“อธิปไตยทางอาหาร” (Food Sovereignty)
เพจ D Community ชวนมาคุยเรื่องวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร กับ “อธิปไตยทางอาหาร” (Food Sovereignty) ที่เราควรรู้
ในสถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังแสดงท่าทีกังวลถึงวิกฤติความมั่นคงทางอาหาร อันสืบเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้ออยู่ แต่ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาดและภัยสงครามนี้กลับพบว่า (ตามรายงาน Food Injustice 2020-22: Unchecked, Unregulated and Unaccountable) กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจเกษตรกรรมกว่า 20 แห่ง (ธุรกิจเกี่ยวกับธัญพืช ปุ๋ย เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นม) กลับคว้าผลกำไรปริมาณมหาศาล (มีการแบ่งปันผลกำไรให้ผผู้ถือหุ้นปีงบประมาณ 2020-2021 สูงถึง 53 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1,890 ล้านบาท) บริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้ส่วนใหญ่ครอบครองตลาดโดยไม่ต้องมีพันธะที่ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับตลาดโลก หรือกระทั่งเปิดเผยตล๊อกสินค้าของตัวเอง ซึ่งก็หมายถึง พวกเขากำลังถือครองข้อมูลที่สามารถกำหนดกรอบราคาอาหารโลกให้เป็นไปตามความต้องการของตัวเอง เมื่อตัวเลขแท้จริงในสต๊อกคลุมเครือ อาจเป้นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดสภาวะฟองสบู่เพื่อเก็งกำไร ทำให้กลุ่มผู้บริโภคในยุโรปออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐทั่วโลกกำหนดนโยบายเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่จะส่งผลต่อระบบอาหารโลก เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงอาหารได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม (European Coordination Via Campesina (ECVC) – กลุ่มขับเคลื่อนที่ต่อสู้เพื่ออธิปไตยทางอาหาร)
แล้วอธิปไตยทางอาหารคืออะไร? แนวคิด “อธิปไตยทางอาหาร” (Food Sovereignty) ถูกพัฒนาและเปลี่ยนแปลงหลายครั้งไม่เป็นที่ยุติ แต่นิยามที่มักถูกอ้างอิงถึงมักเป็นของคณะกรรมการวางแผนระหว่างประเทศเพื่ออธิปไตยทางอาหาร (International Planning Committee for Food Sovereignty-IPC ค.ศ. 2002) ที่ว่า “อธิปไตยทางอาหาร คือ สิทธิของประชาชน ชุมชน และประเทศ ที่จะกำหนด นโยบายทางการเกษตร นโยบายทางด้านแรงงาน นโยบายทางการประมง นโยบายเกี่ยวกับที่ดิน ซึ่งมีความเหมาะสมกับระบบนิเวศ สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของพวกเขา ทั้งยังรวมถึงสิทธิอันแท้จริงของสิทธิทางอาหาร และสิทธิในการผลิตอาหาร ซึ่งหมายความว่า ประชาชนทุกคนจะต้องมีสิทธิในอาหารที่ปลอดภัย มีโภชนาการ และมีความเหมาะสมทางวัฒนธรรม และทรัพยากรการผลิต และความสามารถที่จะรักษาพวกเขาและสังคมของพวกเขาอย่างยั่งยืน” และยังกำหนดหลักการอธิปไตยทางอาหาร 5 ข้อ ได้แก่
- การเข้าถึงทรัพยากร (Access to Resources) – อธิปไตยทางอาหารจะสนับสนุนกระบวนการของชุมชนและปัจเจกชน ที่จะทำให้แน่ใจว่าผู้ผลิตรายย่อยและรายกลาง มีการเข้าถึงทรัพยากร และสามารถควบคุมการใช้ทรัพยากรพื้นฐานทางธรรมชาติและสังคมของเขา ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงที่ดิน น้ำ เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย การบริการทางการเงิน และการบริการสาธารณะ โดยการจัดการการเข้าถึงทรัพยากรนี้ ยังคำนึงถึงความยั่งยืน การเคารพสิทธิของชนพื้นเมือง และสิทธิทางเพศสภาพ อันเป็นมิติที่ตัดข้ามวัฒนธรรมด้วย
- รูปแบบการผลิต (Production Model) – อธิปไตยทางอาหารจะสนับสนุนการผลิตของครอบครัวและท้องถิ่น ซึ่งเป็นการผลิตที่หลากหลายที่อยู่บนพื้นฐานความรู้ดั้งเดิมของท้องถิ่นและชุมชนนั้นๆ โดยรูปแบบการ ผลิตต้องเป็นวิธีการที่มีความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม และอธิปไตยทางอาหารต้อง สนับสนุนรูปแบบการพัฒนาทางการเกษตรซึ่งเกิดขึ้นภายในกลุ่ม และสิทธิในการผลิตอาหาร
