ส่องสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารของไทย
หากพูดถึง “อาหารไทย” เชื่อว่าแทบทุกคนไม่ว่าจะเป็นชาวไทย หรือชาวต่างชาติ ต่างยอมรับในรสชาติความอร่อย ความหลากหลาย รวมถึงความอุดมสมบูรณ์ และยังเป็นประเทศผู้ผลิตอาหาร และผู้ส่งออกอาหารระดับต้นของโลก ถึงขั้นที่รัฐบาลไทยในยุคหนึ่งเล่นใหญ่ประกาศนโยบายผลักดันประเทศไทยให้เป็นครัวโลกกันเลยทีเดียว
เมื่อมีใครพูดถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) คนไทยส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าหมายถึงการมีอาหารเพียงพอ บวกกับภาพจำจากวาทะกรรม “ประเทศไทยโชคดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ส่งผลให้หลายคนไม่สนใจ หรือตระหนักถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหารกันอย่างจริงจัง ทั้งที่จริงแล้วในระดับโลก เรื่องของความมั่นคงทางอาหารถูกพูดถึงมาหลายทศวรรษ สอดคล้องตามสถานการณ์อาหารและสังคมในช่วงเวลานั้นๆ ช่วงปี 1960 – 1970 โลกขาดแคลนอาหาร การแก้ไขปัญหาจึงเน้นไปที่การเร่งผลิตปริมาณอาหารให้ได้มากที่สุด โดยการเพิ่มพื้นที่ภาคการเกษตร การใช้เทคโนโลยีและสารเคมีทางการเกษตร แต่แม้จะมีปริมาณอาหารเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่กลับพบว่า “ความหิวโหย” (Hunger) ในกลุ่มคนจนยังมีอยู่ ในช่วง 1980 จึงเน้น “การเข้าถึงอาหาร” โดยใช้นโยบายทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม กระจายอาหารให้ถึงทุกคน ต่อมาหลังปี 1990 ความมั่นคงทางอาหารได้ขยายครอบคลุมมิติ “ความปลอดภัยทางอาหาร” ได้แก่ คุณภาพ คุณค่าทางอาหารและโภชนาการ ความมั่นคงทางอาหาร จึงไม่ใช่แค่การที่ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารได้ มีอาหารอย่างเพียงพอ แต่ต้องเป็น “อาหารที่ดีต่อสุขภาพ” ด้วย
ปัจจุบันนี้หากพูดถึงนิยามของความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เราจะยึดตามที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดไว้ โดยมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ข้อ ได้แก่
- การมีอาหารเพียงพอ (Food Availability) – อาหารมี ‘คุณภาพ’ ที่เหมาะสมในปริมาณที่เพียงพอ สม่ำเสมอ ซึ่งอาจได้มาจากการผลิตภายในประเทศ และ/หรือ การนำเข้าและความช่วยเหลือด้านอาหาร
- การเข้าถึงอาหาร (Food Access) – ทุกคนเข้าถึงทรัพยากรภายใต้กฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศนั้น ให้ได้มาซึ่งอาหารที่มีคุณภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการ
- การใช้ประโยชน์จากอาหาร (Food Utilization) – การบริโภคอาหารเพื่อตอบสนองต่อความต้องการบริโภคของคน เน้นการมีสุขภาพและสุขอนามัยที่ดี อาหารในแง่นี้รวมถึงการมีน้ำดื่มที่สะอาดถูกสุขลักษณะด้วย
- การมีเสถียรภาพด้านอาหาร (Food Stability) – ในที่นี้ เกี่ยวข้องกับ ‘การมี’ และ ‘การเข้าถึง’ คือทุกคนเข้าถึงอาหารได้ตลอดเวลา ไม่มีความเสี่ยงเรื่องอาหารขาดแคลนจากวิกฤติใด ๆ ไม่ว่าจะทางเศรษฐกิจ วัฏจักรตามฤดูกาล หรือเพราะสภาพภูมิอากาศ
แม้ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตอาหารเลี้ยงโลก แต่จากการสำรวจของ “Economic Intelligence Unit(EIU)” หน่วยงานที่ทำหน้าที่วิเคราะห์เศรษฐกิจระดับโลกพบว่า “ดัชนีความมั่นคงทางอาหาร” (Global Food Security Index) ของ 113 ประเทศทั่วโลกล่าสุดในปี 2022 พบว่า ประเทศไทยได้คะแนนรวม 60.1 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 100) อันดับรวมอยู่ที่ 64 ของโลก ลดลงจากปีก่อนหน้าที่เคยอยู่ในอันดับที่ 51 ลงถึง 13 อันดับ หากดูเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนเราตกลงไปอยู่อันดับที่ 5 รองจากประเทศสิงคโปร์ ที่ได้อันดับที่ 28 (ตกลงจากอันดับที่ 15 ในปีก่อน) มาเลเซีย อันดับที่ 41 (ตกลงจากอันดับที่ 39) เวียดนาม อันดับที่ 46 (ขยับขึ้นจากอันดับที่ 61) และอินโดนีเซีย อันดับที่ 63 (ขยับขึ้นจากอันดับที่ 69) และเมื่อลองมองดูในรายละเอียดคะแนนพบว่า แม้ในหมวดความสะดวกในการหาซื้ออาหาร (Affordability) ไทยจะได้คะแนนสูงถึง 83.7 คะแนน แต่ในหมวดอื่นๆ กลับพบว่าคะแนนเกือบสอบตก โดย หมวดการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพที่ดี (Availability) ได้คะแนน 52.9 หมวดความยั่งยืนและการปรับตัวของภาคเกษตร (Sustainability and Adaptation) ได้คะแนนเพียง 51.6 และสอบตกในหมวดคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร (Safety and Quality) ที่ได้คะแนนเพียง 45.3 คะแนนเท่านั้น
ทั้งหมดทั้งมวลอาจช่วยให้เรามองเห็นว่า การมีอาหารปริมาณมาก หรือการเข้าถึงอาหารได้ตลอดเวลา 24 ชม. นั้นอาจไม่เพียงพอ แต่การได้รับอาหารที่ดี มีคุณภาพ ปลอดภัยจากสารพิษปนเปื้อน มีคุณค่าทางโภชนาการ และดีต่อสุขภาพ ควรเป็นสิ่งที่พวกเราต้องคำนึงถึงมากขึ้น ช่วยกันสร้างนิสัยในการเลือกบริโภคที่ดี สร้างสังคมการบริโภคอาหารปลอดภัย เริ่มจากสนับสนุนเกษตรกรที่ผลิตอาหารท้องถิ่นที่เคารพต่อธรรมชาติ ปลูก ดูแล เก็บเกี่ยวด้วยวิถีที่ไม่รบกวนสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงแต่จะเป็นการช่วยสนับสนุนคนตัวเล็กๆ ในชุมชนของเรา แต่ยังช่วยให้เราได้รับอาหารที่มีคุณภาพ สร้างความมั่นคงทางอาหารในชุมชน และสังคมของพวกเรา
ข้อมูลอ้างอิง
“Global Food Security Index 2022 report” อ่านฉบับเต็มได้ที่ https://impact.economist.com/sustainability/project/food-security-index/reports/Economist_Impact_GFSI_2022_Global_Report_Sep_2022.pdf
“SDG Vocab | 04 – Food Security – ความมั่นคงทางอาหาร” www.sdgmove.com