การแก้ไขปัญหาความยากจน สร้างภูมิคุ้มกัน “กลุ่มผู้เปราะบาง” ในชุมชนท้องถิ่นอย่างตรงจุด (2)

การแก้ไขปัญหาความยากจน สร้างภูมิคุ้มกัน “กลุ่มผู้เปราะบาง” ในชุมชนท้องถิ่นอย่างตรงจุด (2)

ประเด็น เชื่อมโยงหลักปฏิบัติทางศาสนา สู่แนวทางการช่วยเหลือด้านสุขภาพ อาหาร รายได้
พร้อมกับสร้างความผูกพันภายในชุมชน

“ชุมชนบ้านเขาน้อย” หรือ “บ้านเขานุ้ย” หมู่ที่ 3 ต.ย่านซื่อ อ.ควนโดน จ.สตูล เป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีอายุมากว่า 150 ปี ด้วยเพราะชุมชนตั้งอยู่รอบๆ ภูมิเขาลูกเล็กๆ ลูกหนึ่ง ภาษาถิ่นใต้ “นุ้ย” มีความหมายว่า “เล็ก” หรือ “น้อย” ชุมชนจึงถูกเรียกตามชื่อ “เขานุ้ย” จนกระทั่งมีการขึ้นทะเบียนหมู่บ้าน “บ้านเขาน้อย” จึงเป็นที่รู้จักมาจนถึงปัจจุบัน

ชุมชนบ้านเขาน้อยเป็นชุมชนมุสลิม มีมัสยิดดารุลนาอีม เป็นศูนย์กลางทางศาสนา ชาวชุมชนปฏิบัติตามหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด หนึ่งในแนวทางปฏิบัติที่ยึดถือกันอย่างเคร่งครัด แม้ไม่มีกฎหมายระบุไว้ คือ การซะกาต หรือการจ่ายภาษีศาสนาให้แก่ผู้มีสิทธิ์ได้รับ 8 ประเภทตามที่ศาสนาอิสลามกำหนดไว้ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพสักการะแก่พระเจ้า (อัลลอฮฺ) เพื่อเป็นการขัดเกลาจิตใจของผู้มีทรัพย์สินไม่ให้ตระหนี่ถี่เหนียว ตามความหมายของคำว่า “ซะกาต” ที่เป็นภาษาอาหรับ หมายถึง “การขัดเกลาจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์” “การเพิ่มพูน” และ “การเจริญงอกงาม” โดยมุสลิมผู้ที่มีความสามารถในการหารายได้ทำการบริจาค ฟิฏเราะห์ (ในช่วงเดือนรอมฎอน) โดยมอบข้าวสารจำนวน 3 ลิตร (หรือเงินตามมูลค่าข้าวสาร) และบริจาคมาล (บริจาคทรัพย์สิน) ตามอัตราที่ศาสนากำหนดไว้ โดยมีคณะกรรมการผู้พิจารณาซะกาตเป็นผู้คัดเลือกผู้มีสิทธิ์ได้รับซะกาต (8 ประเภท ประกอบด้วย 1. คนยากจน 2. คนอนาถา 3. ผู้ทำหน้าที่จัดการซะกาด 4. ผู้มีหัวใจโน้มสู่อิสลาม 5. ทาสและเชลย 6. ผู้มีหนี้สิน 7. ในหนทางของอัลลอฮฺ 8. ผู้ติดขัดระหว่างเดินทาง) ทั้งนี้ คณะกรรมการผู้พิจารณาจะพิจารณาผู้มีสิทธิ์ได้รับตามความเหมาะสมตามความขัดสนที่ได้รับแตกต่างจากสวัสดิการภาครัฐที่สงเคราะห์ทุกคนเท่าเทียมกัน

