“พลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน” ถอดแนวคิด หลักการ และเครื่องมือทำงาน ลูกธนูแห่งความสำเร็จ ที่พุ่งเป้าไปสู่ความยั่งยืนของชุมชน

“พลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน” ถอดแนวคิด หลักการ และเครื่องมือทำงาน ลูกธนูแห่งความสำเร็จ ที่พุ่งเป้าไปสู่ความยั่งยืนของชุมชน

โครงการพลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ CEIS ในทุกพื้นที่การทำงานล้วนมีเป้าหมายปลายทางสุดท้ายที่พวกเราอยากเห็นนั่นคือ “ความยั่งยืนของชุมชน” ซึ่งการจะนำพาชุมชนให้ไปได้ถึงฝั่งฝันนี้ได้นั้น การติดอาวุธให้กับชุมชนเพื่อให้ชุมชนฝ่าวิกฤติการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนับเป็นส่วนสำคัญ อาวุธดังกล่าวอาจเปรียบได้กับลูกธนูที่มุ่งสู่เป้าหมายที่พวกเราตั้งเอาไว้ แนวทางการดำเนินโครงการของ CEIS จึงประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนที่ 1 ฐานทุนชุมชน และปัจจัยผันแปรที่เกิดขึ้นในชุมชน ซึ่งเป็นส่วนที่เราต้องนำมานั่งคิดวิเคราะห์เพื่อให้มองเห็นปัญหาอย่างรอบด้าน ทั้งในส่วนของชุมชนและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน ส่วนที่ 2 แนวคิดและหลักการทำงาน ที่เปรียบเสมือนอุดมการณ์ หลักการ ที่พวกเรา CEIS ยึดถือเป็นหลักปฎิบัติที่เจ้าหน้าที่ทุกคนจะต้องนำไปให้อย่างแม่นยำ และ ส่วนที่ 3 กลุ่มเครื่องมือ เปรียบเสมือยุทโธปกรณ์ที่เรานำมาใช้ในการยิงธนู เพื่อให้ลูกธนูนี้ (ชุมชน) พุ่งไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จ

หากจะอธิบายหลักคิด และแนวทางการทำงานพัฒนาชุมชนของโครงการ CEIS ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา หัวหน้าโครงการพลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (CEIS) ผู้ออกแบบ และวางหลักการการทำงานอธิบายไว้ดังนี้

CEIS เรามองไปที่อันดับแรกเลยนั้นคือ “ฐานทุน” ที่มีในชุมชน ซึ่งในแต่ละชุมชนก็จะมีฐานทุนใหญ่ ๆ อยู่ 2 ชนิด ชนิดแรกเลย ได้แก่ ทุนมนุษย์ นั่นก็คือ ชาวบ้าน หรือ ชุมชน อีกอันหนึ่งก็คือ ทุนทางธรรมชาติ ได้แก่ ที่ดิน แหล่งน้ำ ป่าไม้ สรรพสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนนั้น ๆ ส่วนในชุมชนเมืองนั้นจะแตกต่างจากชุมชนชนบท ที่ต้นทุนทางธรรมชาติอาจจะมีน้อย แต่ในชุมชนเมืองจะมีทุนที่มาทดแทนทุนทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นฐานทุนที่เกิดจากนวัตกรรม หรือ โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ได้แก่ ระบบพื้นฐานการขนส่ง เช่น ถนน ทางรถไฟ สนามบิน การสื่อสาร โทรคมนาคม รวมทั้งอุตสาหกรรมหลัก และระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ดังนั้นชุมชนในเมืองอาจจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ได้เปรียบกว่าในชนบท เช่น การเข้าถึงแหล่งข้อมูล ระบบการคมนาคม ขนส่ง การเข้าถึงสถานพยาบาลต่าง ๆ ซึ่งทุนตรงนี้จะเป็นฐานที่มาแทน “ทุนทางธรรมชาติ” แน่นอนว่าทั้ง 2 ชุมชน ก็มีทุนสำคัญเหมือนกัน คือ ทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นคนที่อยู่ในชุมชน รวมถึงความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ที่มีการรวมกันเป็นกลุ่มก้อน มีการร่วมไม้ร่วมมือ ช่วยเหลือกัน หรืออาจจะมีวัฒนธรรม ที่คนในชุมชนนั้นสร้างขึ้นมา บางอย่างก็เป็นวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกับชุมชนมานับร้อยปี ไม่ว่าจะเป็น ด้านความเชื่อทางศาสนา หรือแม้กระทั่งวัฒนธรรมเรื่องอาหารการกิน การเอาตัวรอด องค์ความรู้ (Knowledge) ภูมิปัญญาชาวบ้าน (Indigenous) ในสาขาต่าง ๆ

