สถานการณ์วิกฤต “ความมั่นคงทางอาหารล่าสุด 2024”

สถานการณ์วิกฤต “ความมั่นคงทางอาหารล่าสุด 2024”

เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง

เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง คำกล่าวของ “หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร” หรือ บิดาแห่งการเกษตรไทย คำที่เราคุ้นหูมามานานเมื่อประเทศไทยได้เจอกับสถานการณ์ภัยพิบัติ “น้ำท่วม” ทำให้เราได้รู้ซึ้งว่า ‘น้ำ’ และ ‘อาหาร’ เป็นปัจจัยหลักในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ปัจจุบันถึงแม้โลกยังหมุนไป เทคโนโลยีช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้กับประชากรโลก แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่ต้องเผชิญต่อความอดอยาก และความขาดแคลนทางอาหาร และนับวันก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นหลังจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ กลายเป็นปัญหาที่เราไม่สามารถควบคุมได้อีกต่อไป

ดังนั้น ‘ความมั่นคงด้านอาหาร’ จึงได้กลายเป็นปัญหาที่หลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่และมีการสร้างมาตรการในการรับมือ เพื่อความอยู่รอดของประชากร เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งภาวะสงคราม วิกฤตการณ์โลกร้อน ทำให้ขีดความสามารถในการผลิตอาหารลดลง และส่งผลกระทบต่อราคาอาหารให้สูงขึ้น กระทบมาสู่อุตสาหกรรมอาหาร จนกระทั่งประชากรที่ยากจนไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้

วันนี้จึงอยากชวนทุกคนลองมาสำรวจสถานการณ์ และปัจจัยอะไรที่ทำให้โลกเกิดความ (ไม่) มั่นคงทางอาหาร พร้อมกับแนวทางการรับมือ เพื่อทบทวน และร่วมกันท้าทายสถานการณ์นี้

สถานการณ์โลก

จากรายงานวิกฤตการณ์อาหารโลก ฉบับปี 2567 (Global Report on Food Crises :GRFC 2024) ได้เปิดเผยว่าประชากรเกือบ 282 ล้านคนใน 59 ประเทศและเขตแดนประสบปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร เผชิญกับความหิวโหยเฉียบพลันในระดับที่สูง โดยตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 24 ล้านคน เป็นผลมาจากความขัดแย้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ฉนวนกาซา เหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและรายงานประจำปีของ Global Network Against Food Crises จัดทำ โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) โครงการอาหารโลก (World Food Program: WFP) และสหภาพยุโรป ได้วิเคราะห์ว่าเด็กและผู้หญิง ถือเป็นด่านแรกที่ต้องเผชิญกับวิกฤตความหิวโหย ซึ่งพบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวนกว่า 36 ล้านคน ขาดสารอาหารอย่างรุนแรงใน 32 ประเทศ แสดงให้เห็นถึงภาวะทุพโภชนาการที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในปี 2566 โดยเฉพาะในกลุ่มผู้พลัดถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและภัยพิบัติ
โดยในปี 2566 พบว่าผู้คนกว่า 705,000 คน ประสบปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารเฉียบพลันอย่างรุนแรงที่สุดและมีความเสี่ยงต่อความอดอยากในระดับภัยพิบัติ (IPC/CH Phase 5) ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่านับตั้งแต่ปี 2559 และถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่มีการรายงานมา อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน พื้นที่ฉนวนกาซา คิดเป็นร้อยละ 80 ของผู้ที่เผชิญกับปัญหาความอดอยาก เช่นเดียวกับในพื้นที่ซูดานใต้ บูร์กินาฟาโซ โซมาเลีย และมาลี ขณะเดียวกันรายงานได้คาดว่าในอนาคต ผู้คนประมาณ 1.1 ล้านคนในฉนวนกาซา และ 79,000 คนในซูดานใต้ ประสบกับความไม่มั่นคงทางอาหารเฉียบพลันอย่างรุนแรงที่สุดในระดับภัยพิบัติ (IPC/CH Phase 5) ภายในเดือนกรกฎาคม 2567

ปัจจัยที่ขับเคลื่อนให้เกิดวิกฤตการณ์ด้านอาหาร ในปี 2567 ได้แก่

  • ปัญหาความขัดแย้ง เป็นสาเหตุหลักที่ผลักดันให้ผู้คน 135 ล้านคน ใน 20 ประเทศและเขตแดน เผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารเฉียบพลัน ขณะที่ซูดาน ประสบกับความเสื่อมถอยครั้งใหญ่ที่สุด เหตุจากความขัดแย้ง โดยมีผู้คนถึง 8.6 ล้านคนเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารเฉียบพลันในระดับสูง เมื่อเทียบกับปี 2566
  • เหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว เป็นตัวขับเคลื่อนหลักให้ผู้คนกว่า 77 ล้านคน ใน 18 ประเทศและเขตแดน เผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารเฉียบพลันในระดับสูง เพิ่มขึ้นกว่าในปี 2565 จาก 57 ล้านคน ใน 12 ประเทศและเขตแดน ขณะที่ ปี 2566 โลกเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประชากร ทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรง พายุ ความแห้งแล้ง ไฟป่า โรคและการระบาดศัตรูพืช
  • ผลกระทบทางเศรษฐกิจ หรือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำส่งผลกระทบให้ผู้คนกว่า 75 ล้านคน ใน 21 ประเทศต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารอย่างเฉียบพลันในระดับสูง เนื่องจากการพึ่งพาอาหารนำเข้าและปัจจัยการผลิตทางการเกษตรในระดับสูง ความท้าทายทางเศรษฐกิจของประเทศที่ยังคงมีอยู่ เช่น ปัญหาค่าเงินอ่อนค่า สินค้ามีราคาสูง และภาวะหนี้สูง