ซะกาต จึงนับเป็นกลไกทางศาสนาในการช่วยเหลือดูแลคนในชุมชนที่เป็นเสมือนครอบครัวเดียวกัน ทั้งยังมีบทกำหนดที่ชัดเจน มีคณะกรรมการซึ่งเป็นคนในชุมชน รู้จักผู้คนและบริบทของชุมชนตนเองเป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ พี่ ๆ เจ้าหน้าที่โครงการ CEIS จึงนำข้อมูลจากคณะกรรมการพิจารณาซะกาตของชุมชนบ้านเขาน้อย มาใช้เปรียบเทียบกับข้อมูลของรัฐ ทั้งข้อมูลจาก TPMAP, อบต.ย่านซื่อ, รพสต. ตลดจนข้อมูลจากผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อพิจารณาหากลุ่มเปราะบาง โดยพบว่า ในความเป็นจริงนั้น นอกจากจะมีกลุ่มคนเปราะบางมากกว่าจำนวนตามเกณฑ์ TPMAP (ในข้อมูลพบว่ามีคนเปราะบาง จำนวน 3 ครัวเรือน) ยังมีครัวเรือนเปราะบางบางครัวเรือนที่พบ “ความเปราะบางซ้ำซ้อน” คือ มีความเปราะบางมากกว่าหนึ่งอย่าง เช่น นอกจากเป็นครัวเรือนที่ยากจนแล้ว ยังมีผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือเด็กกำพร้าที่ต้องดูแลอยู่ในครัวเรือนอีกด้วย

พี่ ๆ โครงการ CEIS พบว่า ชุมชนบ้านเขาน้อยมีครัวเรือนเปราะบางจำนวน 37 ครัวเรือน (มี 15 ครัวเรือนอยู่ในกลุ่มผู้ได้รับสิทธิ์ซะกาต) จึงลงพื้นที่สอบถามพูดคุยกับครัวเรือนเปราะบาง เพื่อให้ได้ข้อมูลว่าแต่ละบ้านมีความต้องการอะไร และบ้านไหนที่มีความสามารถเหมาะสมกับโครงการ หรือกิจกรรมที่ดำเนินการอยู่ในชุมชน เพื่อให้เขาได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมให้เกิดรายได้ได้ทันที โดยส่วนหนึ่งมีความสามารถในการจัดการดูแลการทำผลิตภัณฑ์อาหาร ก็สามารถเข้าร่วมกับกิจกรรม “ครัวชุมชน” หรือบ้านที่มีอาชีพเดิมอยู่แล้ว เช่น ทำขนมขายในชุมชน ก็เข้าไปส่งเสริม พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้คุณภาพ หาตลาดเพื่อเพิ่มรายได้ให้สามารถดูแลครัวเรือนของตนเองได้

ในระหว่างที่พี่ ๆ โครงการ CEIS กำลังดำเนินกิจกรรม “ห้องเรียนสุขภาพ” ในชุมชนบ้านเขาน้อยนั้น ก็พบว่า มีครัวเรือนเปราะบางเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว จำนวน 13 คน กิจกรรมห้องเรียนสุขภาพ มุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมตระหนักถึงการดูแลสุขภาพ ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพตนเอง (Empowerment) การดูแลสุขภาพโดยเริ่มจากเปลี่ยนครัวในบ้านให้กลายเป็นโรงพยาบาลดูแลสุขภาพจึงเป็นหัวใจสำคัญ พี่ ๆ โครงการ CEIS จึงชักชวนกลุ่มครัวเรือนเปราะบางให้เริ่มต้นดูแลสุขภาพ สร้างแหล่งอาหารคุณภาพไว้ข้างบ้าน โดยการปลูกผัก พืชสมุนไพรไว้บริโภคเอง และชวน “เพาะเห็ด” โดยนำความรู้ของคณะวิศกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.) มาประยุกต์ใช้ เนื่องจากเป็นโครงการที่ทาง มทร. ทำในพื้นที่ จ.ยะลา มาก่อนแล้วได้ผล ชาวบ้านสามารถทำเองได้ มีขนาดเล็กเหมาะสมกับครัวเรือน สามารถลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ได้จริง

