“ป่าครอบครัว” ทางเลือกเพื่อทางรอด ตอนที่ 1
ช่วงเวลา 1 – 2 ปีมานี้ หลายคนอาจได้ยินข่าวการจัดตั้งบริษัทรับจ้างพัฒนาที่ดินรกร้าง หรือรับปรับปรุงพื้นที่ว่างเปล่าให้เป็นสวนเกษตรผุดขึ้นหลายบริษัทในเขตชุมชนเมือง และแทบจะทั้งหมดกำลังมีลูกค้าล้นมือ สืบเนื่องมาจาก พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ที่ออกมาเพื่อป้องกันการเก็งกำไรให้ “พื้นที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า” หรือ “ไม่ได้ทำประโยชน์” ถูกจัดเก็บภาษีในอัตราสูงที่สุด แตกต่างอย่างมากกับอัตราภาษีพื้นที่เกษตรกรรม พื้นดินรกร้างที่เคยเป็นหย่อมป่าหลายที่จึงกำลังถูกเปลี่ยนเป็นเกษตรเชิงเดี่ยว นี่อาจส่งผลให้กลายเป็นหมุดหมายการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ
ในขณะที่ที่ดินรกร้างในเขตเมืองซึ่งส่วนใหญ่มีนายทุน หรือ Landlord ถือครองกำลังถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เกษตรกรในต่างจังหวัดก็ยังคงได้รับผลกระทบจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ที่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพมาเนิ่นนาน หลายคนต้องยอมจำนนพ่ายแพ้ต่อระบบการเกษตรทุนนิยม กลายเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรม หลายคนสูญเสียที่ดินให้เจ้าหนี้ ทั้งธนาคารของรัฐ เอกชน หรือหนี้นอกระบบ
ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสังคมเมืองแบบในปัจจุบัน วิถีชุมชนของไทยอยู่ร่วมกับธรรมชาติมาเนิ่นนาน หลายหมู่บ้านมีเขต “ป่าท้ายหมู่บ้าน” หรือ “ป่าหัวไร่ปลายนา” ที่อาจเป็นป่าธรรมชาติที่ชุมชนอนุรักษ์ไว้ หรือเกิดจากที่โล่งเตียนปล่อยทิ้งไว้ตามธรรมชาติ แล้วค่อยเปลี่ยนสภาพกลายเป็นป่าที่สมบูรณ์ตามกระบวนการทดแทนของสังคมพืช ซึ่งต้องใช้เวลายาวนานหลายสิบปี โดยที่ชุมชนสามารถเข้าถึง ใช้ประโยชน์ หรือประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อบนพื้นที่นั้น
นอกจากป่าที่มีชุมชนเป็นผู้ดูแล ในบางชุมชน บางครอบครัวยังมีการอนุรักษ์พื้นที่ป่าธรรมชาติที่มีอยู่ก่อนแล้วในพื้นที่ดั้งเดิมของครอบครัวไว้ให้เป็นป่าธรรมชาติ หรือเป็นพื้นที่ที่ครอบครัวพัฒนาขึ้นให้เป็นป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพหรือมีสภาพใกล้เคียงป่าธรรมชาติ บางส่วนให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ มีลักษณะเป็น “ป่าครอบครัว” หรือบ้างก็เรียกว่า สวนเกษตรยั่งยืน สวนวนเกษตร สวนสมรม สวนพฤกษศาสตร์ เป็นต้น
แม้การปลูก “ป่าครอบครัว” อาจไม่ก่อให้เกิดภาพ “สวนเกษตร” หรือ “สวนป่า” อย่างที่รัฐนิยามไว้ เนื่องจากการปลูกป่าครอบครัวส่วนใหญ่มีลักษณะการปลูกอ้างอิงจากธรรมชาติ ไม่มีความเป็น “แถว” เป็น “แนว” อย่างสวนป่า แต่เป็นการปลูกต้นไม้หลากหลายชนิด ระดับเรือนยอดแตกต่างกัน ปะปนกันไปทั้งไม้ใหญ่ หรือพญาไม้ ไม้เนื้อแข็ง ไม้เนื้อปานกลาง ไม้เนื้ออ่อน ไม้ผล ไม้เลื้อย ไม้เรี่ยดิน ไปจนถึงไม้หัว และไม้น้ำ เพื่อให้เกิดลักษณะคล้ายธรรมชาติ และให้ธรรมชาติดูแลซึ่งกันและกัน แต่สวนป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพใกล้เคียงกับป่าธรรมชาติเหล่านี้มีโอกาสพัฒนาเป็น “สะพานนิเวศ” (Ecology Corridor) หรือจุดเชื่อมต่อทางธรรมชาติ รักษาสมดุลการปะทะสังสรรค์กันระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างๆ เปิดทางให้พรรณไม้ท้องถิ่นได้กลับมาเจริญเติบโตได้ด้วยตนเองหรือผ่านการปลูกใหม่ เพื่อคุ้มครองพันธุกรรมของพันธุ์พืชเหล่านี้จากการคุกคามของพืชต่างถิ่น ทั้งยังช่วยให้สัตว์บางชนิดอย่าง นกย้ายถิ่น ได้มีที่พักที่หากิน ป้องกันการสูญพันธุ์อีกด้วย
คนจำนวนมากมักพูดกันเสมอว่า การสร้างและอนุรักษ์ “ป่า” ไม่ใช่หน้าที่ของภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนต้องช่วยกัน แต่การสร้างและอนุรักษ์ป่าของคนธรรมดาทั่วไป ไม่สามารถเข้าไปทำในพื้นที่ของรัฐอย่าง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตอุทยาน ได้เอง ในขณะเดียวกัน หากชาวบ้าน หรือชุมชนตระหนัก สร้างป่าในพื้นที่ที่มีโฉนดของตนเอง เจ้าหน้าที่ของรัฐเองก็ควรจะต้องมีความรู้ ความเข้าอกเข้าใจในเชิงลึกในการบังคับใช้กฎหมาย ถ้าการใช้ประโยชน์ที่ดินมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การไม่ใช้ประโยชน์เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า รัฐไม่มีสิทธิเรียกเก็บภาษี แต่ควรต้องส่งเสริมให้เกิดการสร้างพื้นเพื่อสิ่งแวดล้อมที่สร้างสรรค์ เพื่อการดำรงอยู่อย่างหลากหลายของชีวภาพ เพราะ “หากป่าหายไป คนก็ยากจะมีชีวิตอยู่”