สถานการณ์ภาพรวมโลก และของประเทศไทย กับแนวทางการผลักดัน และแก้ไขปัญหาความยากจน ให้กับ “กลุ่มผู้เปราะบาง” ของโครงการพลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน
สถานการณ์ภาพรวมโลก “ด้านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (SDGs) ในปี 2024 ช่วงไตรมาสแรก
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ที่ผ่านมา สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Department of Economic and Social Affairs: UN DESA ) ร่วมมือกับระบบสถิติของสหประชาชาติ (UN Statistical System: UNStats) เผยแพร่รายงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี 2567 (The Sustainable Development Goals Report 204) พบว่าความก้าวหน้าของเป้าหมาย SDGs ทั่วโลกชะงักลงอย่างน่าตกใจ มีเป้าประสงค์ (target) ของ SDGs แค่ 17% เท่านั้นที่จะบรรลุได้ทันตามเป้าหมายเวลาปี 2030 ซ้ำยังพบช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่ขยายกว้างขึ้น รวมไปถึงปัญหาความยากจนขั้นรุนแรงและความหิวโหยทวีความรุนแรงขึ้นกว่าปีที่ผ่าน
คาดการณ์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) จะบรรลุในปี 2030 เพียง 17% ส่วนประเทศไทย
ร่วงลงมาอยู่ลำดับที่ “45” ของโลกจากปีก่อน
“ประเทศไทย” สถานการณ์ “ด้านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (SDGs) ในประเทศไทยปี 2024 ร่วงลงมาอยู่ที่อันดับ 45 ของโลก จากปีก่อนอยู่ที่ 43 ซึ่งเป้าหมายที่มีสถานะบรรลุเป้าหมายแล้ว และสามารถบรรลุเป้าหมายได้ คือ SDG1 ยุติความยากจน SDG 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
ส่วนเป้าหมายที่มีสถานะท้าทายมาก มีทั้งสิ้น 5 เป้าหมาย คือ SDG2 ขจัดความหิวโหย
SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี SDG14 ทรัพยากรทางทะเล SDG15 ระบบนิเวศบนบกและ SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
จากสถานการณ์ “ด้านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (SDGs) เป้าหมายที่มีความท้าทายมากข้อหนึ่งที่ “โครงการพลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน” หรือ CEIS กำลังพยายามผลักดัน และดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน นั่นคือ การแก้ไขปัญหาความยากจนในท้องถิ่น สร้างภูมิต้านทานให้กับ “กลุ่มผู้เปราะบาง”
แนวทางการผลักดัน และแก้ไขปัญหาความยากจน ให้กับ “กลุ่มผู้เปราะบาง” ของโครงการพลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน
“กลุ่มเปราะบาง” ตามคำนิยามของ CEIS เราไม่ได้มองแค่ความยากจนแค่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่คำว่า “เปราะบาง” เรายังหมายถึง ผู้สูงวัย ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ผู้พิการ กำพร้า หรือแม้กระทั่ง “เปราะบางซ้ำซ้อน”ในบางครัวเรือนอาจจะมีทั้ง “ ผู้พิการ ยากจน และเด็กกำพร้า ” ด้วยก็ได้
ดังนั้นความช่วยเหลือของ CEIS จะมีรูปแบบที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคในพื้นที่ปฏิบัติการ ซึ่งอาจจะไม่ใช่รูปแบบการพัฒนา และสร้างอาชีพ แต่เราบูรณาการ โดยการสร้างความรู้ บนพื้นฐานสามารถ และความเข้าใจของกลุ่มผู้เปราะบาง สร้างคุณค่าให้เขามีตัวตน มีที่ยืนในสังคม และภาคภูมิใจในที่เขาสามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง หรือการเข้าถึงหน่วยงาน เพื่อขอรับการสนับสนุน มีอำนาจการต่อรอง เพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง
เช่น ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สนับสนุน “เลี้ยงไก่ไข่สายพันธุ์ไฮบริด” สนับสนุนการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และอาหารปลอดภัย รวมถึงการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับผู้ที่ต้องการ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน โดยร่วมกับโรงเรียน ผู้นำชุมชน รวมถึงชุมชน และชาวบ้าน ช่วยกันสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่บริเวณพื้นที่ส่วนกลางของโรงเรียน เพื่อให้นักเรียน ชุมชน ได้มีอาหารปลอดภัยไว้กิน
โดยโครงการฯได้ร่วมสนับสนุนในระยะเริ่มต้นคือ “ไก่ไข่สายพันธุ์ไฮบริด” ซึ่งข้อดีคือ
- ชาวบ้านต้องสามารถดูแลง่ายได้ด้วยตัวเอง
- มีอัตรารอดสูง แข็งแรง ทนต่อสภาพแวดล้อม
- สามารถออกไข่สม่ำเสมอ เฉลี่ย 280-300 ฟอง/ปี
- เป็นที่ต้องการของตลาด
ดังนั้นการสนับสนุน และส่งเสริมการเลี้ยงไก่ โครงการฯ เล็งเห็นถึง การสร้างความมั่นคงทางอาหาร และอาหารปลอดภัย รวมถึงการสร้างงาน สร้างอาชีพ” ยึดหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” โดยเริ่มต้นจากการ “สร้างความมั่นคงทางอาหาร” ให้กับกลุ่มคนสร้างอาชีพบ้านห้วยยาง ได้มีไข่กินก่อน จากนั้นจึงเป็นการ “สร้างงาน สร้างอาชีพ” เพราะเมื่อเหลือกินจึงนำไปขาย โดยตลาดที่รับซื้อคือ “โรงเรียน” เมื่อขายได้จึงนำเงินมารวบรวมซื้อหัวอาหารเลี้ยงไก่ต่อไป ส่วนโรงเรียนผู้ให้พื้นที่ส่วนกลาง ก็จะได้พื้นที่สร้างการเรียนรู้ในการเลี้ยงไก่ไข่ให้เด็ก ๆ นอกจากนี้ นักเรียนยังได้แหล่งอาหารปลอดภัย และซื้อขายกันได้ในราคาในยุติธรรม
ปัจจุบัน “กลุ่มผู้เปราะบาง” มีไข่กิน ขายไข่ได้ สะสมเงินเป็นทุนซื้อหัวอาหารได้ต่อเนื่อง และยังทำหัวอาหารเองจากเศษผัก หยวกกล้วย ผสมให้ไก่กิน ลดต้นทุน นอกจากนี้ครัวเรือนเปราะบางะมีแผนจะสะสมทุนจากการขายไข่เรื่อยๆ ออมไว้ซื้อไก่มาเลี้ยงรอบใหม่ เตรียมไว้เมื่อครบอายุไก่ รายได้จากการขายไข่แผงละ 120 บาท ไข่ 2-3 วัน เก็บได้ 1แผง จึงสามารถเฉลี่ยรายได้ 240 ต่อสัปดาห์ และ 960 ต่อเดือน
และในพื้นที่ภาคใต้ ส่งเสริม “การเพาะเห็ดนางฟ้า” ลดรายจ่าย เสริมรายได้ แล้วจึงแบ่งปันสู่ชุมชน โดยโครงการฯได้ร่วมสนับสนุน “เชื้อเห็ด” จำนวน 100 ก้อน ในระยะเริ่มต้นและเชื่อมโยงเครือข่าย ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ในด้านเทคโนโลยี “ตู้เพาะเห็ด” ที่เหมาะสมสำหรับขนาดครัวเรือน ที่ชุมชนดูแลง่าย ไม่ยุ่งยาก ใช้พื้นที่น้อย
ซึ่งจากการเพาะเห็ดนางฟ้าไม่เพียงจะช่วยลดรายจ่ายและมีรายได้ แต่ยังทำให้คนในชุมชนเกิดกระบวนการเรียนรู้และสามารถถ่ายทอดความรู้นั้นไปยังคนในชุมชนด้วยกันเองและชุมชนใกล้เคียง อีกทั้งเกิดความภูมิใจ สบายใจ ตื่นเต้น สนุก ได้เป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับในช่วงระยะเวลาการเพาะเห็ด รวมถึงเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันได้ทั้งครอบครัว สร้างวินัยตนเองและลูกๆในบ้านช่วยกันดูแล โดยใช้เวลาว่างในการดูแล เก็บเห็ด รดน้ำ และดูแลความสะอาด ประมาณ 15-20 นาที และสามารถตอบโจทย์การลดรายจ่ายในครัวเรือน เฉลี่ยสัปดาห์ละ 200-300บาท สร้างรายได้ต่อ Crop ที่ 800 – 3,000 บาท
ข้อมูลอ้างอิง
- https://www.sdgmove.com/2024/08/19/sdg-updates-sustainable-development-report-sdg-index-2024/#:~:text=– SDG Index 2024 ไทยรั้ง,ในสถานะบรรลุเป้าหมายแล้ว
- https://www.sdgmove.com/2024/06/17/sdg-index-2024-thailand/