ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์

ตู้อบแห้งสมุนไพรแบบ Hybrid 2 ระบบ นวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มมูลค่าผลผลิตสมุนไพร “ขมิ้นชัน” ให้กับวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรบ้านเขาน้อย อ.ควนโดน จ.สตูล

ตู้อบแห้งสมุนไพรแบบ Hybrid 2 ระบบ คือ ระบบแก๊สอบลมร้อน และ ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ นวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มมูลค่าผลผลิตสมุนไพร ของ “วิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรบ้านเขาน้อย” จ.สตูล
ที่ตอบโจทย์ในเรื่องคุณภาพ ความต้องการของตลาด และเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรให้กับชุมชน

ช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวการจัดการผลผลิตสมุนไพร “ขมิ้นชันสด” ของวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรบ้านเขาน้อยในจำนวนหลายตันให้มีคุณภาพ และสามารถยืดอายุผลผลิต เพื่อนำไปใช้แปรรูปเป็นยาสมุนไพรถือว่าเป็นเรื่องที่ทางกลุ่มฯให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

จากปัญหาในพื้นที่ ภาคใต้มีฝนตกชุกตลอดปี ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการตากให้แห้งเป็นเวลาหลายสิบวัน หรือหากเกิดฝนตกขึ้นมาแบบกระทันหัน เกษตรกรดูแลไม่ทัน ส่งผลให้เกิดความชื้น เป็นสาเหตุให้เก็บผลผลิตได้ไม่นาน จนเกิดเชื้อรา ทำให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพต่ำ ขายได้ราคาถูก และชุมชนเองมีขนาดพื้นที่ในการตากจำกัด รวมถึงความไม่สะอาดที่มาจาก ฝุ่นละออง สัตว์ และแมลงต่าง ๆ รบกวน

ดังนั้นการใช้ ตู้อบแห้งสมุนไพรแบบ Hybrid 2 ระบบนั่นคือ ช่วงเช้า หรือช่วงมีแดดจัด ชุมชนจะใช้ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีแผ่นโพพลีคาร์บอเนต วัสดุเทอร์โมพลาสติกที่แข็งแรงและยืดหยุ่นได้ดี น้ำหนักเบา และทนต่ออุณหภูมิที่สูงไม่ว่าจะร้อนหรือเย็น ซึ่งช่วยในการเก็บกักความร้อนจากแสงอาทิตย์ ส่วนในช่วงเย็น หรือช่วงฝนตก จะเปลี่ยนมาใช้ระบบแก๊สอบลมร้อน

ตู้อบแห้งสมุนไพรแบบ Hybrid 2 ระบบนี้ “ มีจุดเด่น” คือ ใช้เวลาอบแห้งเพียง 4-5 วัน ซึ่งลดลงจากการตากแบบเดิมที่ใช้เวลาถึง 7 วัน นอกจากนี้ยังสามารถรักษาคุณภาพของขมิ้นชันได้ดี และนวัตกรรมมีกระบวนการไม่ซับซ้อน เหมาะกับการใช้งานของเกษตรกร

ซึ่งในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรสมุนไพรขมิ้นชันให้ออกมาในรูปแบบ “ขมิ้นชันตากแห้ง” จึงตอบโจทย์ความต้องการของตลาดของเกษตรกร ที่ต้องการขมิ้นชันตากแห้ง มากกว่าขมิ้นสด จึงช่วยเพิ่มมูลค่าและเพิ่มรายได้ รวมทั้งชุมชนเกิดรายได้จากจากจ้างงานคนในชุมชน นอกจากนี้เทคโนโลยีตากแห้งพลังงานแสงอาทิตย์จะช่วยยกระดับการแปรรูปให้มีคุณภาพ ลดปัญหาในเรื่องของระยะเวลาในการตาก ลดการใช้พลังงานประหยัดค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ที่ใช้ระบบพลังงานดวงอาทิตย์แสงอาทิตย์ให้เกิดประโยชน์

สนับสนุนและร่วมวิจัยโดย คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โครงการ ๑ ตำบล ๑ มหาวิทยาลัย ฝ่ายยกระดับมาตรฐานสถาน ร่วมกับ อบต.ย่านซื่อ

สนับสนุนพัฒนาเป็นระบบไฮบริด โดยคณะอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญพลังงานชีวมวลของคณะศิลปศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย

Share this post