อย่างไรก็แล้วแต่ ทุกชุมชนนั้นมีความแตกต่างกัน และจะไม่มีชุมชนใดที่เหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์นอกจากชุมชนมีความแตกต่างกันแล้ว จะพบว่าปัจจุบันชุมชนจะมีระบบต่าง ๆ ที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้น มาจากการเคลื่อนย้าย การโยกย้ายไปทำงานต่างถิ่น การอพยพไปอยู่ในชุมชนที่มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะไปทำมาหากินประกอบอาชีพ หรือย้ายไปเป็นครอบครัวใหม่ แต่งงานใหม่ รวมถึงลูกหลานที่เกิดขึ้นมาใหม่ ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดระบบความคิด และโครงสร้างลำดับชั้นใหม่ในชุมชน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจสร้างความซับซ้อน ซึ่งทำให้นักพัฒนาอย่างพวกเรานั้นวิเคราะห์ยากมากขึ้นว่าใครเป็นผู้นำชุมชนที่แท้จริง และปัจจัยที่ส่งผลกระทบอีกตัวหนึ่งคือ ทุกชุมชนนั้นเป็น “พลวัตร” ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วมาก ๆ ในยุคปัจจุบัน นั่นคือ “เทคโนโลยี” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระยะหลัง ไม่ใช่พียงเทคโนโลยีในเรื่องการผลิตสินค้า หรือการทำการเกษตรเท่านั้น แต่ตอนนี้เป็นเรื่อง “ดิจิทัลเทคโนโลยี” ที่มีความก้าวหน้าและเข้ามามีบทบาททั้งในรูปของ อินเตอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย รวมทั้งวิธีการทำงาน การติดต่อสื่อสารผ่าน Smart Phone หรือโปรแกรมต่าง ๆ ที่ทำให้ชีวิตมนุษย์ติดกับดักได้ง่าย ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันที่ก้าวไปไว และไกลมาก ๆ ก็จะมีบางกลุ่มที่ตามไม่ทัน ทำให้พวกเขาถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง และอีกปัจจัยหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก ๆ เช่นกัน นั่นคือเรื่องของ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ภาวะโลกร้อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เช่น ฤดูกาล เวลาฝนตก ฝนตกหนักมาก เกิดน้ำท่วม หรือเวลาแห้งแล้ง ก็แห้งแล้งหนัก หรือบางพื้นที่ที่เป็นเมืองร้อน ก็ประสบปัญหาความหนาวเย็นอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน ทำให้ชีวิตมนุษย์ปรับตัวได้ยากขึ้น การทำการเกษตรก็ทำได้ยากขึ้น และความเปลี่ยนแปลง หรือความไม่แน่นอนนี้จะทำให้เราพยากรณ์อนาคตอย่างแม่นยำได้น้อยลง ทำให้เรามีโอกาสที่จะพัฒนาตนเองได้น้อยลงไปด้วย