สถานการณ์ในประเทศไทย

จากการสำรวจดัชนีชี้วัดความมั่นคงทางอาหารของโลกทั้งหมด 113 ประเทศ พบว่าในปี 2022 ประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหารอยู่อันดับที่ 64 อยู่ในระดับเดียวกับประเทศโคลัมเบีย ตกลงมาถึง 13 อันดับจากเดิมในปี 2021 อยู่อันดับที่ 51
จากการประเมินคะแนนความมั่นคงด้านอาหารทั้งหมด 4 ด้าน พบว่า ด้านที่ 1 ความสามารถในการซื้ออาหาร เป็นประเด็นที่ประเทศไทยทำได้ดีที่สุด ซึ่งจัดอยู่อันดับที่ 39 ในระดับโลก และ อันดับที่ 8 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้านที่ 2 ความมีอยู่อย่างสมบูรณ์ของอาหาร ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 77 ในระดับโลก และ อันดับที่ 21 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ส่วนด้านที่ 3 คุณภาพและความปลอดภัย ประเทศไทยมีการดำเนินการที่ย่ำแย่ อันดับที่ 102 ทั่วโลก และ อันดับที่ 23 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และขณะที่ สุดท้ายด้านที่ 4 ความยั่งยืนและการปรับตัว จัดอยู่ในอันดับที่ 69 ทั่วโลก ได้คะแนนดีในตัวชี้วัดการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ

จากภาพรวมข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าแม้ประเทศไทยจะมีภาพจำว่าเป็นผู้ส่งออกผลผลิตทางการเกษตรเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แต่ว่าด้านการเข้าถึงคุณภาพและความปลอดภัย ประเทศไทยก็ยังมีการดำเนินการได้ไม่ดีเท่าที่ควร

แนวทางการรับมือด้านความมั่นคงทางอาหาร

ถึงแม้ประเทศไทยจะเป็นจุดศูนย์รวมความอุดมสมบูรณ์ และวัฒนธรรมทางด้านอาหาร ที่ขึ้นชื่อได้ว่าเป็น “ครัวโลก” แต่ความมั่นคงทางอาหารนั้นยังต้องรวมถึงคุณภาพของอาหาร โภชนาการ การเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงความมั่นคงของแหล่งผลิตอาหารด้วย
สำหรับแนวทางการรับมือด้านความมั่นคงทางอาหารจากการเปลี่ยนแปลงของวิกฤติสภาพอากาศนั้นคงต้องเริ่มจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถึงแม้เราจะคุ้นเคยกับคำนี้
มานาน แต่ปัญหานี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขที่ดีได้เสียที ดังนั้นการปรับตัวเพื่อรับมือกับการขาดแคลนอาหารในอนาคต จึงเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน โดยช่วยกันวางนโยบายให้ทุกคนเข้าถึงแหล่งอาหารได้ และการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านคมนาคม อุตสาหกรรม พลังงาน เป็นต้น

  • ภาครัฐต้องร่วมมือกับภาคเอกชนในการวางแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในภาคการเกษตร อุตสาหกรรม พลังงาน และการขนส่ง รวมถึงการดูแลกลุ่มที่เปราะบางในการเข้าถึงแหล่งอาหารที่ดี
  • ภาคเอกชนต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงสะอาดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิล
  • ภาคประชาสังคมคอยตรวจตราดูการทำงานของภาครัฐ รวมถึงการวางนโยบายเกี่ยวกับการลดโลกร้อนและความมั่นคงด้านอาหาร
  • ประชาชนเองก็ควรตระหนักรู้ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคอาหาร เช่น การลดปริมาณขยะอาหารให้เหลือน้อยที่สุด

ดังนั้นการสร้างความตระหนักถึงความเป็นจริงของปัญหาความมั่นคงทางอาหารร่วมกันคงเป็นทางออก และแก้ไขปัญหาได้ดีที่สุด ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อวางกลยุทธิ์ที่มีประสิทธิภาพ และประชาชนสามารถปรับตัวให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ รวมทั้งการบริหารจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า เพื่อส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืนและสร้างความคล่องตัวในการรับมือกับภัยธรรมชาติ ปลูกฝังและถ่ายทอดแนวคิดสู่คนรุ่นหลังต่อไป

Share this post