หมัดเด็ดนักพัฒนาฯ ยุคใหม่ “สื่อสารด้วยภาพ” EP.4 : ไม่ตกเทรนด์ ใช้ Infographic
อินโฟกราฟฟิก (Infographic) ไม่ใช่เรื่องใหม่ในยุคปัจจุบัน เพราะมันถูกนำมาใช้ในหลากหลายที่ เป็นที่นิยมแพร่หลายเพราะเป็นสื่อที่สามารถถ่ายทอดข้อมูลออกไปแล้ว ช่วยให้ผู้คนเข้าใจเนื้อหาได้ง่าย การออกแบบอินโฟกราฟฟิกจะใช้ภาพและตัวอักษรมาประกอบกันเพื่อสื่อสารชุดข้อมูล เนื้อหา หัวใจสำคัญของการทำอินโฟกราฟฟิก คือ การสื่อสารข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ
รูปแบบของอินโฟกราฟฟิกนั้นมีหลากหลาย ทั้งภาพนิ่ง หรือคลิปวิดีโอ การออกแบบอินโฟกราฟฟิกก็ทำได้หลากหลายสไตล์ เนื้อหาที่เราจะนำมาทำอินโฟกราฟฟิกนั้นก็สามารถทำได้หลากหลายเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น เนื้อหาวิชาการ, ธุรกิจ, ปัญหาสิ่งแวดล้อม, สุขภาพ, เทคโนโลยี ฯลฯ ส่วนใหญ่ที่เราพบเห็นได้ทั่วไปจะเป็น
1) ข่าวเด่น ประเด็นร้อน วิกฤติการณ์
2) สอน How To บอกเล่ากลยุทธ์ต่างๆ เป็นขั้นตอน
3) ให้ความรู้ในรูปแบบ Did you know? หรือสถิติต่างๆ ไม่ให้น่าเบื่อ
4) บอกเล่าตำนาน หรือวิวัฒนาการ ทดแทนตำราเล่มหนาๆ
5) อธิบายผลสำรวจ และงานวิจัย ช่วยให้คนทั่วไปเข้าใจข้อมูลมหึมาของงานวิจัยได้โดยง่าย
6) การกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น ภัยจากการสูบบุหรี่
7) การโปรโมทงาน สินค้า และบริการ
การเริ่มต้นทำอินโฟกราฟฟิกไม่ใช่การเลือกรูปภาพ รูปแบบ สไตล์ หรือโปรแกรมที่จะใช้ทำอินโฟกราฟฟิก แต่เป็นการจัดการข้อมูล เพื่อให้งานที่ทำออกมาสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เรามีเทคนิคการทำอินโฟกราฟฟิกเบื้องต้นมาบอกกัน ดังนี้
- โฟกัสหัวข้อหลัก – พยายามเลือกหัวข้อหลักเพียงหัวข้อเดียว ส่วนเนื้อหาที่เหลือจะอธิบาย/ขยายความหัวข้อหลักไปในทิศทางเดียวกัน
- รวบรวมข้อมูล – รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ให้ได้มากที่สุด ครบถ้วนสมบูรณ์ (อาจใช้โปรแกรม MS Excel ช่วยบันทึกหัวข้อ/แหล่งอ้างอิง/กำหนดคีย์เวิร์ดตัวตั้ง เพื่อสะดวกในการทบทวน กันลืม และช่วยให้ไม่สับสน)
- ตรวจสอบความถูกต้องและแม่นยำของข้อมูล – ความถูกต้องของข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญมาก นอกจากจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของสื่อ ภาพลักษณ์ของเราและองค์กรแล้ว หากผู้รับสื่อได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง อาจส่งผลต่อพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลให้เกิดอันตรายได้ (หากค้นข้อมูลจากเว็ปไซต์ควรหาจาก Wikipedia หรือเว็ปไซต์ทางการขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่เราจะทำอินโฟกราฟฟิก)
- ลำดับความสำคัญ – จัดระเบียบ เรียบเรียงข้อมูล หาข้อมูลที่มีเอกลักษณ์ ลำดับข้อมูลให้กระชับ อยู่ในขอบเขตของหัวข้อ ไม่ควรเพิ่มเนื้อหาส่วนประกอบที่ไม่เกี่ยวข้อง
