หมัดเด็ดนักพัฒนาฯ ยุคใหม่ “สื่อสารด้วยภาพ”

หมัดเด็ดนักพัฒนาฯ ยุคใหม่ “สื่อสารด้วยภาพ” EP.2 : “แผนภาพ” ช่วยอธิบายข้อมูลก้อนโตๆ

ในการทำงานพัฒนาฯ นั้น เชื่อว่าแทบทุกคนจะต้องเจอกับการพยายามอธิบายข้อมูลก้อนใหญ่ให้กับชาวบ้าน หน่วยงาน เข้าใจด้วยความทุลักทุเล ตัวอย่างเช่น ข้อมูลทั่วไปของชุมชนประเภท จำนวนประชากรแยกตาม เพศ อายุ วัย รายได้ บลาๆ หรือการอธิบายขั้นตอนการทำงาน กระบวนการทำงานที่วุ่นวาย รายละเอียดยอบย่อย อธิบายทั้งพูด ทั้งทำท่าทาง กันจนมือพันลวันก็ยังไม่เข้าใจ ลองเปลี่ยนมาใช้แผนภาพ ในการอธิบายดูสิ แล้วทุกอย่างจะราบรื่นขึ้นเยอะเลย

แผนภาพ คือ การเอาแผนผังและคำสั้นๆ มาประกอบกัน ไม่ให้ดูน่าเบื่อจากตัวหนังสือที่มีมากมาย ช่วยให้การอธิบายรายรื่นและเข้าใจง่ายขึ้น แผนภาพ ต่างจาก Pictogram ที่เราได้เล่ากันไปแล้วตรงที่ พิกโตแกรม มุ่งสื่อข้อความนั้นๆ ทันทีที่เห็น (เห็นรูปรถไฟ รู้ทันทีว่าต้องระวังรถไฟ) แต่แผนภาพจะสื่อเรื่องราวที่มีความสัมพันธ์ เกี่ยวเนื่องกัน เป็นลำดับขั้นตอน จริงๆ แล้ว แผนภาพ ก็เป็นเหมือน กราฟ ตาราง แผนผัง แผนภูมิ ที่เอามาทำให้ง่าย และดีไซส์สวยงามคล้าย Infographic แต่ง่ายกว่า

หัวใจสำคัญของการทำ แผนภาพ ไม่ใช่การดีไซส์ แต่คือการจัดการข้อมูล เราต้องระลึกเสมอว่า การจะลงมือทำแผนภาพต้อง

1) รวบรวมข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้
2) จัดระเบียบข้อมูลให้เรียบร้อย
3) คัดสิ่งที่ไม่ต้องการ หรือไม่เกี่ยวข้องออก
4) ย่อยข้อมูลให้กระชับ
5) แบ่งหมวดหมู่ไม่ให้สับสน
6) จัดเรียงข้อมูลใหม่ตามคีย์เวิร์ดที่เราจัดหมวดหมู่ไว้
7) เลือกชนิดของแผนภาพให้เหมาะสมกับการนำเสนอข้อมูลของเรา
8) เริ่มออกแบบและลงมือทำ
9) ตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปเผยแพร่เสมอ

แล้วชนิดของแผนภาพแบบไหน เหมาะกับการอธิบายข้อมูลอะไรละ? เรามีคำตอบให้

1

อธิบายตัวเลขเยอะๆ และต้องมีการเปรียบเทียบ
การเลือกใช้กราฟเหมาะสมที่สุด แต่ควรระมัดระวังการใช้ตัวอักษรที่ไม่มากและรกจนเกินไป หากหลีกเลี่ยงไม่ได้อาจใช้รูป Pictogram, Vector แทนตัวอักษร หรือจัดดีไซส์ตัวอักษรให้เรียบร้อย และมีพื้นที่เหลือให้รู้สึกสบายตา

2

อธิบายองค์ประกอบ ส่วนประกอบในโครงสร้าง หรือผังองค์กร
เลือกใช้ผังต้นไม้ (เพื่อให้เห็นบทบาท ลำดับชั้นการทำงาน), แบบรวงผึ้ง (อธิบายความสัมพันธ์ในองค์กรแบบไม่เป็นลำดับชั้น), แบบ Satellite (อธิบายความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน), แบบ Venn diagram (รูปวงกลมที่คาบเกี่ยวกัน แต่ละวงมีข้อมูลที่แตกต่างกัน แต่ในส่วนที่คาบเกี่ยวกันมีความสัมพันธ์กัน)

3

อธิบายขั้นตอนหรือปัญหา และการแก้ไข
เลือกใช้แผนภาพที่อธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้นตามลำดับเวลา หรือแจกแจงความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องต่างๆ ได้แก่ แบบชาร์ต, แบบอธิบายลำดับขั้นตอน และแบบเป็นวงจร

4

อธิบายลำดับขั้นหรือความแตกต่างของแต่ละระดับ
ใช้แบบพีรามิด, แบบโดนัท หรือแบบต้นไม้

5

อธิบายเปรียบเทียบเรื่องราวที่หลากหลาย
เลือกใช้แบบเมตริกซ์, แบบแกนแนวตั้งแนวนอน หรือแบบตาราง

รูปแบบของ กราฟ และแผนผัง ที่เราจะทำเป็นแผนภาพทำง่ายๆ จากการเลือกเครื่องมือ แทรก > Chart และ SmartArt ใน Word หรือ Power Point ได้เลย ซึ่งสามารถตกแต่ง แทรกข้อความหรือรูปภาพ ปรับเปลี่ยนสี หรือแม้แต่ทำเป็น 3 มิติ ก็ยังได้ แต่เหนืออื่นใด ไม่ว่าเราจะทำดีไซส์สวยแค่ไหน หากข้อมูลที่เรานำเสนอไม่ได้รับการจัดการที่ดี แผนภาพ ที่เราทำขึ้นก็อาจไม่มีความหมาย และยิ่งชวนให้ผู้รับสารสับสนมากขึ้น การจัดการข้อมูล การตรวจสอบข้อมูล จึงเป็นสิ่งที่ต้องระวังและทำอยู่เสมอด้วยความรอบคอบ ข้อมูลที่เราสื่อสารจึงจะมีคุณภาพที่สุด

#พัฒนาชุมชน #พัฒนาสังคม #หมัดเด็ดนักพัฒนา #สื่อสารด้วยภาพ #DcommunityDevelopment #SocialDevelopmentGoals #ชุมชนดี

ข้อมูลอ้างอิง :

Jun Sakurada “Basic Infographic” แปลโดย ณิชมน หิรัญพฤกษ์

Share this post