หมัดเด็ดนักพัฒนาฯ ยุคใหม่ “สื่อสารด้วยภาพ” EP.5 : เลือก Infographic แบบไหนให้เหมาะกับงานของเรา
ครั้งที่แล้วเราได้คุยกันถึงเทคนิคการทำอินโฟกราฟฟิกเบื้องต้นกันไปแล้ว วันนี้เราจะชวนทุกคนมาลงมือทำอินโฟกราฟฟิกแบบง่ายๆ แต่ใช้ได้จริง เพื่อให้นักพัฒนาฯ ยุคใหม่อย่างเราสร้างเสน่ห์และความประทับใจในทุกการนำเสนอ
ก่อนจะไปถึงขั้นตอนการทำอินโฟกราฟฟิก เราอยากจะย้ำกับทุกๆ อีกครั้ง ถึงหัวใจของการทำอินโฟกราฟฟิก นั่นคือ “การสื่อสารข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ” โดยองค์ประกอบในอินโฟกราฟฟิกที่เราทำนั้น ควรมี “5 ต้อง” ประกอบด้วย 1) ต้องมีความหมาย (อะไรที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือชวนให้สับสน อย่าใส่) 2) ต้องเข้าใจง่าย (อย่าจับข้อมูลทั้งหมดยัดลงไป) 3) ต้องสร้างความประทับใจ (ออกแบบให้สบายตา ไม่อึดอัด ไม่ดูรกรุงรัง) 4) ต้องมีความเป็นเอกสารให้ข้อมูล (ข้อมูลที่นำเสนอต้องตรวจสอบความถูกต้อง และที่มาที่น่าเชื่อถือเสมอ) และ 5) ต้องมีประโยชน์ (อาจเป็นข้อมูลที่กลุ่มเป้าหมายควรรู้, กระบวนการ/ขั้นตอนการทำงานต่างๆ หรือข้อมูลที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม)
เมื่อเรารวบรวมข้อมูล ตรวจสอบข้อมูล จัดระเบียบ และรีไรท์ (Rewrite) ข้อมูลพร้อมแล้ว เราควรเลือกรูปแบบโครงสร้าง (Layout) ที่จะใช้ ทั้งนี้ การทำอินโฟกราฟฟิกไม่มีรูปแบบที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ของคนทำ แต่โดยส่วนใหญ่ที่นิยมใช้กันมีดังนี้
- Visualized Article – การนำเสนอข้อมูลแบบบทความ เหมาะกับการนำงานเขียนมาเล่าเป็นภาพ เช่น หากเป็นข้อมูลตัวเลขก็นำเสนอเป็น แผนภาพ กราฟต่างๆ หรือเป็นตัวหนังสือก็ใช้ รูปภาพ พิกโตแกรม ไอคอน ต่างๆ แทนตัวหนังสือ
- Listed – การนำเสนอข้อมูลแบบมีหัวข้อย่อย เหมาะกับการออกแบบข้อมูลที่มีหัวข้อหลักเพียงหัวข้อเดียว และมีหัวข้อย่อยแต่ไม่ยาวนัก
- Comparison – การนำเสนอข้อมูลแบบเปรียบเทียบข้อมูล เป็น Layout ที่มีการแบ่งข้อมูลตามแนวตั้ง ให้ผู้อ่านรู้ถึงความแตกต่าง หรือ ความเหมือนกัน ระหว่าง 2 สิ่ง นิยมแบ่งเป็น 2 ฝั่ง ใช้สีคู่ตรงข้ามเพื่อเห็นถึงความแตกต่างได้ชัดเจน
- Structure – การนำเสนอข้อมูลแบบอธิบายส่วนประกอบ เหมาะกับการนำเสนอเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ให้เห็นถึงโครงสร้าง และส่วนประกอบภายในของสิ่งนั้น เพื่อให้เข้าใจถึงรายละเอียด และลำดับชั้นได้ง่าย
- Timeline – การนำเสนอข้อมูลแบบบอกประวัติความเป็นมา ใช้อธิบายข้อมูลต่างๆ เรียงลำดับตามเวลา