จากแนวทางที่พี่ ๆ โครงการ CEIS ยึดถือที่ว่า “การให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้เปราะบาง ไม่ใช่การสงเคราะห์ แต่เป็นการพยายามสร้างความยั่งยืน” พี่ ๆ CEIS ต้องการให้ผู้เปราะบางมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ จึงได้ซักถามหาข้อตกลงกับครัวเรือนเปราะบางที่สนใจเข้าร่วม “เพาะเห็ด” โดยโครงการ CEIS จะสนับสนุนก้อนเห็ดในระยะแรกจำนวน 50 ก้อน แต่ขณะเดียวกัน ครัวเรือนเปราะบางจะต้องเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายก้อนเห็ดอีก 50 ก้อน เอง เพื่อให้ได้ก้อนเห็ดจำนวน 100 ก้อน ตามความเหมาะสมของขนาดโรงเรือนที่ทาง มทร. คำนวณไว้ ทั้งนี้ ครัวเรือนเปราะบางที่ไม่มีกำลังสามารถผ่อนจ่ายให้กับกองทุนกลุ่มเพาะเห็ดบ้านเขาน้อย (ที่จัดตั้งขึ้นอย่างหลวมๆ ในเบื้องต้น) หลังจากมีรายได้จากการจำหน่ายเห็ดได้แล้ว โดยกองทุนดังกล่าวจะเป็นกองทุนเพื่อใช้หมุนเวียนก้อนเห็ด และอุปกรณ์การเพาะเห็ดแก่คนในชุมชนในอนาคต

ในครั้งแรก เพื่อให้ไม่กระทบกับครัวเรือนเปราะบาง พี่ ๆ CEIS ให้ชาวบ้านเลือกใช้วัสดุที่หาได้ในชุมชน เช่น ไม้ไผ่ เปลือกไม้ มาทำเป็นโรงเรือนขนาดเล็กตั้งข้างบ้าน เพื่อการดูแลได้ง่าย แต่กลับพบว่า วัสดุดังกล่าวไม่มาตรฐาน ขาดความคงทน และไม้บางส่วนที่ไม่สะอาดส่งผลต่อการเจริญเติบโตของก้อนเห็ด ประกอบกับการดูแลให้ความชื้น (โดยการรดน้ำ) ส่งผลต่อชีวิตประจำวันของครัวเรือนเปราะบาง เนื่องจากช่วงที่อากาศแห้ง ชาวบ้านเกิดความกังวลว่าเชื้อเห็ดจะไม่เดิน หรือเชื้อเห็ดจะตาย พี่ ๆ CEIS จึงนำข้อท้าทายดังกล่าวไปปรึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร. และได้รับคำแนะนำให้เปลี่ยนวัสดุที่ใช้ทำโรงเรือนจากเศษไม้ในชุมชนเป็น ท่อ PVC เพื่อป้องกันเชื้อราไม่พึงประสงค์ ทนทาน และเคลื่อนย้ายได้ง่าย รวมถึงการใช้เทคโนโลยีกล่องควบคุมความชื้นที่ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร. ได้พัฒนาไว้ ให้สามารถตรวจวัดความชื้นภายในโรงเพาะเห็ด และสั่งการให้ปั๊มน้ำดูดพ่นน้ำภายในโรงเรือนได้เอง โดยเทคโนโลยีดังกล่าวมีราคาไม่แพงมาก ใช้อุปกรณ์ที่หาได้ทั่วไป (หัวพ่นน้ำ ซื้อได้จากร้านวัสดุการเกษตร, ถังน้ำ หรือโอ่งน้ำ ที่ใช้อยู่ในบ้าน) สามารถติดตั้งได้เอง ทำได้จริง ลดความกังวล ช่วยให้เห็ดมีคุณภาพ

แม้แนวทางการแก้ปัญหาความท้าทายดังกล่าวจะได้ผลดี แต่พี่ ๆ CEIS ก็รู้ดีว่าย่อมเป็นการเพิ่มต้นทุน (รวมวัสดุ และกล่องควบคุม ประมาณ 2,500 บาท) ที่กระทบกับครัวเรือนเปราะบางอย่างแน่นอน จึงได้ปรึกษาผู้นำชุมชนเพื่อหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน ทั้งนี้ โครงการ CEIS (ที่มี กฟผ. เป็นผู้สนับสนุน) จะใช้รูปแบบการให้ยืมโรงเรือนเห็ด โดยโครงการ CEIS จัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อทำโรงเรือน มีกลุ่มผู้นำที่มีความสามารถด้านช่าง เป็นผู้จัดทำโรงเรือน ให้กับครัวเรือนเปราะบางนำไปใช้เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ โดยโรงเรือนที่ทำขึ้นถือเป็นของกองทุนเพาะเห็ดบ้านเขาน้อย หากมีผู้เลิกใช้งานสามารถนำไปให้ครัวเรือนอื่นที่สนใจใช้งานต่อได้