นี่คือสถานะสังคม และปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อฐานทุนในปัจจุบัน ซึ่งหากเราจะทำงานโดยพุ่งเป้าไปที่ การพัฒนาผู้คน สิ่งแวดล้อม หรือโลกใบนี้ไปสู่ความยั่งยืน มันจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แม้แต่ในพื้นที่สเกลเล็กยังทำได้ยาก ก็คงไม่ต้องพูดถึงสเกลใหญ่เลยว่าเราจะทำมันได้อย่างง่ายดาย มนุษย์จำเป็นต้องเรียนรู้ในการสร้างธรรมชาติขึ้นมาใหม่ และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติ โดยไม่ทำลายธรรมชาติไปมากกว่านี้

หลักการแนวคิดโครงการ CEIS

ในส่วนของหลักการ และแนวคิดที่โครงการฯ ยึดนำมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน ซึ่งมีหลากหลายแนวคิด และในแต่ละแนวคิดก็จะมีจุดเน้นที่แตกต่างกัน และบางตัวก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน เราพยายามใช้แนวคิดเหล่านี้มาพัฒนางานไม่ว่าจะเป็นคนทำงาน หรือเจ้าหน้าที่ของเราก็ตาม เพื่อไม่ให้หลงลืมเป้าหมาย

QOL (Quality of life) คุณภาพชีวิต เพราะเราเชื่อว่า “การพัฒนาใดๆ ที่ไม่ได้ไปทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น มันก็ไม่เรียกว่าเป็นการพัฒนา” คุณภาพชีวิตมีความหมายหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกินการอยู่ การได้พักผ่อน การมีสุขภาพที่แข็งแรงทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต สิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่เต็มไปด้วยมลพิษ ทั้งทางอากาศ ทางน้ำ ซึ่งเราก็อยากให้มนุษย์ทุกคนนั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดี อายุที่ยืนยาว หรือที่ภาษาโบราณเรียกกันว่า “อยู่เย็นเป็นสุข” อายุยืน สังคมอบอุ่น ครอบครัวอบอุ่น ช่วยดูแลซึ่งกันและกัน รวมทั้งมีความรู้ ความสามารถมีการศึกษา การได้รับบริการทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการบริการจากทางรัฐ หรือกลุ่ม/องค์กรที่ตัวเองสร้างขึ้นหรือเข้าไปมีส่วนร่วม เพื่อที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกันเองได้

FS (Food Security) ความมั่นคงทางอาหาร ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ในเรื่องของอาหาร และสามารถผลิตอาหารเลี้ยงตนเองได้ ต้องมีอาหารเพียงพอ สะอาด ปลอดภัย และสามารถผลิตได้ตลอดเวลาทุกฤดูกาล ซึ่งแน่นอนว่าการจะผลิตอาหารได้ก็ต้องมีปัจจัยในการสร้างความมั่นคงทางอาหารด้วย ต้องมีทั้งแหล่งน้ำ ที่ดินที่มีความเหมาะในการเพาะปลูก เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต การแปรรูป และการจัดการ เพื่อให้ชุมชนได้มีอาหารอย่างพอเพียง และสม่ำเสมอต่อไปเรื่อย ๆ โดยไม่ทำลายแหล่งผลิตอาหารนั้น ๆ

BCG (Bio – Circular – Green Economy: BCG) เศรษกิจ BCG B Bio – เศรษฐกิจชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงสัตว์ ฟาร์ม การเกษตรต่าง ๆ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติ, C Circular – เศรษฐกิจหมุนเวียน การทำให้เกิดหมุนเวียนได้ตลอดเวลาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ และ G Green – เศรษฐกิจสีเขียว ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน การใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมและรู้คุณค่า ซึ่งโครงการเราได้ดำเนินการ และพยายามทำให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