- Road Map – การนำเสนอข้อมูลแบบอธิบายขั้นตอนการทำงาน เหมาะกับการอธิบายกระบวนการหรือขั้นตอนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ตั้งแต่ต้นจนสุดกระบวนการ เหมือนรถวิ่งจากจุดสตาร์ทไปจนถึงจุดหลาย
- Flowchart – การนำเสนอข้อมูลแบบอธิบายลำดับขั้นตอน เหมาะกับการอธิบายคำตอบแตกแขนงออกไปเรื่อยๆ ไปจนถึงคำตอบสุดท้าย การใช้รูปแบบนี้พึงระวังว่าต้องทำให้ดูง่าย ไม่ยุ่งเหยิงซับซ้อน เพื่อไม่ให้สับสน
- Useful Bait – การนำเสนอข้อมูลแบบอธิบายวิธีการทำ เป็นแบบที่พบได้ทั่วไป โดยใช้อธิบายเนื้อหาหัวข้อย่อย ช่วยให้เห็นวิธีการที่สามารถนำไปใช้ได้ทันที เน้นเนื้อหาเข้าใจง่ายมากกว่าความสวยงาม
- Number Porn – การนำเสนอข้อมูลแบบที่เป็นตัวเลข เหมาะกับการถ่ายทอดข้อมูลสถิติ ลักษณะเป็นแผนภาพ กราฟแท่ง แผนภูมิวงกลม หรือกราฟเส้น นิยมนำ pictogram, icon, vector มาตกแต่งแทนตัวหนังสือ ให้สวยงาม น่าสนใจ และเข้าใจง่ายขึ้น
- Table – การนำเสนอข้อมูลแบบตาราง เหมาะกับการใช้เปรียบเทียบของสองสิ่งขึ้นไป นิยมใช้กันทั้งแบบตารางธรรมดา และแบบเมทริกซ์ (เปรียบเทียบแบบแกนแนวตั้ง-แนวนอน)
- Relationship – การนำเสนอข้อมูลแบบความสัมพันธ์ เหมาะกับการอธิบายความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ถ้าเป็นเรื่องลำดับชั้นที่ไม่เท่ากันก็จะใช้ “แบบพีระมิด” “โดนัท” หรือ “ต้นไม้” แบบรวบรวมข้อมูลก็อาจจะใช้แบบ “Venn” หรือถ้าเป็นการเชื่อมโยงก็ใช้ “แบบเน็ตเวิร์ค”
- Map – การนำเสนอข้อมูลแบบแผนที่ เหมาะกับการอธิบายลักษณะเด่นของแต่ละภูมิภาค หรือโซน
อินโฟกราฟฟิกมีหลายรูปแบบ การเลือกรูปแบบการทำให้เหมาะสมกับเนื้อหาที่จะนำเสนอจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย รวดเร็ว ไม่สับสน 12 รูปแบบที่เราพูดถึง เป็นรูปแบบที่นิยมใช้ทั่วไป นอกจากนี้ยังมีรูปแบบพิเศษ เช่น “แผนภาพสไตล์แผนที่รถไฟฟ้า” (Metro Map) หรือ “ตารางธาตุ” ที่คนออกแบบอินโฟกราฟฟิกที่ชำนาญแล้วอาจนำไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดความสร้างสรรค์ แต่ทั้ง 2 แบบที่ว่าก็มีข้อควรระวังในการใช้งานเยอะ หรือในบางครั้งข้อมูลที่เราจะนำเสนอมีความหลากหลาย การนำรูปแบบอินโฟกราฟฟิกมาผสมผสาน นำเอารูปแบบหลายๆ อันมารวมกัน ก็อาจจะเหมาะสม หรือช่วยให้การอธิบายเนื้อหาได้หลายมุม และสามารถสื่อสารข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดก็ได้
ข้อมูลอ้างอิง :
“คู่มือการออกแบบสื่อนำเสนอ Infographic” โดย สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน ม.ราชมงคลธัญบุรี
Jun Sakurada “Basic Infographic” แปลโดย ณิชมน หิรัญพฤกษ์