ผักปลอดภัย? – ประเภทไหน ปลอดภัยเพียงพอสำหรับเรา
ผักอนามัย, ผักปลอดภัย, ผักปลอดสารพิษ, ผักอินทรีย์? หลากหลายชื่อเรียกสำหรับผักทางเลือกในตลาดสุขภาพ หลายคนยังสับสนว่ามันเหมือน หรือแตกต่างกันอย่างไร? และผักที่มีตรารับรองจะปลอดภัย 100% หรือไม่? แล้วผักประเภทไหนที่จะ ‘ปลอดภัย’ เพียงพอสำหรับเรา
- ผักอนามัย ผักที่มีตรามาตรฐานผักผลไม้อนามัย รับรองโดย กรมวิชาการเกษตร ปลูกแบบใช้สารเคมี แต่ควบคุม จึงอาจไม่ปลอดภัยจาก GMOs หรือปุ๋ย ยา และฮอร์โมนตกค้าง
- ผักปลอดภัย คือผักที่มีตรารับรองคุณภาพระบบตรวจสอบสารพิษ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปลูกแบบใช้สารเคมี แต่ควบคุม จึงอาจไม่ปลอดภัยจาก GMOs หรือปุ๋ย ยา และฮอร์โมนตกค้าง
- ผักไร้ดิน (ไฮโดรโพนิกส์) คือผักที่มีตรารับรอง GAP โดยกรมวิชาการเกษตร หรือไม่มี ปลูกในน้ำ โดยให้อาหารสังเคราะห์ทั้งเคมีและอินทรีย์ อาจเสี่ยงไนเตรตตกค้าง และอาจไม่ปลอดภัยจาก GMOs หรือปุ๋ย ยา และฮอร์โมนตกค้าง
ผักไร้สาร (ปลอดสารพิษ) คือผักที่ผ่านระบบ PGS (ชุมชนรับรอง) หรือไม่มี ปลูกแบบไม่ใช้สารเคมี แต่ไม่ทุกขั้นตอนในการปลูก อาจไม่ได้ควบคุมเรื่องเมล็ดพันธุ์ ระบบการจัดการ และการตรวจสอบย้อนหลัง จึงอาจไม่ปลอดภัยจาก GMOs หรือปุ๋ย ยา และฮอร์โมนตกค้าง
ผักอินทรีย์ คือผักที่ปลูกแบบไม่ใช้สารเคมีทุกขั้นตอน ปลูกด้วยวัสดุจากธรรมชาติล้วนๆ ปลอดภัยจาก GMOs ปุ๋ย ยา และฮอร์โมน มีตรารับรองโดยเกษตรอินทรีย์ PGS มกอช. และ มกท. (IFOAM)
นอกจากความแตกต่างของผักแต่ละประเภทแล้ว สิ่งที่ผักอินทรีย์ หรือผักออร์แกนิคแตกต่างจากผักปลอดภัยประเภทอื่น ๆ คือ ต้องปลูกด้วยวิธีธรรมชาติ 100% งดเว้นสารเคมีสังเคราะห์ทุกประบวนการ ส่วนมากมักเลือกปลูกพืชตามฤดูกาล ใช้สมุนไพรแทนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีที่มาจากฟาร์มอินทรีย์ ใช้พืชสายพันธุ์ดั้งเดิม ไม่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม (GMOs) มีการจัดการฟาร์มไม่ให้เกิดการปนเปื้อนจากภายนอก การเก็บเกี่ยวและการขนส่ง ต้องรักษาความสดใหม่ ไม่ก่อมลภาวะกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงต้องให้ความสำคัญต่อทั้งผู้ผลิต แรงงานในฟาร์ม และความยุติธรรมกับผู้บริโภค
แม้การมีตรารับรองมาตรฐานจะช่วยให้เราตัดสินใจเลือกซื้อผักปลอดภัยต้องตรงตามความต้องการ แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่า คือ การเลือกซื้อผักปลอดภัยจากเกษตรกรที่เรารู้จักที่มา และมั่นใจได้ว่าขั้นตอนการปลูกมีความปลอดภัยตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ การจัดการฟาร์ม การดูแล การเก็บเกี่ยว จนถึงการขนส่งถึงมือเรา ก็จะช่วยให้เราได้บริโภคอาหารปลอดภัย ทั้งต่อตัวเราและสิ่งแวดล้อม
สิ่งสำคัญที่ไม่อาจลืมได้ คือ ไม่ว่าเราจะซื้อผักจากแหล่งใด อย่าลืมล้าง ทำความสะอาดให้ดีก่อนบริโภค เพจ D-Community หวังว่า ข้อมูลนี้จะช่วยให้ทั้งเราที่เป็นผู้บริโภค และเกษตรกรผู้ผลิตที่อาจยังสับสนว่าตัวเองกำลังผลิตผักปลอดภัยประเภทใดได้รับความรู้ ช่วยในการสื่อสารและทำความเข้าใจร่วมกัน เพื่อประโยชน์แก่ทั้งเกษตรกร และผู้บริโภค