เทคนิคการร่างหนังสือราชการอย่างง่ายเพื่องานพัฒนาฯ
เชื่อว่าหลายๆ คนที่ทำงานพัฒนา ไม่ว่าคุณจะอยู่ในหน่วยงานราชการ หน่วยงานเอกชน หรือองค์กรอิสระ ต่างก็ต้องเคยเห็นหนังสือราชการกันแทบทั้งนั้น อันที่จริงแล้วระเบียบงานสารบรรณของทางราชการแบ่งประเภทของหนังสือราชการออกเป็น 6 ประเภท ประกอบด้วย หนังสือภายใน (ใช้เฉพาะในหน่วยงานนั้นๆ เรียก “บันทึกข้อความ”), หนังสือภายนอก (ใช้ติดต่อกับหน่วยงานภายนอก ทั้งราชการด้วยกัน เอกชน และบุคคล), หนังสือสั่งการ (คำสั่ง, ระเบียบ, ข้อบังคับ), หนังสือประทับตรา (มีลำดับชั้นความลับ “ลับ”, “ลับมาก” ความด่วน “ด่วน”, “ด่วนมาก” เป็นต้น), หนังสือประชาสัมพันธ์ (ประกาศ, แถลงการณ์, ข่าว) และหนังสือที่เจ้าหน้าที่ทำขึ้นหรือรับไว้เป็นหลักฐานในราชการ (หนังสือรับรอง, รายงานการประชุม เป็นต้น) ซึ่งหนังสือแต่ละประเภทใช้ในบริบทที่แตกต่างกันไป
ในการทำงานพัฒนาฯ ในบางโอกาสเราจำเป็นต้องติดต่อกับทางราชการ หลายๆ คนที่เป็นนักพัฒนาอิสระอาจไม่ถนัด หรือไม่เคยร่างหนังสือติดต่อราชการมาก่อน วันนี้เรามีเทคนิคเบื้องต้นแบบไม่ลงรายละเอียด ในการร่างหนังสือราชการมาฝากกัน
- การเขียนคำขึ้นต้น – ใช้ตามฐานะของผู้รับหนังสือ โดยทั่วไปกรณีถึงบุคคลโดยตรง ใช้ “เรียน” เช่น เรียนผู้อำนวยการ…… ส่วนกรณีส่งถึงหน่วยงาน ใช้ “ถึง” เช่น ถึงสำนักงานเกษตรอำเภอ…
- การเขียนหัวเรื่อง – ต้องเขียนเป็นประโยค (ไม่ใช่วลี) สื่อใจความหลักที่เราต้องการสื่อสาร (เน้นประโยคที่ขึ้นต้นด้วยคำกริยา) เช่น ขอความอนุเคราะห์…, ขอส่งข้อมูล…, ขอความร่วมมือ…. ย่อให้สั้นและกระชับที่สุด (ไม่ควรเกิน 2 บรรทัด)
- การเขียนเนื้อเรื่อง – ชัดเจน ไม่ใช้คำฟุ่มเฟือย ผู้รับสารอ่านแล้วเข้าใจสารที่จะสื่อ ส่วนมากแบ่งเป็น 2-3 ส่วน (ย่อหน้า) ตามความเหมาะสม ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1) เหตุที่มีหนังสือไป หากเป็นเรื่องใหม่ไม่เคยติดต่อกันมาก่อนให้ขึ้นต้น “ด้วย” และ “เนื่องจาก” หากเป็นเรื่องที่เคยติดต่อกันมาก่อนหน้าให้ขึ้นต้น “ตามที่…..นั้น” หรือ “ตาม….นั้น”
ส่วนที่ 2) เป็นส่วนของเนื้อหาที่เราทำหนังสือไปยังหน่วยงานนั้นๆ โดยเราต้องกำหนดประเด็นที่ต้องการให้ผู้รับสาร ทำอะไร อย่างไร ที่ไหน ต้องระบุวันเวลาให้ชัดเจน หรือถ้ามีการประสานงานต้องระบุผู้รับผิดชอบ พร้อมช่องทางการติดต่อ (โทรศัพท์, อีเมล์, ไลน์ ฯลฯ) ให้ครบถ้วน
ส่วนที่ 3) ส่วนสรุปและบอกจุดประสงค์ เป็นการสรุปว่าเราต้องการให้ผู้รับสารทำอย่างไรกับเรื่องที่ส่งมา ตัวอย่างเช่น
