ติดอาวุธทางปัญญาให้กับชุมชนด้วยการหนุนเสริมความรู้

ติดอาวุธทางปัญญาให้กับชุมชนด้วยการหนุนเสริมความรู้

ติดอาวุธทางปัญญาให้กับชุมชนด้วยการหนุนเสริมความรู้
.
การ “หนุนเสริมความรู้” หรือการสร้างกระบวนการเรียนรู้ เป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างความเข้มแข็ง หรือความยั่งยืนให้กับชุมชน การ “ติดอาวุธทางปัญญา” นักพัฒนาชุมชนควรจำไว้เสมอว่า คือ การให้ข้อมูลที่กลุ่ม/ชุมชนสนใจ จากนั้นชวนชุมชนตั้งคำถามกลับต่อสิ่งที่ได้รับร่วมกัน เพื่อทบทวนว่าเกิดความรู้ความเข้าใจอะไร? และจะนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประโยชน์อะไร? มิใช่เพียงแค่ให้ข้อมูลเพื่อรับทราบเท่านั้น (ซึ่งชาวบ้านไม่สามารถจดจำข้อมูลทั้งหมดได้อยู่แล้ว และที่จำได้อาจจำแบบผิดๆ หรือเข้าใจผิด เพราะตีความผิด) วันนี้เรามีวิธีการหนุนเสริมความรู้ที่สามารถนำไปปฏิบัติกับชุมชนให้ได้ผลมาแนะนำ
.
✅ 1. เติมข้อมูล ข่าวสาร ในประเด็นที่ชาวบ้านมีสนใจ และพร้อมจะพัฒนา (เอาความรู้ไปใช้) หรือเป็นประเด็นที่ช่วยเปิดโลกทัศน์/มุมมองให้แก่ชาวบ้าน ผ่านการจัดอบรมระยะสั้น การพาดูงาน การเชิญวิทยากร/ผู้เชี่ยวชาญมาคุยในพื้นที่ ซึ่งการทำเช่นนี้จะทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ทำครั้งเดียวจบ และเมื่อพบประเด็นที่สามารถต่อยอดการเรียนรู้ให้เพิ่มขึ้นก็จะจัดขึ้นในโอกาสต่อไป
.
✅ 2. เลือกวิธีเสริมสร้างความรู้ ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เพราะกลุ่มเป้าหมายของโครงการมีหลากหลาย ทั้งเพศ วัย อาชีพ ประสบการณ์ชีวิต ความถนัด ความสนใจ ฯลฯ รูปแบบการเรียนรู้ที่ใช้ครอบคลุมถึงการคุยแบบตัวต่อตัว การจัดกลุ่มอบรม การนิเทศงานในพื้นที่ การพาดูงาน การประชุมกลุ่มเพื่อแบ่งงานกันทำ ฯลฯ
.
✅ 3. การเรียนรู้เป็นคู่ๆ หรือเป็นกลุ่มเล็กจะมีประสิทธิภาพกว่าการเรียนรู้รายบุคคล เพราะการมีเพื่อนช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยแลกเปลี่ยน และช่วยแก้ไขปัญหา จะทำให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เร็วขึ้นกว่าทำคนเดียว
.
✅ 4. กระตุ้นให้กลุ่มหรือชุมชนช่วยกันคิดและเลือกคนที่มีความพร้อม มีศักยภาพ เพื่อไปอบรม หรือศึกษาดูงาน สามารถกลับมาต่อยอดงาน และสร้างผลกระทบในวงกว้างต่อได้ โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเพียงผู้นำชุมชน/กลุ่ม
.
✅ 5. ใช้ทั้งวิธี “ให้ความรู้ก่อนลงมือทำ” และ “ทดลองทำก่อนแล้วเพิ่มเติมความรู้” ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประเด็นการเรียนรู้ และความเหมาะสมของกลุ่มเป้าหมาย
.
✅ 6. ให้ความสำคัญกับการเลือกวิทยากรที่ “มีใจ รู้จริง และไม่ทำแค่หน้าที่” และใช้การสื่อสารที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย เพราะความเชื่อมั่นในตัววิทยากรมีผลต่อการเรียนรู้
.
✅ 7. เริ่มทดลองจากจุดเล็กๆ ก่อน เมื่อเกิดรูปธรรมความสำเร็จแล้วค่อยขยายผล หากล้มเหลว ให้ช่วยกันค้นหาคำตอบ ทดลองผิดทดลองถูกร่วมกัน เรียนรู้ไปแก้ไขไป เพราะความรู้นั้นเกิดจากประสบการณ์ในลงมือทำ
.
✅ 8. ก่อนเติมความรู้ใหม่ๆ ให้พิจารณาถึงประสบการณ์ ภูมิปัญญาชาวบ้าน/ความรู้เดิมของชาวบ้าน ความถนัด แล้วมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับชุดความรู้ใหม่ที่ต้องการ
.
✅ 9. สร้างการเรียนรู้แบบเครือข่ายระหว่างชุมชนกับชุมชน เช่น จัดดูงานระหว่างกันไป-มา จัดเวทีพูดคุยบอกเล่าประสบการณ์ ความสำเร็จที่เกิดขึ้น ชักชวนมาทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นต้น จะช่วยยึดโยงความสัมพันธ์และช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้าน หรือชุมชนกับชุมชน
.
การเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือการลงมือทำ นักพัฒนาชุมชนหรือผู้ปฏิบัติงานพัฒนาในพื้นที่อาจชี้ช่องทางที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้หรือแก้ไขปัญหาได้ แต่ต้องไม่ครอบงำความคิดของชาวบ้าน ถึงแม้จะผิดพลาดแต่อย่างน้อยชาวบ้านจะได้เรียนรู้จากบทเรียนความล้มเหลวที่เกิดขึ้น อันจะก่อเกิดเป็นองค์ความรู้ที่ยิ่งใหญ่ชิ้นหนึ่ง ที่เรียกว่า การเรียนรู้เชิงประสบการณ์ เมื่อเอาความรู้เป็นตัวนำ ขีดความสามารถของชาวบ้านก็จะเพิ่มขึ้น หรือเป็น “การติดอาวุธทางปัญญา” ให้แก่กลุ่ม/ชุมชน นั่นเอง

Share this post