จากการดำเนินการดังกล่าว ส่งผลให้ครัวเรือนเปราะบางมีอาหารกินในครัวเรือน ลดค่าใช้จ่าย บางส่วนนำไปจำหน่ายให้กับคนในชุมชน บางส่วนฝากพ่อค้าแม่ค้าในชุมชนที่ต้องไปซื้อของในตลาดเป็นประจำ นำไปจำหน่ายในตลาดของอำเภอ เหนืออื่นใด บางส่วนนำไปแจกจ่ายให้กับญาติพี่น้อง หรือเพื่อนบ้าน สร้างความผู้พันกับคนในชุมชน เปลี่ยนจากผู้รับเป็นผู้ให้

เมื่อย้อนกลับไปถามพี่ๆ CEIS ว่าการทำงานดังกล่าวหัวใจหลักคืออะไร? คำตอบที่เราได้รับ คือ พี่ๆ CEIS ยึดคำสอนของท่าน ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา หัวหน้าโครงการ CEIS ที่ว่า “หากต้องการช่วยให้เขาหลุดพ้น ต้องทำให้เขาทำสำเร็จ” โดย เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ ไม่ยากเกินไป ให้ชาวบ้านสามารถเรียนรู้ได้ และใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมเป็นส่วนช่วยแก้ปัญหา เลือกใช้นวัตกรรมมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับชาวบ้าน ไม่ใช่ให้ชาวบ้านปรับจนเกินไป หากลองมองการทำงานของพี่ๆ CEIS ในการแก้ไขปัญหาความยากจน สร้างภูมิคุ้มกัน “กลุ่มผู้เปราะบาง” ในชุมชนท้องถิ่นอย่างตรงจุด จะพบว่า มีปัจจัยสำคัญ 5 ประการ ประกอบด้วย

1. ความจริงจัง และต่อเนื่อง – การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนทั้งของโครงการ และชวนกลุ่มเปราะบางให้มองเห็นเป้าหมายของตนเอง

2. การออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสม และตรงกลุ่มเป้าหมาย – ครอบครัวเปราะบางที่มีความสามารถเหมาะสมกับกิจกรรมใด ก็สนับสนุนให้เขาเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว หรือพัฒนาศักยภาพของเขาให้เพิ่มมากขึ้น ในคณะที่ครอบครัวเปราะบางที่มีข้อจำกัด

ก็หากิจกรรมที่เหมาะสม ไม่เกินความสามารถมาก แต่สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างดำเนินกิจกรรม

3. ยึดหลักการพึ่งตนเอง – สร้างอาชีพแก่พวกเขา ไม่ใช่เพียงการสงเคราะห์

4. ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ – นัวตกรรมที่เลือกใช้ไม่จำเป็นต้องเป็นนวัตกรรมล่าสุด แต่ต้องเป็นนวัตกรรมที่เหมาะสม ใช้ได้จริง และไม่รบกวนชุมชน

5. พัฒนาศักยภาพ (Empowerment) ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต – นอกจากการใช้กระบวนการพัฒนาศักยภาพระหว่างทำกิจกรรม จะต้องทำควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ลดรายจ่าย สร้างรายได้ ลดหนี้สิน และเหนืออื่นใด “เปลี่ยนจากผู้รับเป็นผู้ให้” ให้เขาสามารถกลับมามีบทบาท เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนได้อย่างภาคภูมิ

ข้อมูลอ้างอิง

  • สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร, ซะกาตตามหลักการศาสนาอิสลาม (26 March, 2016)

  • มูลนิธิสยามกำมาจล, เรียนรู้ประวัติศาสตร์สู่การพัฒนาชุมชนบ้านเขาน้อย

Share this post