เพื่อทราบ → “จึงเรียนมาเพื่อทราบ”, “จึงเรียนมาเพื่อแจ้งให้ทราบล่วงหน้า”
เพื่ออธิบาย → “จึงเรียนมาเพื่อความเข้าใจ”, “จึงเรียนมาเพื่อนำไปปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป”
เพื่อขอร้อง → “จึงเรียนมาเพื่อขอความกรุณาโปรดให้ความร่วมมือเป็นวิทยากรอบรมในครั้งนี้”
เพื่อยืนยัน → “จึงเรียนมาเพื่อยืนยันขอให้ปฏิบัติตามเดิม”
เพื่อหารือ → “จึงเรียนมาเพื่อหารือว่า ในกรณีดังกล่าวควรจะดำเนินการประการใด ขอได้โปรดแจ้งให้ทราบด้วย”
เพื่อกำชับหรือเป็นคำสั่ง → “จึงเรียนมาเพื่อโปรดดำเนินการต่อไป”
เพื่อเตือน → “จึงเรียนมาเพื่อให้ท่านโปรดขนย้ายสิ่งของออกจากพื้นที่โดยด่วน”
หนังสือราชการนั้น แม้จะมีองค์ประกอบที่เราอาจจะไม่คุ้นเคยกันนัก แต่หากเราสามารถเขียนหนังสือติดต่อตามรูปแบบหนังสือราชการ ก็จะช่วยให้การติดต่อกับหน่วยงานรวดเร็วขึ้น หน่วยงานที่รับสารสะดวกแก่การเก็บค้นอ้างอิง ซึ่งการเขียนหนังสือหรือจดหมายใดๆ ที่ดีนั้น ควรคำนึงถึง 3 สิ่ง คือ
- ถูกต้อง – ถูกต้องตามรูปแบบ ถูกหลักภาษา ไวยากรณ์ รูปประโยค การเชื่อมคำด้วยคำบุพบท หรือคำสันธาน “ที่-ซึ่ง-อัน” ที่มีความหมายเหมือนกัน แต่ไม่นิยมใช้คำซ้ำกัน หรือ “และ-กับ-รวมทั้ง-ตลอดจน” ซึ่งสามารถใช้แทนกันได้
- ชัดเจน – เข้าใจง่าย พิจารณษง่าย เข้าใจง่าย เนื้อความไม่คลุมเครือ
- รัดกุม – ไม่มีช่องโหว่ ต้องไม่เขียนยืนยันในสิ่งที่ยังยืนยังไม่ได้ ถึงแม้จะเป็นกรณีที่ยืนยันได้แน่นอน แต่ก็ไม่ควรใช้คำยืนยันเป็นการผูกมัดเราเอง
เห็นได้ว่า แม้หนังสือราชการจะมีรายละเอียดในการเขียนเป็นรูปแบบชัดเจน แต่ก็ไม่ยากเกินไป โดยเฉพาะการทำงานพัฒนาในยุคปัจจุบัน ที่จำเป็นต้องอาศัยการติดต่อหน่วยงานต่างๆ เพื่อการบูรณาการงานในพื้นที่ชุมชน การเรียนรู้การติดต่อราชการให้ถูกต้องตามรูปแบบ ก็จะช่วยให้การทำงานร่วมกันระหว่างเราและหน่วยงานต่างๆ สะดวกรวดเร็วมากขึ้น และยังเป็นการช่วยเสริมภาพพจน์กับตัวเราให้มีความน่าเชื่อถือเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
#พัฒนาชุมชน #พัฒนาสังคม #บูรณาการหน่วยงาน #DcommunityDevelopment #SocialDevelopmentGoals #ชุมชนดี
ข้อมูลอ้างอิง :
สำนักทรัพยากรณ์การเรียนรู้คุณหญิงหลงฯ สืบค้นจาก
https://clib.psu.ac.th/km/how-to-write-document/
กองกลาง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร สืบค้นจาก
https://ga.kpru.ac.th/km/data57/km57o.pdf