ต้นไม้แห่งความยั่งยืน “Big Tree of sustainability”

ต้นไม้จะเติบโตและเป็นประโยชน์ต่อผู้คนได้ ย่อมประกอบไปด้วย ราก ลำต้น กิ่งก้าน และใบ ที่สมบูรณ์ แข็งแรง ผู้ปลูกต้องหมั่นดูแล เอาใจใส่ รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ต้นไม้ต้นนั้นจึงจะสามารถแผ่กิ่งก้านสาขา ให้ร่มเงา ออกดอกออกผลให้ได้เก็บกินอย่างยั่งยืน

เช่นเดียวกับงานพัฒนาชุมชนของโครงการ CEIS ที่เชื่อมั่นว่าปัจจัยที่จะทำให้ชุมชนสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืนนั้น ประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ ที่เชื่อมโยงและเกื้อกูลกัน ดังต่อไปนี้

ดอก ผล

คือ ความสำเร็จสมบูรณ์และพร้อมที่จะขยายพันธุ์ ในกรณีของชุมชนหมายถึง ชุมชนที่เข้มแข็ง (เพราะผ่านการจัดการกับปัญหาและความต้องการต่างๆด้วยตนเองได้)
มีทรัพยากรหลากหลายชนิด รวมทั้งความรู้และความสามารถของคนในชุมชน มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทำให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตและความสุข จนได้รับการยอมรับจากผู้คนและหน่วยงานภายนอก ทำให้ชุมชนมีอำนาจต่อรองเพิ่มมากขึ้น นำไปสู่การขยายผลออกไปสู่วงกว้าง

ใบ

มีบทบาทสำคัญในการสังเคราะห์แสง ทำให้ต้นไม้เติบโต และออกดอกผลได้ในที่สุด กรณีของชุมชน หมายถึง การสร้างสมความรู้ พลัง และการพัฒนาฐานทรัพยากรด้านต่าง ๆ ในชุมชน อาทิ ทุนมนุษย์ ทุนทางสังคม ทุนทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจและการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อเป็นพลังของชุมชนในอนาคต ตลอดจนการเชื่อมประสานความร่วมมือกับชุมชนอื่นๆ และหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรภาคประชาสังคม ในบางกรณีต้องมีนักพัฒนาช่วยทำหน้าที่โค้ช และผู้ประสานงานตามความจำเป็นจนชุมชนสามารถสานสัมพันธ์และความร่วมมือต่อด้วยตนเอง

กิ่ง ก้าน

ต้นไม้จะขยายตัวออกได้ต้องแตกกิ่งก้านออกฉันใด ชุมชนจะเจริญเติบโตได้ก็ต้องมีการทำกิจกรรม/ โครงการป้องกัน แก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งกิจกรรมสำหรับพัฒนาอาชีพ การดูแลกลุ่มวัยต่างๆ การแก้ปัญหาสุขภาพ การแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การศึกษา เศรษฐกิจ การบริหารงาน การส่งเสริมการมีส่วนร่วม สืบสานประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม ตามศักยภาพที่มีของชุมชน ฯลฯ ของ ซึ่งนักพัฒนาต้องกระตุ้นและเสริมพลังให้กลุ่มหรือชุมชนเกิดแนวคิด ความรู้ เลือกใช้เครื่องมือ กลไก การรวมกลุ่มทำงาน การสร้างมูลค่าและคุณค่าของสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชน ฯลฯ ซึ่ง กิจกรรม/โครงการที่จะทำต้องอยู่บนฐานคิด และหลักการที่ถูกต้องเหมาะสม อาทิ หลักการพึ่งตนเอง หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ศาสตร์พระราชา หลักประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมโดยตรง เป็นต้น ทั้งนี้ นักพัฒนาต้องเข้าใจหลักการต่างๆ เหล่านั้น และแสดงให้ชุมชนได้เห็นจากการปฏิบัติงานจริงในชุมชน

ลำต้น

ต้นไม้ที่มีความสมบูรณ์จะมีลำต้นแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักของกิ่งก้านสาขาได้ และยังทำหน้าที่สำคัญที่จะคอยลำเลียงอาหารไปหล่อเลี้ยงส่วนอื่นๆ ผู้นำชุมชนก็เป็นเฉกเช่นลำต้นของต้นไม้ ชุมชนจะเข้มแข็งได้ต้องมีผู้นำที่มีภาวะผู้นำ มีความเพียร อุทิศตน และเสียสละ มีนิเวศวิทยาทางจิตที่ดี มีอุดมการณ์ มุ่งสร้างประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ผู้นำที่เข้มแข็งจะสามารถกระจายความคิดไปยังผู้ตามด้วยการบริหารงานและทีมงาน เพื่อประโยชน์ของชุมชนส่วนรวมได้อย่างต่อเนื่อง