- เลือกรูปแบบอินโฟกราฟฟิกที่เหมาะสม – การทำอินโฟกราฟฟิกมีพื้นฐานมาจากการทำ ‘แผนภาพ’ ที่ได้คุยกันไปแล้วเมื่อ (ย้อนดู: หมัดเด็ดนักพัฒนาฯ ยุคใหม่ “สื่อสารด้วยภาพ” EP.3) แต่ต้องจำไว้ว่า องค์ประกอบและการจัดวางข้อมูลต้องไม่อัดแน่น ไม่ซับซ้อน ไม่ทำให้ผู้อ่านหรือผู้ชมยุ่งยาก เพราะอาจทำให้เกิดความสับสน และการตีความผิดพลาดได้
- กำหนดภาพให้ตรงกับหัวข้อ – อย่างที่ได้คุยกันไปแล้วเรื่องการใช้ภาพ และพิกโตแกรมประกอบ (ย้อนดู: หมัดเด็ดนักพัฒนาฯ ยุคใหม่ “สื่อสารด้วยภาพ” EP.1 และ EP.2) ภาพที่ใช้จะต้องสอดคล้องกับหัวข้อ ไม่มากเกินไป ไม่ทำให้ผู้รับสื่อสับสน และให้ภาพเป็น ‘พระเอก’ ในการเล่าเรื่อง แทนตัวหนังสือ เพื่อไม่ให้อินโฟกราฟฟิกของเราดูน่าเบื่อ
- ใช้คำที่กระชับ – การออกแบบอินโฟกราฟฟิกจำเป็นต้องใช้คำที่ สั้น กระชับ ชัดเจน ตรงกับจุดมุ่งหมายที่ต้องการนำเสนอ เนื้อหาไม่เยิ่นเย้อ เลือกใช้ตัวหนังสือที่อ่านง่าย สบายตา หากมีข้อมูลที่อาจทำให้ผู้รับสารเข้าใจผิดต้องเพิ่มหมายเหตุ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการตีความที่อาจเป็นอันตรายกับเรา
- ดีไซน์ที่ดีช่วยให้น่าสนใจ – ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบอินโฟกราฟฟิกเป็นสิ่งที่สำคัญ ควรเลือกสไตล์ภาพประกอบ ตัวหนังสือ ให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย กราฟฟิค องค์ประกอบ ควรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน การจัดช่องว่าง และการเลือกใช้สีมีผลต่อผู้ชม (การเลือกใช้คู่สีที่เหมาะสมจะช่วยให้ผู้รับสารไม่สับสน)
- อย่าลืม 4 องค์ประกอบ – จุดสำคัญในการทำอินโฟกราฟฟิกที่ขาดไม่ได้ คือ 1) หัวเรื่อง 2) คำอธิบาย หรือหัวข้อย่อย 3) แหล่งที่มาข้อมูล ต้องระบุด้วยว่าข้อมูลที่เรานำมาใช้อ้างอิงมีที่มาจากไหน ส่วนมากจะเขียนสรุปไว้ตรงด้านล่าง และหากความสดใหม่ของข้อมูลเป็นเรื่องจำเป็น ก็ลงวันที่สืบค้นข้อมูลด้วยก็ได้ และ 4) เครดิตผู้จัดทำ/ ผู้เผยแพร่ เพื่อที่ผู้อ่านจะได้รู้ว่าใครเป็นคนจัดทำเผนแพร่ และเป็นการประชาสัมพันธ์หน่วยงาน/องค์กรของเรา อาจใส่เป็นโลโก้หน่วยงาน, url, e-mail, facebook หรือเบอร์โทรศัพท์ด้วยก็ได้
แม้อาจจะดูว่าการทำอินโฟกราฟฟิกต้องใช้เวลาในการทำพอสมควร แต่หากอินโฟกราฟฟิกที่เราทำสามารถสื่อสารเนื้อหาได้สมบูรณ์ ย่อมเกิดประโยชน์เมื่อนำไปใช้งาน ไม่เพียงสื่อสารได้อย่างถูกต้อง แต่ยังส่งผลถึงความน่าเชื่อถือ ภาพลักษณ์ และอาจช่วยให้เกิดผลลัพธ์ในการทำงานที่เกินคาด
เนื่องจากรายละเอียดของการทำอินโฟกราฟฟิกยังมีอีกเยอะ ใน EP. ต่อๆ ไป เราจะชวนคุยถึงเทคนิกการทำอินโฟกราฟฟิกให้ดึงดูดใจผู้ชม รวมถึงโปรแกรมที่ใช้ทำอินโฟกราฟฟิกแบบง่าย อย่าลืมติดตามกันละ
ข้อมูลอ้างอิง :
“คู่มือการออกแบบสื่อนำเสนอ Infographic” โดย สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน ม.ราชมงคลธัญบุรี
“Jun Sakurada “Basic Infographic” แปลโดย ณิชมน หิรัญพฤกษ์
“10 เทคนิคออกแบบ Infographic ให้ติดตราตรึงใจ” สืบค้น www.ideogram-design.com