ปัจจุบัน และอนาคต “เกษตรอินทรีย์” ไทย

ปัจจุบัน และอนาคต “เกษตรอินทรีย์” ไทย

เชื่อว่าเมื่อพูดถึง “เกษตรอินทรีย์” (Organic Agriculture) ใคร ๆ ต่างก็เคยได้ยินคำนี้แทบจะทั้งนั้น รัฐบาลไทยเองก็บรรจุแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2566-2570 ลงไปในนโยบายแผนยุทธศาสตร์ชาติ

โดยมีแนวทาง 1) การส่งเสริมวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงฐานข้อมูลด้านเกษตรอินทรีย์ 2) การพัฒนาศักยภาพการผลิต และการบริหารจัดการตลอดโซ่อุปทาน 3) ยกระดับมาตรฐานและระบบรับรองเกษตรอินทรีย์ และ 4) พัฒนาการตลาดและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์

เกษตรอินทรีย์ มีแนวคิดแตกต่างจากเกษตรกระแสหลักที่มุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิต แต่เกษตรอินทรีย์เป็นการทำเกษตรแบบองค์รวม เน้นความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน

การรักษาแหล่งน้ำให้สะอาด ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในฟาร์ม จัดการพื้นที่เชิงสร้างสรรค์

ใช้กระบวนการการเรียนรู้และภูมิปัญญา เป็นการบริหารจัดการฟาร์มเชิงบวก (Positive management) นอกจากนี้เกษตรอินทรีย์ยังให้ความสำคัญกับเกษตรกรผู้ผลิตและชุมชนท้องถิ่น ฟื้นฟูวิถีชีวิตของชุมชนเกษตรกรรม อ่อนน้อมและเคารพต่อธรรมชาติ สอดคล้องกลมกลืนกับวิถีชุมชนเกษตรพื้นบ้าน นั่นทำให้เกษตรอินทรีย์แตกต่างจากเกษตรปลอดสารเคมีและเกษตรไร้สารพิษที่เฟื่องฟูในบ้านเราในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็มักออกมาพูดถึงความสำคัญของเกษตรอินทรีย์ พื้นที่การทำเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี พ.ศ.2562 มีพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกรวม 481.785 ล้านไร่ แต่นั่นก็เป็นเพียง 1.5% ของพื้นที่เพาะปลูกทางเกษตรทั้งหมดของโลก ประเทศที่มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์อันดับ 1 ของโลก คือ ออสเตรเลีย (223.049 ล้านไร่) รองลงมา คือ อาเจนตินา (22.952 ล้านไร่) และ สเปน (14.718 ล้านไร่) ส่วนประเทศไทย เป็นอันดับที่ 38 ของโลก (1.178 ล้านไร่) โดยมี อินเดีย (14.370 ล้านไร่), จีน (13.850 ล้านไร่), คาซัคสถาน (1.839 ล้านไร่), อินโดนีเซีย (1.573 ล้านไร่) และไทย เป็นท้อป 5 ของทวีปเอเชีย

การผลิตเกษตรอินทรีย์ในไทยหลักๆ มี 2 แบบ คือ 1) เกษตรอินทรีย์แบบพึ่งพาตนเอง ซึ่งโดยมากเป็นการทำเกษตรโดยอาศัยภูมิปัญญาพื้นบ้าน และ 2) เกษตรอินทรีย์ที่มีการรับรองมาตรฐาน ขณะที่เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ (พืช ปศุสัตว์ และประมง) ในปี 2564 (จากการประมาณการของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) อยู่ที่95,752 ราย โดยสินค้าเกษตรอินทรีย์ส่วนใหญ่เป็น ข้าวอินทรีย์ ทุเรียน มังคุด มะพร้าว ขณะเดียวกันไทยเองก็นำเข้าผลผลิตเกษตรอินทรีย์จาก เมียนมาร์ ปากีสถาน เวียดนาม และลาวเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็น ข้าวเหนียว ข้าวหอม ทุเรียนแช่แข็ง และกะทิสำเร็จรูป เช่นกัน