การพัฒนาศักยภาพของผู้นำจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น เพื่อให้ผู้นำสามารถจัดการความเสี่ยงต่อสถานะการณ์และช่วงเวลานั้นๆ แต่ก็มิได้หมายความว่าจะมุ่งพัฒนาตัวผู้นำเพียงอย่างเดียวจนมองข้ามสมาชิกในชุมชน ดังนั้นจึงควรพัฒนาไปพร้อมๆ กัน ด้วยการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม และการพัฒนาศักยภาพของคนที่สนใจ จะทำให้ชุมชนสามารถจัดการกับปัญหาด้วยตัวเอง โดยไม่หวังรอรับความช่วยเหลือจากภายนอกท่าเดียว หากชุมชนมีความตระหนักถึงการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ และร่วมลงมือทำด้วยตนเองเสมอๆ จะทำให้เกิดวัฒนธรรมในการพึ่งพาตนเองในที่สุด

ราก

เป็นส่วนสำคัญของต้นไม้ ทำหน้าที่ดูดซึมน้ำ อาหารและแร่ธาตุ เพื่อลำเลียงไปยังลำต้น กิ่ง ก้าน ใบเพื่อปรุงเป็นอาหารของต้นไม้ เมื่อพิจารณาถึงชุมชนจะเห็นว่า ทุนทางสังคมในชุมชนเป็นส่วนสำคัญเช่นเดียวกันกับรากของต้นไม้ ชุมชนที่มีความสัมพันธ์ของคนในชุมชนด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน มีความเอื้ออาทรต่อกัน ยอมรับภูมิปัญญาของตนเอง จะเป็นปึกแผ่นเหนียวแน่น

การทำงานพัฒนาชุมชนจำเป็นต้องมองให้เห็นถึงฉากทัศน์ของชุมชน ทั้งในด้านความเคารพ ความศรัทธาที่มีต่อผู้นำ จารีตที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของกลุ่มต่างๆ ที่เกิดตามธรรมชาติหรือจัดตั้งขึ้น เพื่อสนองตอบวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งในชุมชน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องศึกษาและวิเคราะห์ให้ถ่องแท้ เพื่อให้เห็นช่องว่างหรือจุดอ่อน ที่ต้องเสริมสร้างให้มีความสมบูรณ์ หรือป้องกันมิให้รากได้รับผลกระทบหรือเสียหายจากโรค เช่น ข่าวสารที่ไม่ผ่านการวิเคราะห์ ข่าวให้ร้ายป้ายสี การทำระบบบัญชี การเงิน และการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินร่วมหรือของชุมชนอย่างสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันข่าวลือได้ นอกจากนี้การแบ่งบทบาทหน้าที่และกระจายงานให้หลายคนร่วมดูแล จะช่วยสร้างระบบธรรมาภิบาลชุมชน ช่วยป้องกันมิให้เกิดโรคภายในชุมชนขึ้นมาได้

ปุ๋ย

หมายถึง อาหารที่ให้กับต้นไม้ผ่านการดูดซึมของราก ทำให้ต้นไม้สามารถเจริญเติบโตได้ดี กรณีของชุมชน จะหมายถึงข้อมูล ข่าวสารที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ องค์ความรู้ด้านต่างๆ รวมถึงนวัตกรรม เทคโนโลยีที่เหมาะสม ให้กับคนและกลุ่มในชุมชน ความรู้เหล่านี้อาจมาจากผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก หรือเกิดจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ถอดบทเรียนของคนในชุมชนด้วยกันก็ได้ หรือจากการทดสอบทดลองทำสิ่งใหม่ หรืออาจเกิดจากการพาไปดูงานในพื้นที่อื่นๆ นอกจากนี้นักพัฒนายังต้องช่วยทำให้รากดูดอาหารได้ดีขึ้น ด้วยการเสริมอาหารทางใจ การเยี่ยมเยียน ให้กำลังใจ ให้คำปรึกษาเป็นครั้งคราว

ไม่มีต้นไม้ต้นใดจะอยู่ค้ำฟ้าฉันใด ชุมชนที่ต้องเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและนอกชุมชนตลอดก็อาจประสบความล่มสลายได้หากไม่ปรับตัว เมื่อต้นไม้ยังสามารถขยายพันธุ์จากเมล็ด หรือกิ่ง ชุมชนก็สามารถสร้างความยั่งยืนด้วยการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทน หรือทำโครงการใหม่ๆ รับมือกับการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น รูปแบบอาชีพ แนวทางแก้ปัญหาด้านต่างๆ ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี่ใหม่ๆ ต่อไป ดังนั้น หน้าที่ของนักพัฒนาที่อยู่ในพื้นที่จึงยังคงมีต่อ แม้จะไม่ต้องให้น้ำหนักหรือทุ่มเททรัพยากร เหมือนเดิมก็ตา

บทความโดย : ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา หัวหน้าโครงการพลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (CEIS)

Share this post