- การเปลี่ยนผ่านและกระบวนการทำให้เป็นการค้า (Transformation and Commercialization) – อธิปไตยทางอาหารจะปกป้องสิทธิของเกษตรกร แรงงานในท้องถิ่นที่ขาดแคลนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ชาวประมง คนเลี้ยงสัตว์ และคนพื้นเมืองในประเทศที่จำหน่ายผลิตผลของพวกเขาเพื่อการเลี้ยงชีพของประชากรในท้องถิ่น โดยการปกป้องนี้ มีนัยยะถึงการปกป้องและควบคุม การผลิตของชาติ ตลาดท้องถิ่น และตลาดภายในประเทศ จากการทุ่มตลาดและการนำเข้าสินค้าที่มีราคาถูก รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการค้าทางตรงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค
- การบริโภคอาหารและสิทธิในการเข้าถึงอาหาร (Consumption of Food and the Right to Food) – อธิปไตยทางอาหาร ปกป้องสิทธิของพลเมืองที่จะบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีโภชนาการ และมีความเหมาะสมกับวัฒนธรรม ซึ่งมาจากผู้ผลิตของท้องถิ่น และการใช้วิธีการและเทคนิคการผลิตที่เป็นเกษตรเชิงนิเวศ
- นโยบายทางการเกษตรและภาคประชาสังคม (Agriculture Policy and CSO) – อธิปไตยทางอาหาร ปกป้องสิทธิของเกษตรกรที่จะรู้สิทธิที่จะเข้าร่วม และสิทธิของการมีอำนาจเหนือนโยบายสาธารณะของท้องถิ่น ที่เชื่อมโยงกับอธิปไตยทางอาหาร ผู้ผลิตและผู้บริโภคควรเป็นศูนย์กลางและเป็นแกนกลางของการกำหนดนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้อง กับระบบเกษตรและอาหาร
ที่ผ่านมาในประเทศไทยอาจพบว่า “อธิปไตยทางอาหาร” ยังไม่มีการพูดถึงมากนัก แต่จากภาวะวิกฤติความมั่นคงทางอาหารของโลก ทำให้เกิดกระแสการพูดถึงเรื่องดังกล่าวในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะในแวดวงนักพัฒนาชุมชน-สังคม ที่เป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนชุมชน-สังคมช่วยเปลี่ยนแปลงระบบอาหารในปัจจุบัน เรามีแนวทางเริ่มต้นเพื่ออาหารที่ดีกว่าเดิม จาก Greenpeace มาบอกกัน โดยเริ่มจาก
- ลดการเกิดขยะจากอาหาร โดยอาจเลือกทานอาหารที่มีในท้องถิ่นหรือการทานผักผลไม้ตามฤดูกาล และยังรวมไปถึงการเน้นอาหารที่มาจากพืชเป็นหลัก
- เมื่อทำอาหารทานเองที่บ้าน ให้เลือกใช้วัตถุดิบที่สดใหม่แทนการออกไปซื้อ อาหารแปรรูป หรืออาหารกึ่งสำเร็จรูป จากร้านสะดวกซื้อ
- การปลูกผักทานเองเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เมื่อเราลงมือปลูกผักต่างๆเหล่านั้นด้วยตัวเอง การได้ทานผลผลิตที่ตัวเองเป็นคนปลูกนับเป็นรางวัลที่ดี และควรได้รับการสนับสนุนและขยายเป็นวงกว้างต่อไปในอนาคต
- การเลือกซื้อผลผลิตทางการเกษตรกับเกษตรกรโดยตรงนั้นเป็นการช่วยสนับสนุนเกษตรกรทางหนึ่ง ทำให้เกิดความมั่นใจว่าแผนการฟื้นฟูได้ครอบคลุมการลงทุนที่มีมูลค่าสำหรับระบบดังกล่าวเพื่อทำให้เกิดเป็นกระแสหลักขึ้นมา และหันมาซื้ออาหารโดยตรงจากเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบอาหารที่ดีขึ้นแล้ว
แค่เพียงเราใส่ใจ เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงที่ตัวเรา ที่บ้าน ที่ชุมชน บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ที่ดี เราทุกคนก็สามารถร่วมกันสร้างความมั่นคงทางอาหารได้
ข้อมูลอ้างอิง
“Food Injustice 2020-22: Unchecked, Unregulated and Unaccountable” อ่านฉบับเต็มได้ที่ https://www.greenpeace.org/…/publ…/58277/food-injustice/
www.thailand.un.org – ความขัดแย้งในยูเครน อาจกระทบความมั่นคงทางอาหารโลกอย่างไรบ้http://xn--www-1kl6o.greenpeace.org/ – ใครคือผู้ได้รับผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมอาหาร?
www.greenpeace.org – อธิปไตยทางอาหารในปัจจุบันและหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
สิรินทิพย์ นรินทร์ศิลป – “การเสริมสร้างอธิปไตยทางอาหารของชาวนารายย่อยภายใต้อิทธิพลของ เสรีนิยมใหม่ กรณีศึกษา ขบวนการการค้าข้าวที่เป็นธรรมในประเทศไทย” ดุษฎีนิพนธ์ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต, วิทยาลัยสหวิทยาการ, ม.ธรรมศาสตร์