การแก้ไขปัญหาความยากจน สร้างภูมิคุ้มกัน “กลุ่มผู้เปราะบาง” ในชุมชนท้องถิ่นอย่างตรงจุด

การแก้ไขปัญหาความยากจน สร้างภูมิคุ้มกัน “กลุ่มผู้เปราะบาง” ในชุมชนท้องถิ่นอย่างตรงจุด

ประเด็นบทความ การให้ความช่วยเหลือ “กลุ่มผู้เปราะบาง” ของโครงการพลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน

ปัญหาความยากจน หรือความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่ทั่วโลกพูดถึง การกำหนดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) การขจัดความยากจนนับเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่ง โดยที่ผ่านมาประเทศไทยเองก็มีการดำเนินการขจัดความยากจนมาอย่างต่อเนื่อง แต่เราต่างรู้กันดีว่า ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำยังคงดำรงอยู่ โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม สัดส่วนคนยากจนในไทยเพิ่มสูงขึ้น สังคมไทยควรให้ความสำคัญกับมาตรการการแก้ปัญหาดังกล่าว ตลอดจนสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อเตรียมพร้อมรองรับกับวิกฤตการต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

หากเราลองมองดูนโยบายการแก้ปัญหาความยากจนของประเทศจีนที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างเบ็ดเสร็จ (Absolutely Poverty Eradication) โดยใช้มาตรการการขจัดความยากจนอย่างตรงจุด (Targeted Poverty Eradication: TPE) ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญ และใช้เวลาเพียง 7 ปี ในการขจัดความยากจนให้เหลือ 0 คน ในปี พ.ศ. 2563 จากจำนวนคนยากจน 83 ล้านคน (ร้อยละ 8.5 ของสัดส่วนประชากรทั้งหมด) นโยบายดังกล่าวมีปัจจัยสำคัญ 4 อย่าง ประกอบด้วย

  1. นโยบายจากผู้นำมีความจริงจัง และต่อเนื่อง กำหนดเป้าหมายระดับประเทศที่ชัดเจนโดยทุกหน่วยงานมีเป้าหมายร่วมกัน (Common Goal) และเชื่อมโยงมาตรการขจัดความยากจนของทุกหน่วยงานให้มีการบูรณาการอย่างชัดเจน
  2. การออกแบบมาตรการอย่างเฉพาะเจาะจงกับกลุ่มเป้าหมาย (Tailor-made) โดยทรัพยากรที่ใช้ต้องส่งถึงกลุ่มเป้าหมายที่จำเป็น และมีมาตรการที่แตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละครัวเรือน แต่ละพื้นที่
  3. ทุกมาตรการต้องยึดหลักสนับสนุนให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ในระยะยาว (Sustainability) โดยเน้นให้คนยากจนมีอาชีพที่มีรายได้มั่นคง
  4. การใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ขจัดความยากจน (Innovation against poverty) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน หรือขยายการเข้าถึงโอกาสและทรัพยากรให้คนยากจน

สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญอย่างมาก คือ ฐานข้อมูลพื้นที่ยากจน (Background data) ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยให้เจ้าหน้าที่รัฐ (จำนวนมากกว่าร้อยละ 15) ไปเกาะติดครัวเรือนเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อศึกษาปัญหา และพัฒนาโครงการเพื่อขอรับงบประมาณในการขจัดความยากจนในพื้นที่ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังมีบทบาทในการส่งบุคลากรลงพื้นที่ ผ่านการบรรจุเป็นวิชาเลือกให้นักศึกษาลงทะเบียน โดย 1 ภาควิชา ดูแล 1 ชุมชน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง

รัฐบาลไทยเองก็เห็นถึงความสำคัญของฐานข้อมูล ที่จะช่วยให้การพัฒนาโครงการขจัดความยากจนเกิดความสำเร็จ โดยร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรม (อว.) ดำเนินโครงการ “การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ” พัฒนาแพลตฟอร์มแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับจังหวัด (Provincial Poverty Alleviation Operating System : PPAOS) จัดทำเป็นระบบฐานข้อมูลคนจน และครัวเรือนยากจนขนาดใหญ่ (PPPConnext) วิเคราะห์สาเหตุของความยากจนจากฐานทุนดำรงชีพทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนทรัพยากร ทุนการเงิน ทุนกายภาพ และทุนสังคม รวมถึงปัญหาทั้ง 5 มิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่ การศึกษา รายได้ และการเข้าถึงบริการภาครัฐ ประมวลผลออกมาเป็นทรัพยากรการดำรงชีพ แสดงผลเป็น Dashboard แบบ Real Time นับเป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจ และก่อเกิดประโยชน์ในการกำหนดโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในไทย แต่น่าเสียดายที่โครงการวิจัยดังกล่าวดำเนินการในพื้นที่เพียง 20 จังหวัด
ทั่วประเทศ