SEP (Sufficiency Economy Philosophy) หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะผสมกลมกลืนไปกับ ศาสตร์พระราชาด้วย หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักคิดที่เราต้องยึดถือไว้ ในขณะเดียวกันก็เป็นหลักในการปฏิบัติไปด้วย ไม่ว่าจะทำอะไร ก็จะต้องทำด้วยความรู้ ความซื่อสัตย์ และขยันหมั่นเพียร และทำด้วยความพอประมาณ มีเหตุมีผล คิดอย่างรอบคอบ และท้ายที่สุดจะทำอะไรก็แล้วแต่ต้องมีแผน มีระบบรองรับเรื่องความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น หรือที่เรียกว่า ภูมิคุ้มกัน ซึ่งหากทุกคนยึดหลักนี้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในอาชีพอะไรก็จะสามารถเป็นคนที่ประสบความสำเร็จได้

SE/CBE (Social Enterprise / Competency–Based Education) วิสาหกิจชุมชน / เพื่อสังคม เรามีการส่งเสริมการผลิต ไม่ว่าจะเป็นจากภาคการเกษตรหรือนอกภาคการเกษตร เรื่องของการแปรรูปการผลิตสินค้าใหม่ ๆ หรือแม้แต่การ นำเอาศิลปะหัตถกรรมชุมชนมาพัฒนา สิ่งเหล่านี้เมื่อเราผลิตมาเป็นจำนวนมากแล้ว นอกเหนือจากการบริโภคภายในครัวเรือน ภายในชุมชน สามารถเอาไปขาย สร้างรายได้ นำไปซื้อของที่จำเป็นสำหรับชีวิตอย่างอื่นที่ตัวเองผลิตไม่ได้ กระบวนการขาย กระบวนการซื้อ สิ่งเหล่านี้เราอยากเห็นชุมชนมีกลุ่มมีก้อนเป็นของตัวเอง เพื่อทำธุรกิจทางด้านนี้ ถ้าจะไปให้ไกล ไปให้ถึงการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมก็จะยิ่งดี แม้ว่าในระยะเริ่มต้นชุมชนอาจยังไม่สามารถจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมได้ แต่อย่างน้อยที่สุดก็ขอให้คนในชุมชนสามารถรวมเป็นกลุ่มวิสาหกิจเพื่อชุมชน หรือกลุ่มธุรกิจเพื่อชุมชนไปก่อน

Ecosystem ระบบนิเวศที่สมดุล เป็นอีกหลักการที่เรายึดถือ และพยายามตรวจสอบกันตลอดเวลา เพื่อไม่ให้เกิดความ เสื่อมสลายของระบบนิเวศ Ecosystem นี้ไม่ใช่เพียงแค่ระบบนิเวศทางสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่สามารถเป็นได้ทั้ง Ecosystem ในเชิงเศรษฐกิจ หรือการเรียนรู้ในชุมชน ส่งเสริมการเรียนรู้ในชุมชน หรือจะเป็น Ecosystem ทางสังคมก็ได้ โดยคำนึงถึงระบบนิเวศที่มีความสมดุลกันอยู่ ทำอย่างไรเพื่อที่จะให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องภายในชุมชน ทำอย่างไร ที่จะให้ระบบการผลิตมี Ecosystem ที่ดี ไม่มีปัจจัยใด หรือองค์ประกอบใดหายไป หรือถ้ามันขาด ก็พยายามสร้างขึ้นมา เพื่อให้เกิดระบบที่เกื้อกูลกัน มีความสมดุลกัน

ZW (Zero waste) แนวคิดขยะเป็นศูนย์ ในยุคปัจจุบัน เรามีการรณรงค์เยอะมาก ในเรื่องการทำ Zero west ซึ่ง หมายถึงว่า ไม่ว่าจะทำอะไร หรือผลิตอะไรก็แล้วแต่ เราต้องพยายามคิด และพยายามทำให้ของเสียที่เกิดจากการผลิตเปลี่ยนมาเป็นของดี พูดง่าย ๆ คือ ของเสียเป็นศูนย์ เหมือนอย่างในระบบ BCG ซึ่งตรงกับนโยบายของประเทศด้วย ที่กำหนดให้ประเทศของเราเป็น Zero Waste to landfill ภายในปี 2030