จากสถานการณ์ที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ (Complete Aged Society) และกำลังก้าวสู่ “สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด” (Super Aged Society) ในปี 2577 บวกกับกระแสรักสุขภาพที่พฤติกรรมผู้บริโภคมีแนวโน้มสู่กระแสการบริโภคอาหารอินทรีย์เพิ่มขึ้น รวมถึงกระแสการท่องเที่ยวแนวใหม่ ที่พฤติกรรมการท่องเที่ยวแบบกลุ่มใหญ่ (Mass Tourism) จะเปลี่ยนเป็นการท่องเที่ยวแบบอิสระ (Free Independent Traveler: FIT) และเน้นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ที่เน้นการท่องเที่ยวแบบสัมผัสชีวิตท้องถิ่น การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวเชิงเกษตรควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ทำเสนอเมนูอาหารและวัตถุดิบท้องถิ่น พืช ผัก ผลไม้ และสมุนไพร ผสมผสานการบอกต่อเรื่องราว (Story Telling) สอดประสานเป็นเครือข่ายท่องเที่ยวชุมชนเชิงอนุรักษ์ ซึ่งนับเป็นโอกาสของเกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ให้ได้ต่อยอดจากการทำเกษตร ไม่เพียงการผลิตเพื่อจำหน่ายผลผลิตแต่เพียงเท่านั้น

ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ ตลาดเกษตรอินทรีย์ไทยเน้นการจำหน่ายผ่าน 4 ช่องทางหลัก คือ

  1. ระบบ สมาชิก โดยอาศัยความสัมพันธ์ตรงระหว่างสมาชิกผู้ผลิตกับผู้ซื้อ ในลักษณะเดียวกับระบบ TEIKEI ที่ ญี่ปุ่น หรือ Community Support Agriculture และ BOX ในยุโรปหรือสหรัฐฯ โดยผู้ซื้อตกลงกับผู้ผลิตในการซื้อขายสินค้าและชำระเงินล่วงหน้า ซึ่งหลังจากเก็บเกี่ยว ผลผลิตจะถูกส่งไปยังจุดกระจายสินค้า
  2. ตลาดนัด ซึ่งมักจัดขึ้นบริเวณจุดชุมนุมชนที่มีผู้บริโภคหนาแน่น และค้าขายเฉพาะในวันที่กำหนด
  3. ช่องทางเฉพาะ เป็นการดำเนินการโดยผู้ประกอบการที่มีนโยบายด้านเกษตรอินทรีย์ สุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน ซึ่งอาจมีหลายรูปแบบ เช่น ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หรือซูเปอร์มาร์เก็ต เกษตรอินทรีย์
  4. การตลาดทั่วไป อาทิ โมเดิร์นเทรด ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป และห้างสรรพสินค้า

และในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ผู้บริโภคที่ไม่สามารถเดินทางไปยังร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ หรือโมเดิร์นเทรดได้ ก็อาศัยช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์คในการสั่งสินค้าเกษตรอินทรีย์โดยตรงจากเกษตรกร นับเป็นอีกช่องทางการตลาดที่เกิดขึ้นในโลกยุคใหม่

แม้ภาครัฐจะบรรจุนโยบายส่งเสริมเกษตรอินรีย์ลงในแผนการพัฒนา แต่การจะรอเพียงนโยบายของภาครัฐ เพื่อส่งเสริมหรือสนับสนุนเหมือนเกษตรกระแสหลักก็คงขัดกับแนวทางการทำเกษตรอินทรีย์ ที่เน้นการพึ่งพาตนเอง ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยการผลิตอย่าง ปุ๋ยอินทรีย์ เมล็ดพันธุ์ เทคนิคการผลิต ให้เป็นไปตามสมดุลของธรรมชาติ วิถีชีวิตและขบวนการทางสังคม และในอนาคตที่เกษตรกรมีช่องทางการตลาดเพิ่มมากขึ้น การขยายช่องทางเศรษฐกิจสู่การทำ ฟาร์มสเตย์ (Farm Stay) หรือการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ที่นอกจากจะเปิดโอกาสให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตกับผู้บริโภคแล้ว การได้ถ่ายทอดเรื่องราว รวมถึงแนวคิดในการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม อาจเป็นอีกจุดเล็กๆ ที่ช่วยเปลี่ยนโลกของเราให้กลับมาสดใสน่าอยู่อีกครั้งก็ได้

ข้อมูลอ้างอิง

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, “(ร่าง) แผนการปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ.2566-2570”

International Federation of Organic Agricultural Movements: IFOAM, “The World of Organic Agriculture 2021”

www.greennet.or.th, “แนวทางเกษตรอินทรีย์”

ดร. ฤทัยชนก จริงจิตร, “อนาคตเกษตรอินทรีย์ไทย: รุ่ง หรือร่วง”

Share this post