D Comminity มีโอกาสได้คุยกับพี่ๆ เจ้าหน้าที่โครงการ CEIS ที่ทำงานในพื้นที่ อ.ควนโดน จ.สตูล (จังหวัดที่ไม่ใช่พื้นที่งานวิจัยฯ) ซึ่งโครงการ CEIS ก็ให้ความสำคัญต่อปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ พบว่า การแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ชุมชนจริงๆ นั้นมีความเปราะบางเป็นอย่างมาก เพราะการจะระบุว่าใคร “ยากจน” เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ในบริบทของสังคมไทยอาจกระทบถึงจิตใจของเจ้าตัว หรือถูกคนในชุมชนมองว่าพวกเขาเป็น “พวกขี้เกียจ ไม่ยอมทำงานหาเงิน” เนื่องจากยังคงมีภาพดังกล่าวติดอยู่ในความคิดของคนส่วนใหญ่ รวมถึงการใช้ข้อมูล TPMAP (Thai People Map and Analytics Platform) ของรัฐ เพื่อชี้เป้าการให้ความช่วยเหลือ (เข้าไปดูข้อมูลได้ที่ www.tpmap.in.th) ก็เป็นฐานข้อมูลที่ตั้งต้นมาจากข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) และข้อมูลผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีข้อกำหนดที่แข็งตัว และไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาความยากจนที่แท้จริง

โครงการ CEIS เลือกใช้คำว่า “ผู้เปราะบาง” ในการทำงานด้านการขจัดความยากจนแทน โดยการระบุกลุ่มคนเพื่อทำงานด้วยนั้น ใช้ข้อมูลจากหลายมิติ และหลายภาคส่วน ทั้งข้อมูลจากหน่วยงานรัฐ ข้อมูลจากองค์กรชุมชน ข้อมูลจากผู้นำชุมชน เพื่อนบ้าน และตัวผู้เปราะบางเอง โดยไม่ได้มองจากเพียงรายรับ-รายจ่าย การถือครองที่ดิน หรือความพิการ แต่ยังมองถึงอายุ สุขภาพ ความต้องการแรงงานในครัวเรือน โอกาสในสังคม ตลอดจนความเป็น “คนดี” ที่ไม่มีตัวชี้วัดที่เขียนขึ้นมาได้ แต่เกิดจากการสัมภาษณ์ สอบถาม จากชุมชน เกิดเป็นที่ยอมรับ ตลอดจนตัว “ผู้เปราะบาง” เองต้องสมัครใจที่จะเข้าร่วมกระบวนการช่วยเหลือ เนื่องจากการให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้เปราะบางของโครงการ CEIS นั้น ไม่ใช่การสงเคราะห์ แต่เป็นการพยายามสร้างความยั่งยืน โดยการสร้างอาชีพที่สามารถทำได้จริง บนพื้นฐานความรู้ ความสามารถของกลุ่มผู้เปราะบาง โดยไม่กระทบกระเทือบภาระหน้าที่เดิมที่ต้องรับผิดชอบ และไม่สร้างนิสัยการเป็นผู้รับ แต่เป็นสร้างความรู้สึกการเป็นเจ้าของ ก่อนค่อยๆ สร้างบทบาทให้กลุ่มผู้เปราะบางกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอย่างแท้จริง

ตอนต่อไป D Community จะมาเล่าให้ฟังต่อว่า พี่ๆ โครงการ CEIS มีรูปแบบ วิธีการ กระบวนการ อย่างไรในการทำงานกับกลุ่มผู้เปราะบาง ในพื้นที่ชุมชนจริง

ข้อมูลอ้างอิง

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, สมุดปกขาว อววน. กับการขจัดความยากจนอย่างตรงจุด

(October 2020)

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, การขจัดความยากจนอย่างตรงจุดฟาร์มรู้สู่สังคม, รายงาน: ประเทศไทยกับ ‘การขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่’ (20 February 2018)

Share this post