หลักทั้งหมดนี้เจ้าหน้าที่โครงการจะยึดเป็นหลัก และต้องแม่นยำ ซึ่งใครจะยึดอะไรก็ได้ เพราะเนื่องจากในแต่ละพื้นที่จะมีการทำงานไม่เหมือนกัน แต่ก็จะไปด้วยกันได้ และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

เครื่องมือ ที่ใช้ในการพัฒนา

           สุดท้ายคือ “เครื่องมือ” CEIS ได้นำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้ในการทำงานร่วมกับชุมชนโดยแบ่งเครื่องมือออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน และเราเชื่อว่าเครื่องมือเหล่านี้จะช่วยขับเคลื่อนลูกธนู ให้ไปสู่เป้าหมายได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

           กลุ่มเครื่องมือแรก Partnership การสร้างความเป็นหุ้นส่วน เราเชื่อว่าไม่ว่าใครก็ไม่สามารถทำงานสำเร็จได้เพียงแค่  คนเดียว ซึ่ง Partnership เป็นสิ่งที่ต้องสร้างขึ้นมา เป็นระบบความสัมพันธ์ใหม่ ที่ชุมชนจะต้องมีต่อชุมชนอื่น ชุมชนต้องมี Partnership ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม NGO’s และจะต้องรู้จักวิธีการทำงานร่วมกันในฐานะที่เป็นหุ้นส่วน ไม่ใช่       ในฐานะลูกจ้าง ไม่ใช่ในฐานะการขอความช่วยเหลือแต่เพียงฝ่ายเดียว ความสัมพันธ์กับภาคส่วนต่าง ๆ ต้องเป็นความสัมพันธ์     ที่เท่าเทียมกัน เพราะทุกชุมชนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี หน่วยงานที่นำของไปช่วยเหลือไม่ได้หมายความว่าจะมีสถานะเหนือกว่า แนวคิดนี้ไม่สามารถใช้ได้แล้วในยุคปัจจุบัน แนวคิดแบบ “Partnership” คือ ได้ก็ต้องได้ด้วยกัน เสียก็ต้องเสียด้วยกัน Win-Win ทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งแนวทางการทำงานแบบนี้ก็ไปสอดคล้องกับศาสตร์พระราชาเช่นกัน ในเรื่องการทำงานแบบหุ้นส่วน จะเห็นได้ว่าเครื่องมือที่ใช้ในการทำงาน หลักคิดที่ CEIS นำมาปรับประยุกต์ใช้ก็จะมีความสอดคล้อง เกื้อกูลกัน

          กลุ่มที่สอง Knowledge & Dissemination เป็นเครื่องมือที่เกี่ยวกับความรู้ความสามารถ และการถ่ายทอดความสามารถ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 เครื่องมือ นั่นคือ

          PTD – Participatory technology development หรือ การพัฒนาเทคโนโลยีแบบมีส่วนร่วม ก็คือการพาชุมชน และชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างชุดความรู้ เช่น การจับมือร่วมกันในการทดลองผลิต ทดลองสูตรอาหาร ทดลองการแปรรูป สิ่งเหล่านี้เราไม่ได้เป็นคนพัฒนาแล้วนำไปบอกต่อ แต่เรา กับชุมชน ร่วมกันสร้างความรู้ชุดนี้จากกการทดสอบ ทดลอง   ไปด้วยกัน หรือบางครั้งที่เขาสามารถทดสอบ ทดลอง ได้ด้วยตัวของเขาเอง ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ในการพัฒนาตนเองของ      ชาวบ้าน ซึ่งก็จะคล้ายกับการพัฒนาในยุคก่อน ๆ ที่ยังไม่มีหน่วยงาน หรือเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ชาวบ้านเขาก็เรียนรู้ เอาตัวรอดกันมาตลอดเวลา

