีกับชุมชน ในขณะที่ชุมชนเองก็สามารถต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี โดยชุมชนไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนเอง เกิดความเข้มแข็งเพื่อรักษาตัวตนที่แท้จริง เพื่อให้การท่องเที่ยวส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน ชุมชนได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง ในลักษณะ “เรียนรู้-ดูของจริง-ลงมือทำ”

การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) นับเป็นการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT) ยุคใหม่ ที่นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้มรดกวัฒนธรรมของพื้นที่ท่องเที่ยวผ่านประสบการณ์ตรงเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจและชื่นชมจิตวิญญาณอันเป็นลักษณะเฉพาะของพื้นที่ นำไปสู่การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเพิ่มพูนศักยภาพของนักท่องเที่ยวเอง อีกทางหนึ่งการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือให้ชุมชนได้มีโอกาสใช้สิทธิ์การเป็นเจ้าของพื้นที่ เจ้าของวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของชุมชน เพื่อกำหนดทิศทางและสร้างสรรค์กิจกรรมการท่องเที่ยวด้วยตนเอง พร้อมสร้างความเข้าใจให้กับนักท่องเที่ยวและชุมชนได้ร่วมกันจัดการการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม รักษาอัตลักษณ์ของชุมชน จิตวิญญาณของพื้นที่ ในขณะเดียวกันก็ได้พัฒนาศักยภาพ สร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ข้อมูลอ้างอิง

  • องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน),https://anyflip.com/agwsk/eixc

  • วรพงศ์ ผูกภู่ (บริษัท อาร์แอนด์ดี ครีเอชั่น จำกัด), “ปรัชญาแห่งการท่องเที่ยวโดยชุมชน 7 ประการ”

Share this post