หมัดเด็ดนักพัฒนาฯ ยุคใหม่ “สื่อสารด้วยภาพ” EP.6

หมัดเด็ดนักพัฒนาฯ ยุคใหม่ “สื่อสารด้วยภาพ” EP.6 : โปรแกรมทำ Infographic อย่างมืออาชีพ

เมื่อพูดถึงอินโฟกราฟฟิก (Infographic) ส่วนใหญ่พวกเราจะนึกถึงการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ในอินเตอร์เน็ตที่มักถูกแชร์กันต่อ ๆ กันมา ทั้งข้อมูลสถิติวิชาการ, how to, ขั้นตอนการทำงาน/ ทำอาหาร/ ดูแลความงาม ต่างๆ นาๆ พวกเราชาวนักพัฒนาเองก็ไปตามเซฟเอามาใช้อ้างอิง ทั้งในการนำเสนอ หรือใช้อ้างอิง (อย่าลืมให้เครดิตที่มาเวลาเรานำไปใช้กันด้วยนะ)

แต่ถ้าเรามีข้อมูลของตัวเอง องค์ความรู้จากพื้นที่ชุมชนที่เราทำงาน หรือเวลาที่เราลงพื้นที่ประชุมพูดคุยกับชาวบ้าน, องค์กรในพื้นที่ หากเราสามารถทำอินโฟกราฟฟิกใช้งานเอง ย่อมจะสร้างความประทับใจ ความน่าสนใจ และสร้างภาพพจน์ความเป็นมืออาชีพให้กับเราด้วย

หลายคนอาจคิดว่าการทำอินโฟกราฟฟิกยากเกินไป แต่ในความจริงแล้ว มีโปรแกรมต่างๆ ให้เราได้เลือกใช้ทำอินโฟกราฟฟิกเบื้องต้นหลากหลาย และถ้าเราลองทำเป็นประจำก็ย่อมพัฒนารูปแบบให้ดูเป็นมืออาชีพได้ วันนี้เรามีโปรแกรมการทำอินโฟกราฟฟิกด้วยตัวเองมาแนะนำให้ไปลองใช้กัน

  1. MS Word หรือ PowerPoint

โปรแกรมพื้นฐานอย่างเวิร์ด และพาวเวอร์พอยต์ สามารถนำมาใช้ทำอินโฟกราฟฟิกได้ทั้งคู่ ขึ้นอยู่กับความชำนาญในการใช้โปรแกรม แต่ที่นิยมใช้กันคือ พาวเวอร์พอยต์ โดยเลือก PowerPoint Templates ที่มีให้อยู่แล้ว มีดีไซน์ให้เลือกหลากหลาย เราสามารถเลือกมาแก้ไขให้เหมาะสมกับการนำเสนอข้อมูลของเรา (กลับไปดู Layout ที่เหมาะกับข้อมูลของเราใน EP.5) หรือจะลองเข้าไปโหลตฟรีในเว็ปไซต์ เช่น www.freepik.com ก็ช่วยเพิ่มตัวเลือกให้เรา (ในช่องค้นหาพิมพ์ PowerPoint Templates) หรือถ้าใครชำนาญในการใช้โปรแกรมพาวเวอร์พอยต์ ก็สามารถทำอินโฟกราฟฟิกด้วยตัวเอง โดยใช้เมนู INSERT > Shapes หรือ INSERT > SmartArt หรือ INSERT > Chart เลือกให้เหมาะกับการนำเสนอของเรา

  1. Canva

โปรแกรมอัตโนมัติที่ตอบโจทย์มือใหม่มาก ๆ เพราะมีรูปแบบอัตโนมัติให้เลือกใช้ได้ทันที (ในช่องค้นหาพิมพ์ อินโฟกราฟฟิก ได้เลย) มีให้เลือกทั้ง ฟรี และเสียเงิน เพียงเราเลือก Layout ที่เหมาะสมกับการนำเสนอเนื้อหาของเรา เลือกรูปภาพให้เหมาะ แล้วแก้ไขเนื้อหาของเราลงใน Templates ที่เราเลือกมา แค่นี้ก็จะได้อินโฟกราฟฟิกเท่ๆ เนื้อหาของเราเองไปใช้งานได้เลย ที่สำคัญถ้าเราสมัครลงทะเบียน (มีทั้งแบบฟรี และเสียเงิน) ตัวโปรแกรมจะจำงานที่เราทำไว้ เปิดทำต่อได้ทั้งในคอมพิวเตอร์หรือมือถือ ต่อได้เลย และยังสามารถแชร์งานของเราไปให้เพื่อน/คนในทีม หรือคนในองค์กรที่เราติดต่อ/ทำงานด้วย แก้ไข/ช่วยกันทำกับเราได้ด้วยเช่นกัน

  1. Adobe Photoshop และ Illustrator

โปรแกรมของ Adobe ทั้ง 2 โปรแกรม เป็นโปรแกรมมาตรฐานที่นักออกแบบอินโฟกราฟฟิกนิยมใช้กัน ในส่วนของ Photoshop แม้จะเป็นโปรแกรมแต่งภาพโดยตรง แต่ก็มีเครื่องมือที่ช่วยสร้างรูปร่าง หรือใส่เอฟเฟคต่างๆ ถือเป็นโปรแกรมที่ยืดหยุ่น แต่หากต้องการวาดภาพ ภาพประกอบ การ์ตูน ภาพลายเส้นก็นิยมใช้โปรแกรม Illustrator

เครื่องมือที่ใช้กันหลักๆ เป็น Pen Tool, Selection Tool (เลือกวัตถุ), Drawing Tool (วาดรูปในรูปแบบต่างๆ), Transforming Tool (เปลี่ยนรูปร่าง หมุน หรือปรับขนาด), Mesh and Gradient Tool (ลงสีและไล่เฉดสี), Color Fill Tool (กำหนดสีเส้นขอบหรือตัววัตถุ) ขึ้นอยู่กับทักษะ ความชำนาญ และความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างอินโฟกราฟฟิกให้ดูเป็นมืออาชีพ

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของโปรแกรมที่สามารถนำมาใช้ทำอินโฟกราฟฟิกได้ ยังมีโปรแกรมอื่นๆ หรือแม้แต่การใช้มือวาด เขียน ลงสี ก็ทำอินโฟกราฟฟิกได้เหมือนกัน เพียงแต่เราอย่าลืมหัวใจสำคัญของการทำอินโฟกราฟฟิก นั้นคือ “การสื่อสารข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด” แม้เทคนิค หรือโปรแกรมต่างๆ จะช่วยให้อินโฟกราฟฟิกของเราสวยงาม น่าสนใจมากเพีบงใด ถ้าหากเนื้อหาที่เราต้องการสื่อไม่สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่เกิดประโยชน์กับผู้รับสาร อินโฟกราฟฟิกที่เราทำก็อาจไม่มีประโยชน์อะไร ในทางกลับกัน หากอินโฟกราฟฟิกที่เราทำมีประโยชน์กับผู้รับสร้าง สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ อินโฟกราฟฟิกชิ้นนั้นก็อาจกล่าวได้ว่า เป็นเครื่องมือที่ช่วยเปลี่ยนแปลงชุมชน สังคม ได้เลยทีเดียว

ข้อมูลอ้างอิง :

“คู่มือการออกแบบสื่อนำเสนอ Infographic” โดย สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน ม.ราชมงคลธัญบุรี

Share this post