           แน่นอนว่าความรู้ต่าง ๆ ไม่ใช่จะมีแค่ CEIS เท่านั้น แต่เราก็ทำหน้าที่เชื่อมโยงเครือข่าย ประสานงาน ไม่ว่าจะหน่วยงาน  ภาครัฐ เอกชน ที่ปฏิบัติตามภารกิจที่ตรงกับเป้าหมายของเรา โดยการนำเอาความรู้เหล่านั้นมาให้ชาวบ้านมาได้เรียนรู้ ทดสอบ ทดลองทำ และเมื่อชาวบ้านมีความรู้แล้ว เราก็มีหน้าที่ขยายองค์ความรู้เหล่านี้ออกไป โดยเรายกให้เป็นเครดิตชุมชน                และให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของชุดความรู้เหล่านั้น ให้เขาเป็นครู เป็นกูรู (Guru) ที่จะสอนคนอื่น ๆ ที่มาศึกษาดูงาน ทั้งแบบในรูปธรรมที่เขากับมือ ทำจริง หรือจะสอนโดยการนำไปบอกต่อ ซึ่งการถ่ายทอดความรู้โดยชาวบ้าน สู่ชาวบ้านด้วยกันเอง ถ้าทำได้ดีก็จะมีประโยชน์มาก เพราะจะไม่มีกำแพง ไม่มีอุปสรรคในเรื่องของภาษาที่ใช้ เรื่องของการสื่อสารระหว่างที่มีความคล้าย ๆ กัน ภาษาคล้าย ๆ กัน ตรงนี้จะช่วยทำให้เกิดการเรียนรู้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเราส่งเสริมวิธีการอย่างนี้ เพราะเป็นความรู้ที่มีการทดสอบ ทดลอง มีการคัดกรองแล้วว่าใช้ประโยชน์ได้จริง ถ้าเอานักวิชาการไปพูด ก็เป็นความรู้ที่มาจากการทดลอง การเรียนในตำรา หรือการทดลองใน Lab  ซึ่งความรู้เหล่านี้อาจจะไม่ได้สัมพันธ์กับเงื่อนไขชุมชน หรือเงื่อนไขของชาวบ้าน อุปกรณ์ที่ใช้  อาจจะไม่มีในชุมชน ซึ่งชาวบ้านจะต้องปรับตัวมากถึงได้ความรู้ที่ลงตัวจริง ๆ 

           และอีกตัวหนึ่ง RU – Research utilization หรือ การขยายผลชุดความรู้ ซึ่งโครงการ CEIS เองจะช่วยส่งเสริมเรื่องการสร้างความรู้ หรือการจัดการความรู้ การจัดการความรู้ในที่นี้ หมายถึงการถอดบทเรียนร่วมกันแชร์ความรู้ แชร์ประสบการณ์ ให้เกิดชุดความรู้ และนำมาทบทวน พัฒนาความรู้ต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อยกระดับความรู้ให้สูงขึ้น และมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาที่สลับซับซ้อนได้มากขึ้น

           และกลุ่มเครื่องมือสุดท้าย Empowerment การติดอาวุธทางปัญญา การสร้างเสริมพลังให้กับชุมชน อย่างแรกคงหนีไม่พ้น

