เครื่องมือ “สำรวจ พูดคุย สังเกต” เครื่องมือที่ช่วย “นักพัฒนา” เข้าใจชุมชนอย่างแท้จริง
การรวบรวมข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นจากการสัมภาษณ์ สังเกต หรือสำรวจ ลงไปพูดคุยกับชาวบ้านอย่างใกล้ชิดแล้ว ซึ่งไม่เพียงจะส่งผลดีต่อ “นักพัฒนา” ในด้านการทำงาน เพื่อนำมาช่วยแก้ไขปัญหาของชุมชนเพียงเท่านั้น ยังช่วยให้เราเข้าใจ มุมมอง ทัศนคติ ความรู้สึกนึกคิดของชุมชนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเห็นมิติความสัมพันธ์ในชุมชน ทั้งในเชิงอำนาจ บทบาท การเมือง เศรษฐกิจและสังคม และความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยให้เราจัดความสัมพันธ์ของเรากับชุมชนได้เหมาะสมยิ่งขึ้น ส่วนเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูลเราแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้
การทบทวนข้อมูลมือสอง (Review of Secondary Sources) โดยทั่วไปชุมชนจะมีข้อมูล เช่น หนังสือ รูปภาพ แผนที่ เอกสารที่อบต./เทศบาล/รพสต./พช./เกษตรตำบลเก็บรวบรวมไว้ รวมถึงข้อมูลมากมายในอินเตอร์เน็ต ที่ช่วยให้ผู้ทำงานภาคสนามรวบรวมข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็มีข้อน่ากังวลที่ว่า ข้อมูลเหล่านั้นอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด หรืออาจขาดข้อมูลที่เป็นข้ออ่อนไหวของชุมชน
การสังเกตการณ์โดยตรง (Direct Observation) การเข้าไปในชุมชน สังเกตและบันทึกสิ่งที่เห็น ตลอดจนเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน ช่วยให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำกว่าการใช้ข้อมูลมือสอง และช่วยให้ได้ข้อมูลในหลายมิติ แต่วิธีนี้ต้องใช้เวลา ทักษะของผู้สังเกต และต้องระวังการเข้าไปมีส่วนร่วมที่ต้องไม่รบกวนชาวบ้าน
การสัมภาษณ์ (Interview) และแบบสอบถามอย่างสั้น (Short Questionnaire) เครื่องมือทั้งสองช่วยให้เราเก็บข้อมูลเรื่องเฉพาะเจาะจง ตรงประเด็น โดย การสัมภาษณ์ ช่วยให้ได้ข้อมูลเชิงคุณภาพที่เจาะลึก รวมถึงปัญหาและการรับมือกับปัญหาของชุมชน แต่ต้องใช้เวลานานในการสัมภาษณ์ ในขณะที่ แบบสอบถามอย่างสั้น ใช้งานง่าย รวดเร็ว สะดวกในการเก็บข้อมูล แต่ต้องระวังการออกแบบคำถามให้ตรงประเด็นและไม่ซับซ้อน