ถอดบทเรียนการทำงานพัฒนาชุมชน “การสร้างภาคีเครือข่ายในพื้นที่”

ถอดบทเรียนการทำงานพัฒนาชุมชน “การสร้างภาคีเครือข่ายในพื้นที่”

โครงการพลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน CEIS ในพื้นที่ภาคใต้ (จังหวัดสตูล และจังหวัดสงขลา) สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในการดำเนินงานพัฒนาในพื้นที่ คือ “การสร้างภาคีความร่วมมือแบบหุ้นส่วน” เพื่อส่งเสริมกระบวนการทำงานพัฒนาที่ยั่งยืนให้แก่ชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย และหน่วยงานตามภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในช่วงเริ่มต้นก็ยังถือว่ามีอุปสรรค เพราะว่าหน่วยงานภาคีต่าง ๆ เขาก็จะมีฟังก์ชั่น
รูทีน ของเขาเองอยู่แล้ว เขาก็ไม่รู้จักเราว่าเราเป็นใคร มีฟังก์ชั่นการทำงานเป็นอย่างไร

วันนี้ D community ได้ถอดประเด็นสำคัญ 5 Step จากทีมทำงานในพื้นที่ภาคใต้ ทำอย่างไรให้เขารู้จักเรา และเข้าใจการทำงานของโครงการเรา รวมถึงวิธีการออกแบบการทำงานในการเชื่อมโยงเครือข่าย สร้าง Partnership จนได้เห็นเป็นภาพผลผลิตความร่วมมือทั้งในระดับพื้นที่ และระดับจังหวัด

Step 1 สร้างความรู้จัก หาจุดลงตัว เห็นแนวทางการทำงานร่วมกัน

ดังนั้นการที่เราสามารถดึงเขามาทำ การที่เราดึงองค์ความรู้ดั้งเดิมเรามาใช้ ทำให้เราเรียนรู้ไปกับเขา ขณะเดียวกันเขาก็มีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเขาเอง ก็จะดีกว่าการที่เราเป็นคนต่างถิ่น วันดีคืนดีเราไปสั่งเขาให้ทำนู้นทำนี่ แต่วันนี้เราไปฟังเขาว่าเขาอยากทำอะไร เขาเห็นว่าเขาควรทำอะไร เรามีองค์ความรู้ไปเพิ่มเติมจากเดิมที่เขาไม่รู้ไปให้เขา มันเกิดงาน งานที่ผมพูดถึงคือเรื่องของ ธนาคารต้นกล้าป่าชายเลน ที่โรงเรียนพระพิมลเสนี ที่ชุมชนบ้านคลองหัวจากทำอยู่ กลุ่มอาชีพกลุ่มนั้นเกิดจากสิ่งเล็ก ๆ ในพื้นที่ ที่ชุมชนเองมองว่าเขามีศักยภาพ ที่ชุมชนมองว่าเขาสามารถทำได้ และเราก็ทำให้เขาเชื่อว่าเขาทำได้จริง กฟผ. ก็มีส่วนสนับสนุนในการใช้ผลิตภัณฑ์มาใช้ในโครงการต่าง ๆ
ของกฟผ. พวกนี้คือการผสมผสาน การบูรณาการ ทำให้เกิดความกลมกล่อมในการทำงานในพื้นที่ นี่คือจุดเริ่มต้นความสำเร็จของเรา

Step 2 สร้างความสัมพันธ์ ไม่ใช่คุยครั้งเดียวแล้วจบ แต่ต้องค่อย ๆ คุยกันไป

การสร้าง Partnership คงจะไม่ใช่คุยครั้งเดียวแล้วจบ ซึ่งหลักการก็เหมือนกับการที่เราทำความรู้จักเพื่อนคงนึง ก็ต้องมีการพูดคุย สร้างสัมพันธ์ที่ดีกันไป เรียนรู้นิสัยซึ่งกันและกัน ซึ่งวิธีการสร้างความสัมพันธ์ของทีมเราจะไม่เริ่มจากความสนิทสนมก่อน แต่ในขณะที่เราคุยเรื่องงาน เราก็สร้างความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกันไปด้วย จะได้ไม่เสียเวลา

Step 3 บูรณาการความร่วมมือ MOU ก็ดี แต่ก็ไม่ดีเท่าการร่วมมือที่เป็นรูปธรรม

เมื่อเราต่างมีไมตรีที่ดีต่อกัน จากนั้นเราก็คุยถึงระบบการทำงานร่วมกัน ก่อนหน้านี้ภาคีเครือข่ายส่วนใหญ่มักจะมีการทำ MOU แต่เรามองว่าการบูรณาการการทำงานที่มันเห็นผลเป็นรูปธรรมให้เป็นเรื่องหลักจะดีกว่า แต่หากมันบูรณาการจนเห็นถึงแก่นสาระกันจริง ค่อยมาดูในการทำสัญลักษณ์ หรือ MOU มันก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะบางหน่วยงานก็อาจจะมีบทเรียนว่าทำ MOU กันไม่รู้กี่ 10 ฉบับ ก็ไม่เห็นถึงความร่วมมือ ไม่เห็นถึงการร่วมด้วยช่วยกัน และไม่เห็นถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านจริง ๆ สักฉบับหนึ่ง แต่ที่เราทำกันอยู่นี้ถึงไม่มี MOU เราก็เห็นถึงความร่วมมือที่ดีจากหน่วยงานทุกภาคส่วน

Step 4 กำหนดบทบาทหน้าที่การทำงานร่วมกัน

หลังจากที่เราได้ภาคีเครือข่าย และมีจุดร่วมร่วมกัน เราก็ได้ยกระดับโดยการมานั่งพูดคุยกันว่า “การบูรณาการ” นี้เราจะมาแบ่งกันทำงานตามฟังก์ชั่น และบทบาทหน้าที่ของหน่วยงาน โดยสุดท้ายแล้วเราจะไปถึงเป้าหมายเดียวกัน เช่น การส่งเสริมสมุนไพร ภาพสุดท้ายที่หน่วยงานอยากเห็น และท้ายที่สุดชุมชนก็ต้องอยากเห็นด้วย จากนั้นเราก็แบ่งงานตามฟังก์ชั่นของแต่ละหน่วยงาน ถึงแม้จะแบ่งงานกันขิงกลไกพื้นที่ แต่ก็ต้องมีคนที่เป็นคนประสานงาน เป็นคนที่ช่วยยึดโยงให้เกิดการทำงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบทบาทนี้จะเป็นทางทีม CEIS จะเป็นคนประสานงาน แต่จะมีการถ่ายทอดไปยังหน่วยงานในพื้นที่ โดยมีทีมภาคเป็นพี่เลี้ยงแทน เพราะหากเมื่อเราปล่อยมือแล้วพวกเขาก็ยังสามารถทำงานกันได้อย่างต่อเนื่อง

Step 5 พูดคุยกัน สรุปความก้าวหน้าในแต่ละส่วน

เมื่อทำงานร่วมกันแล้ว ท้ายที่สุดก็มานั่งพูดคุยกัน สรุปบทเรียนการทำงานร่วมกัน ปรับปรุง แก้ไขส่วนที่ยังสามารถพัฒนาต่อได้ เพื่อหาแนวทางการทำงานที่ต่อยอดจากเดิม

Share this post