           LD – Leadership Development กระบวนการสร้างความเป็นผู้นำ หากอยู่ ๆ จะให้คนในชุมชนลุกขึ้นมาร่วมกัน   ขับเคลื่อน หรือแก้ไขปัญหาอะไรบางอย่างก็คงจะเป็นไปไม่ได้ เราต้องมองหาบุคคลที่มีลักษณะความเป็นผู้นำ การให้ความรู้ ทักษะ การปรับเปลี่ยนทัศนคดติ ทำให้ผู้นำมีวิสัยทัศน์ ผู้นำแต่ละคนจะมีความสามารถในการนำแต่ละประเด็นไม่เหมือนกัน คนที่มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการ อย่างน้อยก็จะได้รับการคัดกรองมาว่าสิ่งที่เขาพูดจะได้รับการยอมรับมากกว่า ยิ่งมีอำนาจจากทางราชการรองรับด้วย คนที่ฟังก็อาจจะมีความเกรงใจมากขึ้นแต่นั้นไม่ได้หมายความว่า การทำงานทุกเรื่องจะต้องผ่านไปทางผู้นำทางการเท่านั้น เพราะผู้นำทางการอาจจะไม่ใช่ตัวแทนของอาชีพต่าง ๆ ในชุมชนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่น บางพื้นที่เราจะพบว่าผู้นำอาจจะเป็นคนที่มีความสามารถในการเป็นช่าง เป็นผู้รับเหมา ซึ่งถ้าผู้รับเหมาจะไปเป็นผู้นำทางการเกษตรบางเรื่อง เขาก็อาจจะไม่มีความเชื่อถือ เราอาจจะต้องหาผู้ที่มีความสนใจ และผู้ที่มีความสามารถทางการเกษตรมา และร่วมกันทำงานกับคนกลุ่มนั้นแทน เพื่อที่จะได้ทดสอบ ทดลอง เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการเกษตร ก็จะช่วยงานนั้นเร็วขึ้น จะได้เป็นตัวอย่างให้คนอื่นทำตาม หรือ       ด้านศิลปะหัตถกรรม เราอาจจะไม่ต้องไปเริ่มที่ผู้นำทางการเพียงอย่างเดียว ผู้นำทางการอาจจะมีความสามารถในการระดมคน หรือรวมกลุ่มมาร่วมฟังได้ ชาวบ้านอาจจะมาด้วยความเกรงใจ หรือมาด้วยความสนใจก็แล้วแต่  ผู้นำอาจจะไม่ได้มาร่วมเรียนรู้ หรือมีทักษะในการทำงานศิลปะหัตถกรรมก็ได้ แต่ถ้าเราไปหาคนที่มีความรู้ความสามรถในด้านนั้น ๆ อย่างแท้จริง ให้เขาเข้ามาร่วมเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญเขาก็จะสามารถเรียนรู้ และรับความรู้ได้อย่างรวดเร็ว และเขาก็จะไปสร้างผล ขยายความรู้ในเชิงประจักษ์   ในชุมชนได้

          OD – Organization Development กระบวนการพัฒนาระบบกลุ่มเพื่อเพิ่มพลัง แม้ในชุมชนจะมีผู้นำที่เข้มแข็งแต่ผู้นำก็คงไม่มีพลังเท่ากับการมีกลุ่มมีก้อน ที่รวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น เพราะการมีกลุ่ม ก็หมายถึง มีแรงงาน มีคนช่วย มีการระดมทรัพยากรได้ง่ายขึ้น มากขึ้น  และจะมีการระดมความคิดกันได้มากขึ้น ถ้าเกิดว่ามีความไว้วางใจกัน มีความเชื่อใจกัน           ให้เกียรติกัน และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ก็จะทำให้ชุดความรู้ที่มีอยู่นั้นงอกเงยขึ้น ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ คนละนิดคนละหน่อย งานก็จะมีความสำเร็จได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นการสร้างกลุ่ม หรือการทำงานกันเป็นกลุ่ม ก็จะต้องมีการบริหารจัดการ ในบางครั้งอาจจะมีระบบการเงิน การลงทุน ต้องมีการซื้อ การใช้เทคโนโลยี ซึ่งก็จำเป็นจะต้องเติมเต็มองค์ความรู้เหล่านี้ให้กับกลุ่ม ชุมชน หรือคนส่วนใหญ่ที่มารวมกลุ่มกัน ซึ่งพวกเขาอาจจะไม่ใช่คนทำธุรกิจ เขาอาจจะไม่ใช่คนบริหารเงินตั้งแต่ต้น ไม่ได้อยู่ในชีวิตประจำวันที่เขาต้องทำ ดังนั้นเขาก็จะต้องมาเติมความรู้กันก่อน

