ธนาคารต้นกล้าป่าชายเลน

“ธนาคารต้นกล้าป่าชายเลน”
โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นกล้าป่าชายเลนชุมชนคลองหัวจาก ธนาคารเพาะกล้าของชุมชนคนทำดี

จากแรงบันดาลใจของชาวชุมชนคลองหัวจาก ที่อยากแก้ไขปัญหาดินเลนของป่าชายเลนภายในโรงเรียนพระพิมลเสนี (พร้อม หงสกุล) แหล่งศึกษาของลูกหลานพวกเขาที่เสื่อมโทรม ดินเลนส่งกลิ่นเน่าเหม็น ให้กลับมาเป็นป่าชายเลนที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำได้เหมือนในอดีต ทำให้ชาวชุมชนคลองหัวจากจับมือกันร่วมแรงร่วมใจ ปรับปรุงสภาพดินเลน รวมถึงจัดระเบียบภายในป่าชายเลน และปลูกกล้าไม้หลากหลาย เพิ่มปริมาณต้นไม้ ตลอดจนปรับปรุงให้ป่าชายเลนในชุมชนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน

ช่วงแรกของการแก้ปัญหาป่าชายเลนในชุมชน พวกเขาต้องเรียนรู้เรื่องการแก้ไขปัญหาดิน การทำคลองไส้ไก่ การโพรงดินให้น้ำไหลสะดวก การเติมจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงเพื่อเติมออกซิเจนให้ดิน จนถึงการเพาะพันธุ์กล้าไม้ป่าชายเลน เพื่อเพิ่มปริมาณต้นไม้ภายในป่าชายเลนของพวกเขา

จากภูมิปัญหาและองค์ความรู้จากการศึกษาดูงาน ทำให้ชาวชุมชนคลองหัวจากสามารถเพาะพันธุ์กล้าไม้ป่าชายเลนได้ด้วยตัวเอง ไม่เพียงแต่ใช้ปลูกเพื่อเพิ่มปริมาณไม้ในป่าชายเลนของชุมชน แต่พวกเขายังก่อตั้ง “ธนาคารต้นกล้าป่าชายเลน” เพื่อแบ่งปันพันธุ์ไม้จำหน่ายแก่หน่วยงาน และผู้ที่สนใจ โดยรายได้จากการจำหน่ายนอกจากตอบแทนให้กับสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจฯ ยัง Return กลับสู่ชุมชนเพื่อใช้พัฒนาพื้นที่และแหล่งเรียนรู้ และอีกส่วนสมทบเข้ากองทุนโรงเรียนพระพิมลเสนี (พร้อม หงสกุล) เป็นค่าอาหารกลางวัน และทุนการศึกษาแก่นักเรียน ลูกหลานพวกเขา

ต้นกล้าของพวกเขา ทั้งโกงกาง ตะบูน ลุ่ย เหงือกปลาหมอ นอกจากจะเพาะขึ้นมาจากต้นพันธุ์ในชุมชน ไม่ต้องซื้อพันธุ์ไม้จากแหล่งอื่น พวกเขายังเพิ่มกิมมิครักษ์โลกด้วยการใช้ “ตะกร้าสานใบจาก” แทนถุงพลาสติกที่นอกจากจะเป็นขยะแล้ว กระบวนการผลิตยังทำร้ายโลก แถมยังช่วยให้ต้นไม้ยึดเกาะกับดินเลนได้ดี และย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติอีกด้วย

จากข้อมูลการจำหน่ายต้นกล้าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นกล้าป่าชายเลนชุมชนคลองหัวจาก ปี 2565 (ข้อมูล ณ เดือน ก.ค. 65) ชุมชนจำหน่ายต้นกล้าไปแล้วกว่า 4,256 ต้น เป็นโกงกาง 3,816 ต้น, ลุ่ย 250 ต้น, ตะบูน 150 ต้น และเหงือกปลาหมอ 40 ต้น สร้างรายได้กว่า 84,000 บาท และมีเงินสมทบเข้ากองทุนของโรงเรียนพระพิมนเสนี (พร้อม หงสกุล) กว่า 7,300 บาท

จากเป้าหมายการสร้างความสมบูรณ์ของระบบนิวเศป่าชายเลนให้คืนกลับมา ความสำเร็จอาจไม่ใช่จำนวนต้นไม้ที่ขายได้ หรือรายได้ที่ได้รับ แต่ความสุขใจ รอยยิ้ม และความภาคภูมิใจในทุกครั้งที่พวกเขาได้บอกเล่าเรื่องราวแก่ผู้มาเยี่ยมเยือนที่เราสัมผัสได้นั้น ทำให้เราเชื่อว่า ชาวชุมชนคลองหัวจากจะรักษาป่าชายเลนของพวกเขา และพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนให้เหล่านักอนุรักษ์และผู้สนใจได้เข้ามาเที่ยวชม ตลอดจนพัฒนากลุ่มวิสาหกิจธนาคารต้นกล้าป่าชายเลนฯ ของพวกเขาให้ยั่งยืน สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตตนเอง คนในชุมชน และลูกหลานของพวกเขาได้ตลอดไป

Share this post