          ID –  Institution Development กระบวนการสร้างความเป็นสถาบันเพื่อความยั่งยืน  การที่จะให้กลุ่มเหล่านี้มีความมั่นคง ยั่งยืน เป็นสถาบันมากขึ้น ซึ่งคำว่า “สถาบัน” ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องมีอาคารเพียงอย่างเดียว หรือชื่อตำแหน่ง         ยกตัวอย่างเช่น ครอบครัว ก็ถือว่าเป็นสถาบัน เราจะพบว่าคนที่เป็นพ่อ แม่ ลูก พี่ น้อง เขาก็จะถูกหล่อหลอมด้วยการอบรม     สั่งสอนภายในครอบครัว ถ้าถูกหล่อหลอมออกมาอย่างดีก็จะเป็นครอบครัวที่มีความแข็งแกร่ง และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน หรือใครจะมาทำให้สถาบันล้มเหลวก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนในกลุ่มนี้ สถาบันเดียวกัน เขาจะมีความรัก ความสามัคคีกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และพยายามสืบทอดชื่อเสียง กิจการ ให้ดียิ่งขึ้น นี่คือความหมายของสถาบัน 

          ตัวสุดท้ายของกลุ่มนี้คือ IR – International Relations กระบวนการสร้างความสัมพันธ์แนวดิ่ง และแนวราบ แน่นอนว่าเครื่องมือทุกตัวที่เราใช้นั้นเราต้องการ Empowerment เพื่อให้เขาไปสร้าง Network ระหว่าง ชุมชน กับ ชุมชน     จับมือข้ามชุมชน เพื่อร่วมกันแก้ไขประเด็นปัญหาต่าง ๆ ร่วมกัน ซึ่งจะต่างจาก Partnership ที่เป็นการสร้างความร่วมมือจากภายนอก หน่วยงาน ให้มาทำงานร่วมกับชาวบ้าน และชุมชน ขณะเดียวกันเราก็ Empower ให้ชุมชน และชาวบ้าน สามารถทำงานร่วมกับหน่วยงานข้างนอกด้วย

          นี่คือสิ่งที่โครงการ CEIS พยายามจะทำทั้งหมด และเราก็คิดว่าหลายหน่วยงานที่ดีก็พยายามอยู่ด้วยเช่นกัน แต่จะทำได้อย่างสมบูรณ์มากน้อยแค่ไหน จะ Spell out หรือประชาสัมพันธ์มากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง ส่วนโครงการ CEIS เราทำกันมานานแล้ว และทำกันจนกลายเป็นความเคยชิน และก็คาดหวังว่าบุคลากรของโครงการฯ ทุกคน ไม่ว่าจะตำแหน่งไหนก็ตาม จะมองเห็นทิศทางการทำงานตรงกัน เพราะบทบาทแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ท้ายที่สุดแล้วเขาก็จะต้องทำงานตามหลักคิด ตามเครื่องมือที่มีอยู่เหล่านี้ และพยายามสร้างให้มีความแปลกใหม่ และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น หรือที่เรียกว่า “นวัตกรรม” ตลอดเวลา ซึ่งนวัตกรรมไม่ใช่เป็นเพียงแค่สิ่งประดิษฐ์ หรือเทคโนโลยีการผลิต เท่านั้น แต่รวมถึงนวัตกรรมทางสังคม หรือนวัตกรรมที่ออกแบบวิธีการทำงาน นวัตกรรมในการสร้างแหล่งเรียนรู้ เครื่องมือ ต่าง ๆ ที่จะทำให้กลุ่มเป้าหมายเกิดการเรียนรู้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา

หัวหน้าโครงการพลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (CEIS)

ผู้ออกแบบ และวางหลักการการทำงานพลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (CEIS)

Share this post